ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีมภูเก็ตวิเคราะห์ผลการฉีดวัคซีนโควิด “ซิโนแวค” หลังประชาชนรับวัคซีนเข็มแรกเกือบแสนราย และครบ 2 โดส 22 % พบกลุ่มที่รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ลดโอกาสติดเชื้อ 83.3% ส่วนกลุ่มที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มขึ้นไป (รวมกลุ่มได้วัคซีนทั้ง 1 เข็มและ2 เข็ม)จะมีประสิทธิผล 73.1% แต่หากคิดเป็นเข็มเดียวมีประสิทธิผล 37% ดังนั้น ประสิทธิภาพดีที่สุดต้อง 2 เข็ม ย้ำรอข้อมูลสมบูรณ์ มิ.ย.นี้ ขอรวมตัวเลขบุคลากรที่รับวัคซีน และกลุ่มวอล์กอินช่วงแรก ขณะที่ สธ.รอพื้นที่อื่นๆประเมิน ทั้งสมุทรสาคร และแม่สอด

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 26 พ.ค. 2564 สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.)ภูเก็ต และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดสัมมนาวิชาการ webinar และเฟซบุ๊กไลฟ์ @psuconnext การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิผลของการใช้วัคซีนในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้หัวข้อ “สนามรบภูเก็ต Sinovac ป้องกันโควิดได้กี่เปอร์เซ็นต์”

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีน 2 ตัวที่มีการฉีดไปแล้ว คือ ซิโนแวค และแอสตราฯ แต่ซิโนแวคมีทั้งหมด 6 ล้านโดส และกระจายไปแล้วตั้งแต่ก.พ.ที่ผ่านมาประมาณ 3.8 ล้านโดส ซึ่งการฉีดวัคซีนก็เพื่อลดการป่วย ลดความรุนแรง ลดการเสียชีวิต และให้สามารถคงระบบการแพทย์และสาธารณสุขได้ รวมไปถึงเพื่อให้เกิดการเดินหน้าเศรษฐกิจ ซึ่งจ.ภูเก็ต เป็นเป้าหมายของวัตถุประสงค์นี้ โดยการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วต้องมีการประเมินผล โดยต้องยอมรับว่า แม้ปัจจุบันจะมีการผลการศึกษารองรับวัคซีนทั้ง 2 ตัว แต่เราก็ต้องมีคณะกรรมการติดตามเรื่องนี้ ซึ่งมีการเจาะเลือดศึกษาภูมิต้านทานว่า หลังฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร โดยจุฬาฯ ได้มีการดำเนินการเรื่องนี้ ขณะที่ศิริราชก็เช่นกัน โดยจะเป็นการศึกษากลุ่มบุลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งผลยังไม่เห็น นอกจากนี้ รามาฯ มีการฉีดในกลุ่มคนป่วยโรคไตเรื้อรัง ก็จะมีการติดตามประเมินผล รวมไปถึงการติดตามในระดับพื้นที่ เช่น จ.ภูเก็ต จ.สมุทรสาคร รวมถึง อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งระบุว่า เมื่อฉีดวัคซีนไม่ค่อยพบคนป่วย แต่ที่พบจะมาจากจังหวัดอื่นๆ เป็นต้น

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้วางแนวทางให้จังหวัดต่างๆ มีการติดตามประเมินผลด้วย ทั้งนี้ การติดตามข้อมูลจะมี 3 ข้อ คือ 1. ประเมินประสิทธิผลของวัคซีน อย่างซิโนแวค ในไทยเป็นอย่างไร ลดป่วยลดตายแค่ไหน 2.ระบบสาธารณสุข อย่างบุคลากรทางการแพทย์หากกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงแต่ได้รับวัคซีนครบ จะทำงานต่อได้หรือไม่ และจะปลอดภัยหรือไม่ จำเป็นต้องกักตัวหรือไม่ และ3.กรณีการเดินหน้าเศรษฐกิจ อย่างภูเก็ต เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วจะเดินหน้าทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ ดังนั้น ต้องมีโมเดลในการประเมินผลเรื่องนี้ ว่า มีบทเรียน ได้ประสบการณ์อย่างไร ซึ่งจ.ภูเก็ต มีแผนการฉีดชัดเจน กำหนดเป้าหมาย วัคซีนที่ชัดเจน และสามารถบริหารจัดการการฉีดวัคซีนได้ดีมาก โดยมี 5-6 จุดนอกรพ. ฉีดได้บางจุดสูงถึง 1 หมื่นคนขึ้นไป และมีข้อมูลติดตามประเมินผล ที่อื่นๆข้อมูลยังไม่ชัดเท่าภูเก็ต จึงถือเป็นจังหวัดที่มีความคาดหวังในเรื่องนี้ และจะเป็นบทเรียนเพื่อนำไปกำหนดนโยบายต่อไป

