ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรค ทำความเข้าใจ “เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด” พร้อมขยายความ Immunization Stress Related Response ปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากการฉีดวัคซีน เกิดขึ้นได้ในคนหมู่มาก พร้อมแนะนำหากคนที่มีความเครียด ควรนำการประเมินสุขภาพจิตมาประกอบการฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงอาการหลังรับวัคซีนโควิด19 ว่า ขณะนี้มีรายงานผู้ที่มีอาการแพ้ คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง แต่เป็นอาการชั่วคราว ที่ จ.ระยอง 6 คนนั้น ทางคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการรับวัคซีน ให้ข้อพิจารณาแล้ว อาการคล้ายหลอดเลือดสมอง และน่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่ทุกรายกลับมาเป็นปกติ ไม่มีรอยโรคปรากฎในเอ็กซเรย์ และจากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ไม่พบความผิดปกติของวัคซีนในห้องปฏิบัติการ ส่วนการจัดเก็บที่เรียกว่าลูกโซ่ความเย็นก็ไม่พบปัญหาเช่นกัน คณะกรรมการฯ จึงแนะนำว่า สามารถฉีดวัคซีนต่อไปได้ เพราะมีประโยชน์ แต่ให้เคร่งครัดในมาตรฐานการฉีดและการเฝ้าระวังหลังการฉีด

อย่างไรก็ตาม ขอทำความเข้าใจอีกครั้ง เกี่ยวกับคำว่า “เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน” (AEFI) เหตุการณ์นี้ไม่ได้แปลว่า แพ้วัคซีน ไม่ได้เกิดจากผลข้างเคียงจากวัคซีน แต่เป็นระบบเฝ้าระวัง ที่ใช้ติดตามหลังมีการใช้วัคซีนทุกชนิด โดยเฉพาะวัคซีนโควิด19 ที่เป็นเรื่องใหม่ จึงต้องมีระบบติดตาม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 อย่าง กรณีเหตุการณ์ไม่รุนแรง เช่น เจ็บบริเวณฉีด บวมเล็กน้อย และกรณีเหตุการณ์รุนแรง เช่น มีอาการทางสมอง ผื่นขึ้นทั้งตัว หมดสติ ชัก ต้องเข้ารพ. โดยเหตุการณ์ที่รุนแรงต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาทุกครั้ง ซึ่งกรรมการทั้งหมดล้วนทำงานเป็นอิสระ ไม่มีใครบังคับ โดยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญวัคซีน ผู้เชี่ยวชาญโรคต่างๆ อย่างโรคทางสมอง ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญทางสมองมาพิจารณาทั้งหมด

ทั้งนี้ คณะกรรมการจะวินิจฉัย 3 อย่าง หลักๆ คือ 1.อาการไม่เกี่ยวข้องกันวัคซีน 2.น่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน และ3.เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ซึ่งในกรณีน่าจะเกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวข้องกับวัคซีนจะพิจารณาแบ่งเป็นให้ฉีดวัคซีนต่อไป เพราะหลักฐานข้อมูลชัดว่า มีประโยชน์มากกว่า แต่หากเหตุการณ์รุนแรงมาก และจะเป็นอันตราย โทษมีมากกว่าฉีดต่อ ก็จะให้หยุดฉีดถาวร และอีกกรณี คือ หากมีเหตุการณ์ที่ไม่แน่ใจ สงสัย ก็จะให้หยุดฉีดชั่วคราวก่อนเพื่อตรวจสอบสาเหตุ เป็นต้น

“ส่วนกรณีวัคซีนโควิดที่จ.ระยอง กรรมการพิจารณาว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด แต่ทุกรายอาการกลับมาปกติ ไม่มีรอยโรคใดๆปรากฏ แต่ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด”

นอกจากนี้ มีคำหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกบัญญัติ คือ Immunization Stress Related Response เป็นปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากการฉีดวัคซีน เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องฝังใจของคน อย่างตอนเด็ก บางคนเมื่อรู้ตัวว่าจะต้องฉีดก็จะมือเท้าเย็น ทั้งที่ยังไม่ฉีด โดยเฉพาะการฉีดในคนหมู่มากก็สามารถเกิดขึ้นได้ จึงบัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมา

ทั้งนี้ ส่วนที่เกิดขึ้นในหลายแสนคน และเกิดอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง 6 คนนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุไม่มาก เป็นกับวัคซีนหลายล็อต หรือหลายรุ่นการผลิต แสดงว่าไม่ได้มาจากกระบวนการผลิตครั้งใดครั้งหนึ่ง เกิดเร็วหลังฉีดวัคซีนบางคน 5 นาทีก็เกิด ไม่ใช่จากเชื้อโรคเพราะต้องมีระยะเวลาฟักตัว มีอาการระบบประสาท อาการหายเอง กลับมาเป็นปกติได้ บางรายได้รับรักษา บางรายไม่ต้อง ที่สำคัญภาคถ่ายเอ็กซเรย์ MRI ไม่พบความผิดปกติทางกายภาพ

“ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี)ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ.เป็นประธาน สรุปให้ฉีดวัคซีนต่อไป แต่ต้องเคร่งครัดการฉีดวัคซีนตามมาตรฐาน ส่วนบางคนสังเกตว่า อาจเกี่ยวกับความเครียด หรือมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ ก็แนะนำให้นำการประเมินสุขภาพจิตมาประกอบในการฉีดวัคซีน” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง