ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค.เผยสถานการณ์โควิดวันนี้ (30 เม.ย.) รายใหม่ 1,583 ราย ตัวเลขลดจากที่ผ่านมาพบ 2 พันรายต่อเนื่อง แต่ไว้ใจไม่ได้ เหตุป่วยหนัก-ใส่ท่อช่วยหายใจยังสูง ขณะที่การตรวจเชิงรุกยังจำเป็น หลังชุมชนคลองเตยพบติดเชื้อ

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 30 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศบค. กล่าวว่า จากการประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข และการประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการสรุปถึงตัวเลขผู้ป่วยวันนี้ว่า ลดน้อยลง แม้จะดีใจได้ แต่ยังกังวลใจอยู่ เนื่องจากเมื่อพิจารณาในตัวเลข 1,583 ราย โดยพบว่าตัวเลขกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ที่ 640 ราย ( 30 เม.ย.64) แต่เป็นตัวเลขจริงหรือไม่ เพราะทำไมตัวเลขผู้ป่วยหนักยังมาก ซึ่งยืนยันตัวเลขป่วยเป็นข้อมูลจริง ไม่มีการปิดบัง

“จากข้อมูลกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ เอาตัวเลขมาให้ดูกันว่า สถานการณ์คนที่มีอาการหนัก และใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต เมื่อดูแผนภูมิแนวโน้มขึ้นหมดทั้ง อาการหนัก ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ และผู้เสียชีวิต ตรงนี้เป็นบทเรียนที่พวกเราต้องมาช่วยกันจัดการ อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับการแอดมิทและหาเตียงให้กับคนไข้ ตัวเลขยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยตัวเลขคนไข้หนักวันที่ 28 เม.ย.พบ 786 รายกลุ่มนี้ใส่ท่อช่วยหายใจ 230 ราย ตัวเลขเหล่านี้ยังวิกฤต ดังนั้น ตัวเลขป่วย กทม. แม้ลดลง แต่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ และต้องสร้างความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ขณะที่สถาบันป้องกันโรคเขตเมือง หรือ สปคม. รายงานข้อมูลว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิดรอบเม.ย.2564 จากสถานบันเทิง พบผู้ติดเชื้อกรุงเทพมหานคร 7,755 ราย เป็นคนกรุงเทพมหานคร 6,828 ราย เป็นคนมีภุมิลำเนาต่างจังหวัด 831 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรคอีก 96 ราย ตัวเลขดังกล่าวจึงไม่แปลกที่เมื่อสงกรานต์กลับบ้านไปก็ไปแพร่เชื้อที่ต่างจังหวัด โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ติดเชื้อทุกเขต

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 เม.ย. มีความสำคัญตรงออกไปทำการคัดกรองเชิงรุก โดยลงพื้นที่พบคน 7,203 คนตรวจไป 7,353 ครั้ง พบเสี่ยงสูง 7,330 พบเชื้อ 379 คน หรืออัตราการติดเชื้อในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงพบ 5.17% ซึ่งจริงๆ กทม. มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกตลอด โดยกรุงเทพมหานครมีข้อมูลเมื่อวันที่ 5 -27 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมาได้ตรวจสถานบันเทิง 8 แห่งจำนวน 14 ครั้ง และยังตรวจสถานประกอบการ ประชาชน walk in ตลาด ชุชน รวมประมาณ 2.8 หมื่นคน พบเชื้อ 1,273 คน หรือคิดเป็นอัตราพบเชื้อ 4.54% ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ชุมชนคลองเตย เมื่อตรวจเชื้อพบข้อมูลล่าสุดติดไปแล้ว 67 คน ตัวเลขนี้ถือว่ายังเป็นที่น่าห่วงใยของการประชุม

“ข้อห่วงใยเกี่ยวกับคนใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงมีถึง 5-10% ตัวเลขนี้น่ากังวล ขณะนี้หน่วยงานเกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์แรกรับส่งผู้ป่วยที่อาคารนิมิบุตร จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เราเตรียมรับมือ รวมทั้งการตรวจเชิงรุกต้องทำเร็วและต่อเนื่องอีก” โฆษก ศบค. กล่าว

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 1,583 ราย แบ่งเป็นจากระบบเฝ้าระวัง 1,366 ราย ตรวจพบจากการคัดกรองเชิงรุก 213 ราย และเดินทางจากต่างประเทศ 4 ราย โดยยังรักษาตัว 28,696 ราย อาการหนัก 871 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 250 ราย

(อ่านต่อ : โควิดเสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย มีโรคประจำตัว พบปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อมากสุดจากคนในครอบครัว)