ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แผนการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 กลับไม่ราบรื่นนัก เพราะเกิด “ข่าวลือข่าวลวง (Misinformation)” ในสังคมที่สร้างความตื่นตระหนก การเข้าใจแบบผิดๆ นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค ประเทศไทย (cofact.org) ได้เปิดเผย 5 ข่าวลือข่าวลวงที่เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงหรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังถูกพูดถึงในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่

1.วัคซีนฝังไมโครชิป: เป็นประเด็นที่ถูกลือกันมากที่สุดในสังคมตะวันตก ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดในช่วงแรกๆ โดยเชื่อว่าเป็นแผนการของพวกนายทุนด้านเทคโนโลยีที่ต้องการปูทางไปสู่การฝังไมโครชิปประชากรทั่วโลก เช่น ข่าวจาก BBC รายงานว่าผลการสำรวจของ ยูกอฟ (YouGov) บริษัทรับทำโพลชื่อดังของอังกฤษ ที่สอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันจำนวน 1,640 คน สรุปผลได้ว่า 28%  เชื่อเรื่องแผนการฉีดวัคซีนเพื่อฝังไมโครชิป เป็นต้น

ข่าวลือนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน มี.ค. 2563 เจ้าพ่อไอที บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ ออกมาพูดเปรยๆ ว่าในอนาคตจะมีการออกใบรับรองดิจิทัลสำหรับผู้ที่เคยป่วยจากไวรัสโควิดและได้รับการรักษาจนหายแล้วไปจนถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน

ข่าวลือเรื่องวัคซีนโควิดฝังไมโครชิปกลับมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงปลายปี 2563 เมื่อสหรัฐฯ เตรียมการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยไฟเซอร์ (Pfizer) ทำให้ทางไฟเซอร์ต้องชี้แจงส่วนผสมของวัคซีนซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ชนิด ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ใช้ในวัคซีนหลายๆ ชนิดอยู่แล้ว และไม่มีส่วนผสมที่เกี่ยวข้องกับไมโครชิป เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 กระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลีย ก็ได้ออกมายืนยันว่า ไม่พบการติดตั้งซอฟต์แวร์หรือไมโครชิปในวัคซีนโควิด-19 ในชนิดใดๆ ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ จากการตรวจสอบทางบีบีซี สรปได้ว่า ข่าวลือนี้ไม่เป็นความจริง

2.วัคซีนเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอมนุษย์: ข่าวลือนี้ที่ถูกพูดถึงพร้อมสร้างความเป็นกังวลกันเป็นอย่างมากในสังคมไทยและต่างประเทศ โดยกล่าวถึงพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ในกระบวนการผลิตและการทำงานของวัคซีน จะส่งผลข้างเคียงทำให้ดีเอ็นเอของผู้ที่ได้รับวัคซีนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) จึงออกมาชี้แจงเรื่องนี้ว่า วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีทั้ง 2 ชนิด คือ mRNA เช่น วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา (Moderna) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่นำรหัสพันธุกรรมส่วนเล็กๆ ของไวรัสมาใช้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน กับ Viral Vector เช่น วัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ใช้วิธีฝากสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ไปกับไวรัสชนิดอื่น แต่เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะเกิดการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ด้วย และถึงแม้จะส่งสารพันธุกรรมเข้าไปในร่างกายมนุษย์ แต่สารนั้นจะไม่เข้าไปถึงนิวเคลียสอันเป็นที่เก็บดีเอ็นเอ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อดีเอ็นเอแต่อย่างใด ทางสำนักข่าวบีบีซีและรอยเตอร์ตรวจสอบแล้วพบว่าข่าววัคซีนเปลี่ยนดีเอ็นเอนี้ไม่เป็นความจริง

3.วัคซีนทำให้คนเป็นหมัน: การมีลูกเพื่อสืบทอดถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในหลายๆ ครอบครัว ข่าวลือนี้ได้สร้างความเครียด กังวลใจและมีแนวโน้มว่าในกลุ่ม สามี-ภรรยาหลายคู่จะปฏิเสธการรับวัคซีน เพราะเชื่อว่าวัคซีนวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์

กระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลีย โดยหน่วยงานบริหารสินค้าด้านอายุรเวท (Therapeutic Goods Administration-TGA) ได้ระบุว่า ข่าวลือนี้อ้างถึงโปรตีนซินซิติน-1 (Syncytin-1) ที่ช่วยการพัฒนารก ซึ่งมีอยู่ในหนามแหลมของเชื้อโควิด-19 เหมือนกัน แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือแม้แต่วัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์หรือการพัฒนาของรกแต่อย่างใด

ข่าว "แนะท่านชายนำเชื้ออสุจิไปแช่แข็งก่อนรับวัคซีนโควิด” ได้ตรวจสอบแล้วว่าไม่เป็นความจริงด้วยเช่นกัน โดยศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย บมจ.อสมท ตรวจสอบจากแหล่งข้อมูล #SureVac โดย Newtral.es

