ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สบส.เตรียมเตียงฮอสพิเทลรองรับผู้ป่วยโควิดไม่มีอาการ-อาการน้อย หรืออาการดีขึ้นหลังรักษา ขณะนี้มีทั้งหมด 23 แห่ง 4,900 เตียง ใช้แล้ว 2 พันเตียง เตรียมเพิ่มอีก! 5-7 พันเตียง พร้อมกำชับคลินิก-รพ.ตรวจเชื้อแล้วต้องประสานเตียง อย่าทิ้งผู้ป่วย มิเช่นนั้นมีโทษ

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 เม.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวถึงกรณีการบริหารจัดการฮอสพิเทล (Hospitel) รองรับผู้ป่วยโควิด19 ว่า สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑลในการเตรียมเรื่องเตียงรองรับผู้ป่วยนั้น ได้มีคณะกรรมการประชุมทุกวัน มีการเตรียมเตียงจากรพ.ทุกสังกัดในกทม. ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ของกองทัพ รพ.ตำรวจ รพ.ของมหาวิทยาลัย และเอกชน ได้เตรียมเตียงรองรับทั้งหมอ 6,525 เตียง ปัจจุบันมีการครองเตียง 3,700 กว่าเตียง โดยเตียงส่วนหนึ่งเก็บไว้สำหรับผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างมาก และได้เตรียมการเพื่อลดความแออัดในสถานพยาบาล และให้รพ.ได้ดูแลผู้ป่วยอาการหนัก

ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงมอบหมายให้สบส.ดำเนินการจัดตั้งฮอสพิเทล โดยการนำโรงแรมที่ขณะนี้ไม่มีผู้พักมาใช้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราวในการดูแลผู้ป่วยโควิด19 ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไม่มีอาการ และกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาใน รพ. 3-5 วัน แล้วอาการไม่แย่ลงก็มาอยู่ที่ฮอสพิเทล โดยฮอสพิเทลจะมีมาตรฐานต่างๆ ทั้งโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม ความเป็นมิตรกับชุมชน รวมทั้งการจัดบริการทางการแพทย์ ซึ่งทุกฮอสพิเทลต้องมีแพทย์ 1 คนประจำ มีพยาบาลอัตราส่วน 20 เตียงต่อ 1 พยาบาลพร้อมทั้งเครื่องมือต่างๆ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้ขึ้นทะเบียนฮอสพิเทลในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวน 23 แห่ง จำนวนที่ขอไว้ 4,900 เตียง ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกคู่กับเตียงในรพ. และรพ.สนาม เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด โดยขณะนี้มีผู้ป่วยตามข้อกำหนดเข้าไปในฮอสพิเทล 2,000 เตียง

“จากการพูดคุยคาดว่าจะมีผู้ป่วยใหม่อีกวันละ 4-5 ร้อยคนในอนาคต จึงได้มอบหมายทุกภาคส่วน อย่างฮอสพิเทลจะเตรียมให้ได้ถึง 5-7 พันเตียง โดย สบส. มีระบบอนุมัติออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมฮอสพิเทล ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นเดิมคือ ไม่คิดค่ารักษาใดๆ โดยหากมีประกันสุขภาพก็ให้เบิกตามประกันที่ทำ หากไม่มีก็เบิกจ่ายตามระบบหลักประกันสุขภาพของตนเอง” นพ.ธเรศ กล่าว และว่า นอกจากนี้ ในโอสพิเทลยังมีเครื่องมือที่จำเป็นทางการแพทย์ ทั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด เครื่องเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นก็จะย้ายไปยังโรงพยาบาลพี่เลี้ยงของฮอสพิเทลทุกแห่ง