“จากประสิทธิผลครั้งนี้ของภูเก็ต ถือเป็นทางเลือกให้คนมาฉีดวัคซีนให้มั่นใจซิโนแวค และเป็นทางเลือกให้พี่น้องประชาชนได้เลือกได้” นพ.โสภณ กล่าว และว่า จริงๆ ขณะนี้กำลังรอผลการประเมินจากที่อื่นๆ ที่ได้รับวัคซีนไปด้วย ทั้งจ.สมุทรสาคร รวมถึงอ.แม่สอด จ.ตาก

ผศ.ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ นักวิเคราะห์ข้อมูล ม.อ.ภูเก็ต กล่าวว่า ตนในฐานะคณะทำงานทีมภูเก็ต ร่วมกับรพ.วชิระภูเก็ต สสจ.ภูเก็ต และม.อ.ภูเก็ต ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิผลของการใช้วัคซีนในภูเก็ตในช่วงเดือน เม.ย. – 10 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา และวิเคราะห์ตามคำแนะนำนพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ศาสตราจารย์สาขาวิชาระบาดวิทยา ม.อ. โดยฉีดครั้งแรก(เข็มที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 -10 เม.ย.2564 จำนวน 97,423 คน จากประชากรตามเป้าที่ต้องได้รับวัคซีน 466,587 คน ซึ่งรวมประชากรแฝง หลังจากนั้นได้ฉีดเข็มที่ 2 ประมาณวันที่ 21-30 เม.ย. จำนวน 90,781 คน หรือคิดเป็น 22%

ทั้งนี้ มีความตั้งใจรวบรวมการวิเคราะห์ข้อมูล 2-3 เดือนหลังฉีดวัคซีนเข็มแรก แต่เพื่อประโยชน์ต่อข้อมูลวิชาการจึงได้ตัดข้อมูลออกมาก่อน ซึ่งผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคต่อโอกาสการติดเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ครบระยะเวลากักตัว 14 วัน ในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 1,366 ราย โดยอายุ 18-59 ปี จำนวน 1,097 ราย พบติดเชื้อ 85 ราย ไม่ติดเชื้อจนครบระยะกักตัว 1,012 ราย โดยในกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อพบว่าไม่มีประวัติรับวัคซีน 652 ราย ฉีดวัคซีน 1 โดส 84 ราย และฉีดวัคซีนครบ 2 โดส 276 ราย ส่วนกลุ่มติดเชื้อ 85 รายพบไม่มีประวัติรับวัคซีน 74 ราย ฉีดวัคซีน 1 โดส 6 ราย และฉีดวัคซีนครบ 2 โดส 5 ราย

“เมื่อจัดเรียงข้อมูลแล้วก็นำมาวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า กลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคอย่างน้อย 1 หรือ 2 เข็ม จะมีประสิทธิผลในการลดโอกาสการติดเชื้อร้อยละ 73.1 แต่ถ้ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มหรือครบโดส ลดโอกาสการติดเชื้อร้อยละ 83.3 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของวัคซีนครบ 2 เข็มนั้นจะต้องรอยืนยันผลการศึกษาอีกครั้งจากการศึกษาในรอบเดือนมิ.ย. เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเกิน 14 วัน เพื่อความสมบูรณ์จะมีข้อมูลตรงนี้ออกมา ส่วนข้อมูลผู้ที่ได้รับวัคซีนช่วงเดือน มี.ค. นั้น ขณะนี้กำลังติดตาม ซึ่งมีอีกประมาณ 2,000 ราย รวมทั้งข้อมูลจากผู้รับวัคซีนแบบวอล์กอินในช่วงแรกด้วย” ผศ.ดร.ชยานนท์ กล่าว

นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ศาสตราจารย์สาขาวิชาระบาดวิทยา ม.อ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการหาประสิทธิผลในการป้องกันโรค ที่เรียกว่า Protective Efficacy ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณหาประสิทธิผลของวัคซีน โดยได้แนะนำให้กระทรวงสาธารณสุขใช้วิธีนี้ในการนำไปศึกษา อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาต้องได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และสายพันธุ์ที่พบขณะนั้นคือ สายพันธุ์อังกฤษ

