ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค. เผย 2 มาตรการเข้มรับเปิดเทอมช่วงโควิด19 เพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยแก่สถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง นักเรียน พร้อมเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครูโดยเร็วและครบถ้วน ขณะที่กลุ่มเปราะบาง เด็กพิเศษ รวมทั้งกลุ่มจิตเวชต้องรับวัคซีนเช่นกัน

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 15 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการทบทวนกรณีโรงเรียนเปิดเรียนในวันแรกเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งรายงานวันแรกผ่านไปด้วยดี แต่ยังต้องเฝ้าระวัง โดยผู้ปกครอง คุณครู สถานศึกษาให้ความร่วมมือกับมาตรการที่ ศบค.ได้รายงานไปก่อนหน้านี้ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข และนำเสนอมาตรการแบ่งพื้นที่ทั้งประเทศเป็นสีๆ เพื่อให้เห็นภาพการจัดเรียนการสอนแบบผสมผสาน มีทั้งออนไซต์ ออนแอร์ ในแต่ละพื้นที่ อย่างกระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า 4 จังหวัดสีแดงเลือดหมู ไม่อนุญาตให้มีการเรียนการสอนแบบออนไซต์ แต่ให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันไป อย่างกทม. มีการเรียนผ่านแอปพลิเคชัน เป็นต้น

ส่วนพื้นที่สีส้ม 17 จังหวัดที่ควบคุมสูงสุด ให้จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานได้ โดยจังหวัดทำเรื่องขอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน เพื่อขอเปิดการเรียนการสอนออนไซต์ หรือใช้สถานศึกษาเปิดที่เรียน อย่างไรก็ตาม อันนี้เป็นประกาศใหญ่ ซึ่ง ศธ. เรียนเสนอ แต่ว่า แต่ละพื้นที่สามารถปรับได้ตามบริบท ยกตัวอย่าง จ.ยะลา เป็นพื้นที่จัดการศึกษาแบบออนไซต์ได้ แต่ผู้ว่าฯ ยังมีความเป็นห่วง ก็ยังไม่อนุญาต เป็นต้น

“โดยสรุป เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจ ทาง ศธ. มีกระบวนการสำคัญ 2 อย่าง คือ 1.ขอให้ทางสถานศึกษาทุกแห่งมีการประเมินใน Thai Stop Covid Plus ซึ่งเป็นชุดคำถามจัดโดยกรมอนามัย โดยก่อนจะเปิดพบว่า โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. 29,000 แห่ง และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือสช. อีกกว่า 5 พันแห่ง พบว่า 99.1% ของสถานศึกษาเหล่านี้ผ่านการประเมินของ Thai Stop Covid Plus แล้ว เหลืออีกเกือบ 1% ในส่วนของสังกัด อว. หรือมหาวิทยาลัยยังไม่ได้เปิดการเรียนการสอน จึงยังไม่มีการประเมิน ส่วนโรงเรียนสังกัดกทม. 437 โรงเรียน ก็ต้องทำแบบประเมินเช่นกัน เมื่อโรงเรียนเข้าใจมาตรการควบคุมโรคก็จะเป็นการยืนยันให้เกิดความมั่นใจได้” พญ.อภิสมัย กล่าว

นอกจากนี้ อีก 1 มาตรการคือ กระทรวงศึกษาฯ และกรมควบคุมโรคขอเน้นย้ำให้ครู ผู้ปกครองประเมินตนเองผ่าน Thai Safe Thai เพื่อให้เกิดมาตรฐานทั้งสถานศึกษา และตัวผู้ปกครอง นักเรียน เป็นการประเมินรายวันก่อนมาโรงเรียน คล้ายๆ พาสปอร์ต สุดท้ายกระทรวงฯเองก็มีการซักซ้อมแผนว่า เมื่อมีมาตรการแล้ว แต่หากเกิดติดเชื้อก็มีแนวทางให้โรงเรียน ผู้ปกครองได้ปฏิบัติ แต่การปิดโรงเรียนอาจไม่ตอบโจทย์ เช่น หากพบผู้ติดเชื้อ 1-2 รายใน 1 ห้องเรียน จึงต้องขอให้ทั้งสถานศึกษา ผู้ปกครองศึกษามาตรการเหล่านี้ด้วย

ส่วนกรณีเด็กพิเศษ ผู้พิการและโรงเรียนประจำ กลุ่มนี้มีการจัดการแตกต่าง ขณะนี้ยังเปิดเรียนไม่ได้ เพราะด้วยความต้องเข้าไปโรงเรียนประจำกินนอน ต้องมีมาตรการเพิ่ม ซึ่งกลุ่มนี้ต้องมีการตรวจแรบบิทเทสต์เพื่อยืนยันว่าไม่เป็นผู้ติดเชื้อก่อนเข้าไปศึกษาในโรงเรียน ทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนให้ผู้พิการหรือกลุ่มเด็กพิเศษได้มีการพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนให้ครูที่ดูแลกลุ่มนี้ โดย ทางกทม. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะพยายามฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีทั้งผู้พิการทั้งหมด รวมกลุ่มเด็กพิเศษ ออทิสติกทั้งหมด ได้หารือแนวทางการช่วยเหลือ เพราะหากคนกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนได้เร็วก็ลดความเสี่ยงผู้ดูแลติดเชื้อด้วย โดยล่าสุดกรมสุขภาพจิต สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ เรียนย้ำว่า ผู้ป่วยจิตเวชต่างๆ จะมีความยากลำบากการเข้าถึงวัคซีน หากไม่ได้รับวัคซีนก็เสี่ยงติดเชื้อได้ ก็ขอความร่วมมือชุมชน สถานพยาบาลที่ดูแลช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ป่วยได้เข้ารับวัคซีนด้วย และหากมีคนกลุ่มไหนตกหล่น ขอให้สังคม สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงและจะได้ช่วยเหลือกัน