อธิบดี สบส. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้รับการแจ้งมาว่า มีคลินิกหลายแห่งตรวจผู้ป่วยโควิด เมื่อพบผลเป็นบวกกลับไม่ดูแลผู้ป่วยต่อ ทำให้เกิดภาระของผู้ป่วย ล่าสุด สบส.ได้ออกประกาศให้คลินิก และรพ.ทุกแห่ง โดยเฉพาะคลินิกต้องมีระบบให้คำปรึกษาคนไข้ และคลินิกต้องได้รับการรับรองจาก สบส. ที่สำคัญ คลินิกเหล่านี้เมื่อตรวจพบผลเป็นบวกต้องรีบแจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการประสานหาเตียงให้ผู้ป่วย หากไม่ทำก็จะมีโทษ ซึ่งประกาศนี้เพิ่งออกมาเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาลงโทษรพ.เอกชนประมาณ 2-3 แห่ง ที่ฝ่าฝืน ไม่ยอมดูแลส่งต่อผู้ติดเชื้อ และอยู่ระหว่างการเรียกคลินิกเอกชนหลายแห่งเข้ามาให้ข้อมูล 

เมื่อถามกรณีรพ.เอกชนปฏิเสธไม่รับดูแลผู้ตรวจหาเชื้อที่ผลติดโควิด 19 นพ.ธเรศ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายและเป็นโรคฉุกเฉินตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล และพ.ร.บ.โรคติดต่อ ดังนั้น สถานพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะภาคเอกชนจะต้องให้การดูแลรักษา และดำเนินการให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยเป็นไปตามระเบียบการพยาบาล


นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า กรณีที่พบผู้ป่วยโควิด 19 แล้วไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งพรบ.โรคติดต่อ กำหนดไว้ว่าคนแจ้ง คือ เจ้าของบ้าน เจ้าหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือผู้รับผิดชอบในโรงพยาบา ผู้ทำการชันสูตร และผู้ประกอบกิจการ ต้องแจ้งภายใน 3 ชั่วโมง หากไม่แจ้งใน 3 ชั่วโมง จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนกรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อเช่น สั่งให้อยู่กักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อรอเตียงหรือว่าสั่งให้ไปรับการรักษาเพื่อลดการติดต่อไปที่ผู้อื่น หากฝ่าฝืนจะมีความผิด มีโทษค่อนข้างแรง จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท เพราะเป็นการที่อาจทำให้เกิดอันตรายการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งกรณีปิดบังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคโควิด การให้ความเท็จหรือว่าการไม่ให้ข้อมูลก็มีโทษปรับ จึงอยากขอว่าถ้าเราช่วยกันในการให้ข้อมูลการควบคุมโรคติดต่อก็จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบครัวของเราเพื่อนบ้านของเราจะปลอดภัยมากขึ้น ระบบจะสามารถควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว และไม่ต้องการใช้กลไกทางกฎหมาย

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่มีกระแสว่ามีโรงพยาบาลเอกชนมีการประชาสัมพันธ์ส่งข้อความถึงประชาชน ให้มาลงทะเบียนรับวัคซีนทางเลือกนั้น ต้องขอชี้แจงว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการแนวทางปฏิบัติ และวัคซีน หากมีการไปโฆษณาเชิญชวนก่อนจะเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง บางกรณีถ้าไปเรียกเงินมัดจำจากประชาชนด้วย เหมือนเอาเงินคนอื่นมาใช้โดยที่ยังไม่มีบริการ อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องดูข้อมูลให้ดีๆ ละเอียดด้วยเพราะขณะนี้มีรพ.เอกชนหลายแห่ง ที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐในการฉีดวัคซีนฟรีอยู่ 

ขณะที่นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวสั้นๆ ถึงสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อซึ่งขณะนี้มีการเพิ่มขึ้นหลักพันราย ว่า ยังไม่ถึงขั้นที่เราจะต้องออกคำสั่งให้ผู้ติดเชื้อเฝ้าสังเกตอาการตัวเองอยู่ที่บ้านฯ ตอนนี้สถานพยาบาลของเรายังเพียงพอ ยืนยันว่านโยบายขณะนี้จึงให้ผู้ติดเชื้อทุกรายต้องเข้ามารับการดูแลในสถานพยาบาลที่รัฐจัดให้