ด้าน นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการ รพ.วชิระภูเก็ต เราวางแผนเปิดเมือง 1 ก.ค. ภูเก็ตเชนบล็อก ซึ่งเราได้รับวัคซีนล็อตใหญ่เกือบ 1 แสนโดส ในวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งพอดีกับการระบาดใหญ่ ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงสงกรานต์ โดยเราสังเกตบริบทของภูเก็ตไม่ได้แตกต่างจากกทม. มีชุมชนหนาแน่น ส่วนใหญ่การระบาดรอบแรก จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ติดเชื้อรองจากกรุงเทพฯ แต่ขณะนี้การระบาดลดลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นข้อสังเกตว่า อาจเกี่ยวข้องกับการที่เราฉีดวัคซีนคู่ขนานหรือไม่

พญ.ศุภลักษณ์ ละอองเพชร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.วชิระภูเก็ต กล่าวว่า ได้เริ่มฉีดวัคซีนกลุ่มแรกเดือน มี.ค. จำนวน 2 พันราย ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชน จากนั้นล็อตใหญ่อีกช่วงเดือนเม.ย. กว่า 9 หมื่นคน และครบ 2 เข็มหลายเดือนเม.ย.อีก สำหรับข้อมูล ณ วันนี้ ตามกลุ่มเป้าหมายร้อยละ 44 ได้รับวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม และร้อยละ 22 ได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม หลังการฉีดวัคซีนโควิดซิโนแวค ซึ่งฉีดวัคซีนไปแล้วราว 1 แสนราย โดยผลข้างเคียงพบเข้าข่าย Immunization Stress Related Response หรือ ISRR จำนวน 2 ราย

นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขอชื่นชมสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และทีมงานที่ถือวิกฤตเป็นโอกาส โดยวิกฤตเป็นการระบาดเกิดขึ้น แต่โอกาส ภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องในการฉีดวัคซีนจำนวนมากในต้นเดือนเม.ย. เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญประสิทธิผลที่ดีคือ ต้องได้วัคซีน 2 เข็ม

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ. เผยผลการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค จ.ภูเก็ต ลดโอกาสการติดเชื้อได้ถึง 83.3%)

ทั้งนี้ ในช่วงถามตอบคำถามจากทางบ้านผ่านออนไลน์ นพ.วีระศักดิ์ ได้รวบรวมคำถาม และระบุว่าส่วนใหญ่ต้องการทราบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มขึ้นไป ซึ่งรวมคนที่ได้วัคซีนทั้ง 1 เข็มและ2 เข็ม ทำให้มีประสิทธิผลลดติดเชื้อ 73.1% ข้อมูลนี้อาจไม่ชัดเจน จึงต้องการทราบว่า หากฉีดเพียงเข็มเดียวจะป้องกันเท่าไหร่ เพราะจะมีผลต่อนโยบายหากมีวัคซีนจำกัด และต้องการทราบผลการป้องกันหากฉีดเพียง 1 เข็ม 

ผศ.ดร.ชยานนท์ ตอบคำถามว่า ทางคณะมีความตั้งใจในรอบเดือน มิ.ย. จะมีการแยกให้ชัดเจนว่า ฉีดเข็มเดียวเกิน 14 ว่า ประสิทธิผลเป็นอย่างไร และฉีด 2 เข็มเกิน 14 วันประสิทธิผลเป็นอย่างไร ที่เอามารวมกันก่อนเพราะขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดอยู่

ด้าน นพ.สุวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า หากฉีด 1 เข็มโดยไม่นับจำนวนวัน หลังฉีดเข็มที่ 1 อยู่ที่ 37% แต่วัคซีนจะได้ประสิทธิผลเต็มที่ต้อง 2 เข็ม และต้อง 14 วันหลังเข็มที่ 2 สรุปคือ เราต้องการให้คนได้วัคซีนโควิด 2 เข็ม และเมื่อพ้น 14 วันหลังเข็มที่ 2 จะป้องกันเชื้อได้สูง อย่างไรก็ตาม กรณีภูเก็ตเป็นตัวอย่างของพื้นที่ที่มีการลงวัคซีนเยอะ แต่ก็ต้องมีมาตรการอื่นๆควบคู่ด้วย 

 

ทั้งนี้ รับชมรายละเอียดผลการวัดประสิทธิผลของวัคซีนโควิดในภูเก็ต ได้ในไลฟ์เสวนาด้านล่าง