4.วัคซีนช่วยเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชาย: สาเหตุที่ประเด็นนี้ถูกพูดถึงเนื่องจากมีการอ้างถึงงานวิจัยชิ้นนึงว่า วัคซีนโควิด-19 จะช่วยเพิ่มขนาดของอวัยวะเพศชายให้ยาวขึ้น ทำให้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เมื่อต้นเดือน ม.ค. 64 ถึงกรณีมีการส่งต่อภาพที่อ้างว่าเป็นข่าวจากสำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา ที่พาดหัวข่าวว่า แพทย์สนับสนุนให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่อวัยวะเพศชาย เพราะจะทำให้วัคซีนกระจายไปทั่วร่างกายเร็วขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นมีการแชร์ไปถึงขนาดว่า ยังจะช่วยเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชายให้ยาวขึ้นได้ถึง 3 นิ้ว โดยทั้ง 2 ข่าวได้กล่าวถึงอ้างงานวิจัย แต่จากการตรวจสอบพบว่าเป็นข่าวปลอมทั้งหมด ตั้งแต่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ทำการศึกษาจากลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,500 คน นั่นไม่มีอยู่จริง หรืออ้างถึงวารสารวิชาการ The New England Journal of Merdecine นั้นก็ไม่มีอยู่จริง โดยวารสารที่มีจริงคือ The New England Journal of Medicine ซึ่งก็ไม่เคยตีพิมพ์บทความทำนองนี้แต่อย่างใด แม้กระทั่งสำนักข่าว CNN ก็ไม่เคยเสนอข่าวตามภาพที่นำมาอ้างกันด้วย เช่นเดียวกับตรวจสอบจากสำนักข่าว AFP และ อีกหลายสำนักสรุปตรงกันข่าวที่อ้าง CNN นี้เป็นข่าวลวง

5. วัคซีนมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ต้องห้ามตามหลักศาสนา: ในบางศาสนานั้นมีข้อห้ามการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของสัตว์บางชนิด เช่น ศาสนาฮินดูห้ามบริโภคเนื้อวัว ศาสนาอิสลามห้ามบริโภคเนื้อหมู ทำให้เมื่อมีการเผยแพร่ข่าวลือผิดๆ ว่าวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ทำจากส่วนประกอบของสัตว์ดังกล่าว ดังนั้นจึงนำไปสู่การปฏิเสธการรับวัคซีนจากบรรดาศาสนิกชน

ที่ประเทศอังกฤษ ช่วงต้นปี 2564 ดร. ฮาร์พรีท สูท (Harpreet Sood) หัวหน้าหน่วยต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ยอมรับว่าทีมงานทำงานกันอย่างหนักและยากลำบากด้วยข้อจำกัดด้านภาษาและวัฒนธรรม จากกรณีพบผู้มีเชื้อสายเอเชียใต้ (ภูมิภาคที่ประกอบด้วยประเทศอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน และมัลดีฟส์) ที่อาศัยอยู่ในอังกฤษมีแนวโน้มปฏิเสธการรับวัคซีนโควิด-19 โดยต้องทำงานร่วมกับผู้นำศาสนา อธิบายให้ศาสนิกชนเหล่านี้มั่นใจว่าวัคซีนโควิด-19 ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม และทาง Newsweek เองก็มีการตรวจสอบแล้วว่าเป็นข่าวลวง โดยเฉพาะในวัคซีนของไฟเซอร์  และในส่วนของประเทศอินโดนีเซียที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ได้เริ่มมีการฉีดวัคซีนกันไปแล้ว

ความสับสนและข่าวปลอมเรื่องวัคซีนที่เกิดขึ้นและแพร่กระจายออกไปในวงกว้างดังกล่าวนี้ สุภิญญา ยอมรับว่าข้อมูลข่าวสารเรื่องวัคซีนไม่นิ่งและอลหม่านมากจึงทำให้คนกลัว ไม่ใช่แค่ในประเทศแต่ทั่วโลก มีทั้งมิติวิทยาศาสตร์และการเมืองปนกัน เรื่องวัคซีนยังเป็นนโยบายสาธารณะด้วย ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งตอบคำถามจากสังคมให้ชัดเจน เช่น ทำไมเราได้รับฉีดวัคซีนช้า มีตัวเลือกอื่นหรือไม่ การบริหารจัดการโปร่งใสหรือเปล่า และ การเข้าถึงวัคซีนเป็นสิทธิ์ทั่วถึงเป็นธรรม รวมถึงการให้ข้อมูลที่สร้างความมั่นใจในความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่น ส่วนประชาชนควรแยกแยะว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความคิดเห็นหรือความเชื่อ จะได้ไม่สับสนและมีความมั่นใจมากขึ้น ถ้าไม่แน่ใจอะไร ส่งมาให้สื่อมวลชน เช่น สำนักข่าว AFP ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สมาคมนักข่าวฯ และ โคแฟคเพื่อช่วยตรวจสอบได้เช่นกัน