ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เพิ่มความมั่นใจ! บริหารจัดการเตียงสถานพยาบาลทั่วประเทศ ย้ำเตียงเพียงพอ! พื้นที่กทม.-ปริมณฑลมีว่างหลายร้อยเตียง ขณะเดียวกันตั้ง Hospitel นำโรงแรมมาทำโรงพยาบาล รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการอีก 800 เตียง รพ.ธรรมศาสตร์ฯเปิดรพ.สนามอีก พร้อมแก้ปัญหารพ.เอกชนไม่มีเตียง ใช้มาตรการประสานเครือข่ายส่งต่อ กรมการแพทย์เปิดสายด่วน 1668 หาเตียงรองรับผู้ป่วยผลบวก

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงแผนการบริหารจัดการเตียงในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน รองรับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ว่า ในเรื่องการบริหารจัดการเตียงในสถานพยาบาลทั่วประเทศนั้น โดยหลักการแล้ว กรมการแพทย์เป็นเจ้าภาพที่ดูแลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งทำงานเป็นภาคีเครือข่าย เรียกว่า 5 ภาคีเครือข่าย ทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย เช่น รพ.ศิริราช รพ.รามา รพ.จุฬา รพ.ธรรมศาสตร์ รพ.วชิระ โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร เช่น รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุง ฯลฯ โรงพยาบาลเหล่าทัพ และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งทำงานร่วมกันมาตั้งแต่การระบาดในรอบแรก มีการประชุมกันทุกสัปดาห์แม้กระทั่งช่วงที่ไม่มีการระบาด

“ส่วนช่วงนี้ที่มีคำถามว่า เตียงเพียงพอหรือไม่นั้น ต้องให้ข้อมูลว่า ช่วงปลายเดือน ส.ค.2563 ในพื้นที่ กทม. มีประมาณ 2,532 เตียง ซึ่งเป็นเตียงในรพ.เอกชน ราว 1,656 เตียง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65.4 ของเครือข่ายฯ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งการระบาดรอบแรก รพ.เอกชน รับคนไข้ประมาณร้อยละ 40 เรียกว่า 60% ของรพ.เอกชน รับไป 40% ซึ่งหลายคนอาจถามว่าในการระบาดรอบใหม่นี้เตียงขาดแคลนหรือไม่ ซึ่งข้อมูลล่าสุดวันที่ 8 เม.ย. จากโปรแกรม Co-Ward หรือนำข้อมูลหอผู้ป่วยคนไข้มารวมกัน แสดงการบริหารจัดการเตียงในเครือข่ายฯ พบว่า รพ.เอกชน ยังมีเตียงว่าง 293 เตียง(ข้อมูล ณ เวลา 20.00 น. 8 เม.ย.) และข้อมูลล่าสุดช่วงเช้าวันนี้(9เม.ย.) ยืนยันว่า ยังมีเตียงว่างอยู่หลายร้อยเตียง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาเกิดจากบางเครือข่ายของรพ. เอกชนมีเตียงว่าง แต่บางเครือข่ายเตียงค่อนข้างล้นแล้ว ถามว่าเรามีหลักการบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งตั้งแต่มีการระบาดมาปีกว่าๆ ทางรัฐมนตรีว่าการสธ. มีนโยบายระบุว่า ผู้ติดเชื้อทุกรายควรได้รับการรักษาใน รพ. ไม่ใช่รักษาที่บ้าน และมีข้อตกลงว่า รพ.ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ รพ.นั้นๆ ต้องประสานเครือข่ายฯ ให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในรพ. หมายความว่า หากรพ. เอกชน หรือรพ. A ตรวจ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องรับรักษา เพราะหากเตียงไม่ว่าง ก็ประสานให้รพ.อื่นรับรักษาได้ สรุปคือจะมีการประสานภายในเครือข่ายได้ ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วน รพ.ภาครัฐ ก็รองรับผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจพบเชื้อจาก รพ.รัฐแห่งอื่นในเครือข่ายฯ พร้อมรองรับผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุกด้วย เช่น ตลาดบางแค ตรวจสถานบันเทิง ดังนั้น ขณะนี้ต้องขอความร่วมมือจาก รพ.เอกชน ในการปรับเพื่อรับผู้ป่วยข้ามเครือข่ายฯ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ให้ผู้ติดเชื้อทุกคนได้นอนใน รพ. อย่างไรก็ตาม สธ.เองก็จะมีการเตรียมแผนรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้สั่งการว่า ให้ประชุมหารือร่วมใน 5 ภาคีเครือข่ายฯ เพื่อบริหารจัดการเตียงให้เพียงพอ ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้ดำเนินการจัดหาฮอทปิเทล(Hospitel) คือ การเอาโรงแรมมาทำโรงพยาบาล รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย โดยขณะนี้ได้แล้ว 800 เตียงและคาดว่าภายในเย็นวันนี้จะเปิดได้ประมาณ 200 - 300 เตียงก่อนและภายใน 1-2 วันจะบริหารให้ได้ 1,000 เตียง ขณะเดียวกัน รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จะเปิด รพ.สนาม พร้อมเตียงรองรับผู้ป่วยอีก 450 เตียงภายในสัปดาห์นี้

“ในวันนี้เราได้เตียงชั่วคราวเพื่อรองรับผู้ที่ไปตรวจใน รพ.เอกชน แล้วพบว่าติดเชื้อก็สามารถเข้าไปรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี(สบยช.) พร้อมรับ 40 เตียง ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อเพื่อเข้าใช้บริการที่เบอร์ 1668 สายด่วนกรมการแพทย์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว และว่า ทั้งนี้   กรมการแพทย์ เปิดสายด่วน 1668 สำหรับผู้ที่รับการตรวจ โควิดแล้วผลบวก แต่หา รพ เพื่อเข้ารับการรักษาไม่ได้ กรมจะช่วยหาเตียงแอดมิทให้  ส่วนกรณีคำถามคำตอบเกี่ยวกับโควิดโทร 1422