ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์โชว์ศักยภาพทางการแพทย์การบริการยุคโควิด19 รักษาผู้ป่วยทารก 5 วันอาการหนัก ติดโควิดร่วมปอดบวม รักษาหายสำเร็จ เป็นเคสอายุน้อยสุดรายแรกในไทย

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงผลการให้บริการรักษาในสังกัดกรมการแพทย์ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ว่า ตั้งแต่มีการระบาดโควิด19 ช่วงระบาดระลอกแรก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และหน่วยงานต่างๆ ต่างร่วมมือกันในการเตรียมพร้อมทั้งการควบคุมการระบาด และการรักษาผู้ป่วยโควิด อย่างเรื่องการรักษาพยาบาล มีการเตรียมเตียงรองรับ จะเห็นได้ว่า เตียงที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ไม่เคยขาด แต่การระบาดระลอกใหม่จะแตกต่าง เพราะไม่ได้เกิดในกรุงเทพฯ แต่เกิดที่จ.สมุทรสาคร โดยเคสส่วนใหญ่เกิดสมุทรสาคร จึงเปลี่ยนกลยุทธ์เล็กน้อย และไปตั้งโรงพยาบาลสนามเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้มีการตกลงกับทางสมุทรสาครตั้งแต่ช่วงการระบาดแรกๆ ว่า หากมีเคสรุนแรงเกินรับให้ส่งต่อมายังรพ.ในกทม. ทั้งเครือข่ายกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และกทม.ช่วยกันรับ ทำให้เตียงผู้ป่วยในสมุทรสาครไม่มีปัญหา

“ เห็นได้ชัดที่ผ่านมาได้มีการรักษากรณีผู้ป่วยโควิด 2 เคส คือ แม่ติดโควิดและท้องแก่ ทางรพ.สมุทรสาครก็เป็นห่วง และมีการผ่าคลอดที่รพ.ราชวิถี โดยผ่าคลอดที่ห้องความดันลบ และเด็กทารกได้ส่งต่อไปยังสถาบันสุขภาพ... หรือรพ.เด็ก สรุปคือ แม่ปลอดภัย และลูกก็ไม่ติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังมีอีกกรณีเป็นเด็กอายุ 5 วันมีปอดบวม อาการไม่ค่อยดี โดยส่งต่อมาจากรพ.สมุทรสาครมาที่ รพ.เด็ก ซึ่งทางรพ.เด็กนำคณะแพทย์มาช่วยดูแลนานประมาณ 14 วัน จนกระทั่งเด็กปลอดภัย พ้นวิกฤตได้ ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้ดูแลแค่คนไทย เราดูแลคนทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย เพราะอย่างกรณีแม่ที่คลอดเด็กปลอดภัย เป็นชาวเมียนมา ยังมีกรณีอื่นๆอีกมากที่เราดูแล ซึ่งไม่ใช่แค่กรมการแพทย์ ยังมีรพ.สังกัดต่างๆ ทั้งโรงเรียนแพทย์ ทางกทม.ช่วยกันดูแล ส่วนหนึ่งที่เราควบคุมโรคได้ คือ เรานำคนไข้ทุกคนเข้า รพ. และรักษาได้ทันท่วงที” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงทิศทางในอนาคตท่ามกลางสถานการณ์โควิด นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการสธ. ท่านให้นโยบายว่า เราต้องวางแผนก่อน 2-3 ก้าว ซึ่งช่วงที่ไม่มีการระบาด หลังมิ.ย.2563 ที่ผ่านมา ทางกรมฯ ได้มีการเตรียมเรื่อง NewNormal มีการจัดห้องความดันลบทั้งหลาย ทั้งER ทั้งทันตกรรม และเมื่อมีการระบาดระลอกใหม่เราไม่หยุดให้บริการ เพราะเราเตรียมการล่วงหน้า นอกเหนือจากนั้นก็มีแผนคงกิจการในช่วงมีการระบาด เพราะพูดตรงๆว่า หากไม่มีโควิด แต่ในอนาคตหรืออีก 10 ปีอาจมีไข้หวัดนก หรือโรคอื่นๆ อย่าง H ใหม่ N ใหม่มาอีกก็ได้ สถานบริการยิ่งต้องเตรียมการมากกว่านี้ จึงต้องมีแผนคงกิจการรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ซึ่งปัจจุบันเรามี NewNormal 13 ด้าน ทั้งห้องผ่าตัด ห้องER ห้องโอพีดี ห้องทำฟัน ห้องคลอด ห้องกายภาพบำบัดฟื้นฟู ฯลฯ เราเตรียมไว้หากมีการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ซึ่งรพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ 31 แห่งพร้อมหมดแล้ว และเราพยายามขยายเรื่องนี้ไปยังโรงพยาบาลในเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต ซึ่งขณะนี้มีโมเดลในการทำนิวโนมอลเรื่องพวกนี้แล้ว

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลเด็ก กล่าวถึงกรณีการดูแลรักษาพยาบาลเด็กทารกติดโควิดหลังคลอด 5 วัน ว่า เด็กมีขนาดตัวเล็กและมีน้ำหนักน้อย โดยการรักษานั้น ทางรพ. ได้เตรียมแพทย์เชี่ยวชาญทารกแรกเกิด ที่มีประสบการณ์ทำหน้าที่ในการรักษา ขณะเดียวกันสถานที่เรามีความพร้อม ทั้งห้องความดันลบ และมีตู้อบพิเศษ อย่างไรก็ตาม เคสนี้ยังพบว่า เด็กมีภาวะปอดบวมร่วมกับการติดเชื้อก่อโรคโควิด จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดความรุนแรงการติดเชื้อในปอด โดยเด็กวิกฤตประมาณ 5 วันจนถึง 1 สัปดาห์ โดยมีไข้สูง เราก็ให้ยารักษาจนไข้ลด ซึ่งเด็กอยู่รพ.ทั้งหมดประมาณ 14 วัน ซึ่งก่อนจะกลับบ้านได้ เราต้องมั่นใจว่าเด็กปลอดภัย และตรวจเชื้อว่า ไม่มีเชื้อแล้ว เพื่อให้เกิดความสบายใจไม่ให้มีการแพร่เชื้อ

ผศ.นพ.ศุภวัชร บุญกษิดิ์เดช กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กฯ กล่าวว่า สำหรับการดูแลรักษาเด็กที่เกิดมา 5 วัน ถือเป็นเคสที่ค่อนข้างอาการหนัก เนื่องจากมีการติดเชื้อก่อโรคโควิดแล้ว ยังมีอาการปอดบวมร่วม ซึ่งเคสนี้ถือว่า เป็นผู้ป่วยโควิดเคสแรกที่อายุน้อยที่สุดของประเทศไทยตั้งแต่มีการระบาดของโควิด19 ขณะที่ต่างประเทศอาจพบเช่นกัน แต่ยังไม่เคยเห็นรายงานเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีทารก 5 วันติดโควิดเป็นไปได้หรือไม่ว่าติดจากแม่ผ่านสายรก ผศ.นพ.ศุภวัชร กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แต่กรณีทารกมีภาวะปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรีย กรณีนี้ไม่น่าจะติดจากแม่สู่ลูก แต่อาจมาจากปัจจัยอื่นๆ แต่โดยภาพรวมแล้วศักยภาพของรพ.สามารถรักษาเด็กทารกน้อยผู้นี้ได้อย่างปลอดภัย โดยรวมแล้วอยู่ในรพ. ตั้งแต่สมุทรสาคร และส่งต่อมายังรพ.เด็กประมาณ 20 วัน จึงกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย