ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. กรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเวทีพูดคุยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ "ถ้าไม่ให้ซื้อวัคซีน แล้วจะมี อบจ.ไว้ทำไม" โดยมี รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ กรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก แสดงความคิดเห็น กรณีการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่

รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า เริ่มรู้สึกถึงสถานการณ์วันนี้การขับเคลื่อนไม่เป็นเอกภาพ รัฐบาลกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปคนละทาง โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)มีศักยภาพที่จะทำเรื่องเหล่านี้ได้ ทำให้เกิดคำถามว่าเพราะอะไรการแจกจ่ายวัคซีนไปทั่วประเทศยังคงไม่ทั่วถึงและเหมือนจะมีปัญหาติดขัดทุกขั้นตอน อปท.ก็เริ่มเรียกร้องว่าจะสามารถเข้ามาช่วยอะไรได้บ้างเพื่อให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด อปท.อยากช่วยในการจัดหาวัคซีน แต่รัฐบาลก็สับขาหลอก คนนี้พูดอย่าง คนนั้นพูดอย่าง ทีท่าไม่ไปด้วยกัน บางคนบอกว่าในเชิงนโยบายทำได้ บางคนบอกติดกฎหมาย ต้องไปปลดล็อค ต้องตีความ บ้านเรามีกฎหมายหลายฉบับที่ย้อนแย้งมาก แล้วทำเหมือนบริหารสถานการณ์วิกฤตให้เป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่เราควรจะมองเป้าหมายร่วมกันว่าทำอย่างไรให้ถึงร่วมกันเร็วที่สุด

“แต่ทุกฝ่ายทำเป็นเรื่องปกติ ต้องมานั่งตีความ ว่ากฎหมายมีอะไรบ้าง เทศบาลทำอะไรได้บ้าง หลักๆ คือป้องกันและระงับโรคติดต่อ โดยสรุปตำบล เทศบาล พัทยา อปท. ทำเรื่องสาธารณสุข มองในตัวกฎหมายท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ชัดเจน แต่บ้านเรามีกฎหมายกลางที่เป็นเชิงบริหาร ก็มีกฎหมายเฉพาะทางขึ้นมา เช่น พรบ.โรคติดต่อ ก็เป็นอะไรที่ดูย้อนแย้ง ถ้ามีการประกาศว่าอะไรเป็นโรคระบาดร้ายแรงก็พูดไม่ชัดว่าท้องถิ่นเข้าไปทำหน้าที่นี้ได้ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งท้องถิ่นสามารถเข้าไปจัดหาวัคซีนได้ แต่โควิดที่ระบาดมานานกว่า 1 ปีแล้วยังไม่ประกาศว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ขณะนี้ท้องถิ่นกำลังเรียกร้องให้ปลดล็อค แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลตรงนี้ยังไม่ขยับ คือไม่ได้มีระเบียบห้ามแต่ไม่มีรองรับอ้างอิงจาก พรบ.โรคติดต่อ" รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว

หลักการสำคัญซึ่งมีการยกอ้างกรณีที่อปท.จะจัดหาวัคซีนเอง คือกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นว่า เงินอุดหนุนของแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน การให้ อบจ.เข้าไปจัดการซื้อวัคซีนจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า จุดยืนของท้องถิ่นวันนี้ชัดเจนมาก ซี่งไม่ได้มาแย่งงานรัฐบาลและ ศบค. สิ่งที่รัฐบาลพยายามจัดการกับเรื่องวัคซีนมันมีความไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก และล่าช้ามากในการจัดหาวัคซีน ประเด็นต่อมาคือวัคซีนได้มาน้อยแล้วการจัดสรรจะทั่วถึงเป็นธรรมหรือไม่ สอดคล้องกับกลุ่มเสี่ยงหรือไม่อย่างไร วันนี้การกระจายวัคซีนทำถึงขนาดไหนแล้วก็ยังไม่รู้ แม้จะมีวัคซีนแอสตร้าเซเนก้ามาแล้วแต่หลักเกณฑ์การจัดสรรเป็นอย่างไร

"คนทั่วไปมองเห็นว่าการจัดการของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาตอบโจทย์ได้ไม่เร็วพอ เพราะฉะนั้นโรดแมปที่บอกว่าจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเป็นปกติยังไกลความเป็นจริงมาก ทำให้ อปท. ซึ่งอยู่ในท้องถิ่นเห็นผลกระทบ จึงขอมีบทบาทในเรื่องนี้ได้หรือไม่ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ท้องถิ่นคิดว่าพร้อมอยากมาทำงานเสริมกลไกต่างๆ ให้ดีขึ้น วันนี้รัฐบาลเองก็ตอบไม่ได้ว่าการการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ใช้หลักเหตุผลอะไร ที่เป็นอยู่คือเหลื่อมล้ำหรือไม่ คนบางกลุ่มได้วัคซีนบางตัว บางส่วนได้ก่อน แทนที่จะมองว่า อบจ.จะไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ผมมองว่าจะไปลดความเหลื่อมล้ำจากสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว

รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว อีกว่า หน่วยงานอาจมองเรื่องการจัดหาวัคซีนเป็นเรื่องสิทธิขาดของรัฐบาล โดยใช้ความยุ่งยากของกลไกราชการเพื่อไม่ให้ อปท. เข้ามามีส่วนร่วม โดยลึกๆ แล้วนโยบายคือไม่อยากให้คนอื่นมาทำ เพราะ ศบค. และรัฐบาลจะจัดการเองหรือไม่ นี่เป็นข้อสังเกต รัฐบาลอาจจะยังไม่มีความตั้งใจหรือนโยบายที่จะให้ท้องถิ่นมาเป็นภาคี นี่อาจเป็นการบอกอย่างอ้อมๆ ของรัฐบาลหรือไม่ ด้วยการทำให้ทุกอย่างดูสับสน

ด้านนายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้ความเห็นว่า วันนี้แม้ อปท. จะมีหน้าที่ในการบริหารท้องถิ่น แต่การปฏิบัติต้องมีระเบียบรองรับ การใช้จ่ายเงินของท้องถิ่นไม่ได้กระจายอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จให้อปท.ต้องมีการออกระเบียบปฏิบัติ เช่น ปีที่ผ่านมามีคำสั่งให้ อปท.จัดซื้อจัดหาคุรุภัณฑ์ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ หน้ากากอนามัย หรือชุดปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ได้ เป็นแนวทางที่ต้องมีระเบียบมารองรับ ต้องมีการประกาศว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ตาม พรบ.ปี 2558 โดยมีศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แห่งชาติเป็นผู้แก้ไขปัญหา และมี ศบค.แต่ละจังหวัด ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานมาดำเนินการในการจัดซื้อวัคซีน ซึ่งอบจ.มี พรบ.รับรองอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีระเบียบปฏิบัติเท่านั้นเอง

นายกอบจ.พิษณุโลกกล่าวว่า ปัญหาการจัดซื้อวัคซีนที่ผ่านมาอยู่ในอำนาจของ ศบค. ซึ่งผ่านกระทรวงมหาดไทยอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ อปท. จัดการโควิด แต่การจัดซื้อวัคซีนอยู่ที่ ศบค. เท่านั้น ส่วน อบจ.ที่ต้องการเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา อบจ.ไม่ได้มาเพื่อแย่งการทำงานเรามาร่วมกันทำงาน รัฐบาลก็มีหน้าที่ ท้องถิ่นก็มีหน้าที่ช่วยกันทำงาน แล้วแบ่งงานกันทำให้ ศบค.เป็นศูนย์กลางสั่งงานเพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน

"คำถามที่ว่า อบจ.จะไปเจรจาซื้อวัคซีนผ่านบริษัทต่างๆ หรือ ซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม หน่วยงานของรัฐที่ได้รับอำนาจนำวัคซีนเข้ามา ต้องตอบว่าขณะนี้มีวัคซีนที่ซื้อโดยเอกชนหรือไม่ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นก็ต้องผ่านรัฐ แต่ละยี่ห้อราคาก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่ร้อยกว่าบาทไปจนถึงพันบาท ก็ต้องซื้อวัคซีนที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่ยอมรับของสากล การจะติดต่อซื้อวัคซีนจากภาคเอกชนคงมีโอกาสน้อยมาก”นายก อบจ.พิษณุโลกกล่าว

นายมนต์ชัยกล่าวอีกว่า ประเด็นที่กระทรวงมหาดไทยกล่าวว่าถ้าให้ อบจ.จัดการวัคซีน จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ กรณีได้งบประมาณแต่ละจังหวัดมากน้อยไม่เท่ากัน จังหวัดที่มีเงินน้อยก็จัดซื้อไปตามงบ แล้วรัฐบาลไปสนับสนุนเพื่อเติมให้เต็ม สิ่งเหล่านี้ถ้าเราทำงานร่วมกัน อยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนได้ประโยชน์ ไม่ใช่มาบอกว่า อบจ.จะมาแย่งงานทำ ในแต่ละจังหวัดก็เป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ ความเข้าใจในความต้องการของประชาชน ท้องถิ่นรู้ดี อยากให้รัฐบาลหันหน้ามาคุยกัน วันนี้การประชุม ศบค.จังหวัด ยังไม่ถูกทางเลย จ.พิษณุโลก เดือนนี้ได้รับวัคซีน 5,700 โดส ประชากรมี 8.5 แสนคน ตั้งเป้าไว้ประมาณ 1 ล้านคน เมื่อรวมประชากรแฝง แล้วเมื่อไหร่จะครบ อบจ.พร้อมที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหา ให้สังคมกลับมาปกติ" นายก อบจ.พิษณุโลก กล่าว