ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอทวี”เผยอ่านข้อมูลเชิงลึกทางการแพทย์ มั่นใจปลอดภัย พร้อมฉีดวัคซีนแอสตราฯ ทันทีไฟเขียว ชี้การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เกี่ยวกับเชื้อชาติ-ผู้สูงวัย– มีโรคประจำตัว ชี้แอฟริกาเจอมากกว่าเอเชีย 3 เท่า เพื่อความมั่นใจรอผลสอบฯ ยุโรป ขณะที่เผยข้อมูลตามทฤษฎีวัคซีนเชื้อตาย สู้กับเชื้อกลายพันธุ์ได้ดี

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด -19 รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงการชะลอการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาในไทยหลังยุโรปพบผู้มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังรับวัคซีน ว่า ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายวันนี้(12 มี.ค.) ได้รับรายงานว่ามี 2 ประเทศคือ แคนาดา และออสเตรเลีย เดินหน้าฉีดวัคซีนของแอสตราฯ ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีการชะลอการฉีดนั้น ก็ต้องบอกว่าการฉีดวัคซีนทุกชนิดมีโอกาสที่เจออาการข้างเคียงได้ มากน้อยแตกต่างกัน ในกรณีมีอาการข้างเคียงมากต้องมีการสอบสวนหาสาเหตุ ซึ่งกรณียุโรปพบลิ่มเลือดอุดตัน 22 ราย จากการฉีด 3 ล้านโดส คิดเป็น 7.3 ราย ต่อ 1 ล้านโดส เทียบกับอัตราการเกิดโรคลิ่มเลือดในกลุ่มคนฝรั่ง 1,000 รายต่อ 1 ล้านคนต่อปี ถือว่าต่ำมาก แต่ถึงจะต่ำ ก็ไม่ละเลยต้องมีการสอบสวนโรคเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ให้ความมั่นใจกับทุกคน

“ดังนั้น ไทยจึงชะลอการฉีดเพื่อรอผลการสอบสวนของทางฝั่งยุโรป ส่วนตัวเดาว่าเกิดกับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง แต่หากเกิดในคนหนุ่มสาวต้อง มีการรื้อค้นอย่างละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งกรณีที่มีปัญหานั้นเกิดขึ้นที่ยุโรป ส่วนของไทยนำเข้ามาจากเกาหลี ซึ่งเกาหลีก็ฉีดเองด้วย และส่งมาที่เวียดนามด้วย ก็ไม่มีปัญหาอะไร” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางการแพทย์ เรารู้ว่าโรคที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันนั้นสามารถเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง 1. ในผู้สูงอายุขึ้นไป 50 ปีขึ้นไป ยิ่งแก่ ยิ่งเจอได้มากเพราะการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง 2. ขึ้นอยู่กับเผ่าพันธุ์ด้วย เช่นแอฟริกา ฝรั่งมีโอกาสเกิดเยอะกว่าชาวเอเชียประมาณ 3 -5 เท่า 3 โรคนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน เพราะเบาหวานจะทำให้เส้นเลือดมีการเปลี่ยนแปลง เทียบกับท่อระบายน้ำที่ไม่คล่องตัวมีโอกาสที่จะอุดตันได้ นอกจากนี้ยังมีโรคหัวใจ ความดัน โรคมะเร็ง และโรคติดเชื้อต่างๆ หรือแม้กระทั่งหญิงตั้งครรภ์ก็ตามมี โอกาสเกิดลิ่มเลือดได้ง่ายกว่า ดังนั้นทางการแพทย์จึงมีโอกาสเจอโรคนี้ได้ง่ายแต่ก็จะเจอน้อยในแถบเอเชีย

“ขอเรียนให้ทราบว่าส่วนตัวผมเอง คงจะฉีดในวันแรกที่ไฟเขียวขึ้น เพราะว่า 1. ผมมั่นใจมาแล้วจากการเห็นข้อมูลเชิงลึกทั้งหมดที่มีเป็นพันๆ หน้าที่วิจัยในอาสาสมัครกว่า 30,000 คน แล้วยิ่งตอนนี้ฉีดไปแล้ว 34 ล้านโดส ในหลายๆ ประเทศ บางประเทศฉีดต่อ บางประเทศชะลอ ดังนั้นขอเพิ่มความมั่นใจ และขอให้ทุกท่านอย่ากังวล อะไรก็ตามที่สุดท้ายแล้วถ้าไม่ปลอดภัยเราไม่ให้กับประชาชน สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าวัคซีนทุกตัวเวลาฉีดและผลข้างเคียงมีทั้งนั้น มีมากมีน้อยแตกต่างกัน” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

เมื่อถามถึงเชื้อโควิด-19 กลายพันธ์ วัคซีนของแอสตราฯ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันหรือไม่ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า ช่วยได้แต่ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกับเชื้อดั้งเดิม ส่วนวัคซีนของซิโนแวคผลการศึกษาวิจัยยังไม่มาก แต่ถ้าตามทฤษฎีเชื้อที่ตายแล้วจะมีส่วนประกอบของเชื้อทั้งหมด เขาเชื่อว่าวัคซีนเชื้อตายน่าจะต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ได้ดีพอสมควร แต่นี่เป็นเพียงทฤษฎียังต้องการการพิสูจน์ต่อไป ดังนั้นถ้ามองถึงในอนาคต ถ้าโควิดกลายพันธุ์ มีเชื้อใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็จะเป็นเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ ที่มีสายพันธุ์ใหม่ทุกๆ ปี ซึ่งเราจะต้องติดตามต่อไป