ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ยื่นมือช่วย กทม. ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ปรับมาตรการฉีดวัคซีนลดการปูพรม เน้น “ผู้สูงอายุ-โรคเรื้อรัง” ไม่น้อยกว่า 80% ของเดือน ก.ค. ขณะเดียวกันศึกษาแนวทางกระตุ้นเข็ม 3 บุคลากรทางการแพทย์ คาดเสร็จ 2-3 สัปดาห์ ด้าน คร. จัด Fask Track ผู้สูงอายุ ผู้เปราะบางเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรง ได้รับการตรวจก่อน พร้อมฉีดวัคซีนกลุ่มสูงวัยและเปราะบาง กทม. 1.8 ล้านคน ระดมฉีดอย่างน้อย 70% ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนปริมณฑลฉีดให้ได้ในเดือนนี้ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ภายในส.ค.64

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 5 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของโรค อย่างไรก็ตาม การระบาดยังอยู่ในกรุงเทพมหานคร(กทม.) และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัด ก็เป็นผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการระบาดขึ้น แม้จะมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแต่จังหวัดต่างๆ สามารถดูแลได้เป็นอย่างดีและสามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีอำนาจโดยตรงในการดูแลในพื้นที่ กทม. แต่ด้วยความเป็นเมืองใหญ่ มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก สธ. จึงเข้ามาช่วยเหลือดูแล กทม. ตั้งแต่การควบคุมโรค การบริหารจัดการเตียง และให้นโยบายวัคซีน เพื่อการควบคุมโรคให้เร็วที่สุด และช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยให้เร็วที่สุด

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากการติดเชื้อค่อนข้างมากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้เสนอมาตรการปราบวิธีการควบคุมโรคให้เหมาะสม เพื่อลดปริมาณผู้ติดเชื้อ และได้รับการดูแลดีขึ้น โดยวางมาตรการ ดังนี้ คือ 1.ค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ โดยปรับระบบการรักษา มาตรการวัคซีน และมาตราการทางสังคม ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมโรคที่จะใช้ในกรุงเทพฯ ทันทัน ภายใน 2-3 สัปดาห์ของเดือนนี้ เพื่อให้จำนวนผู้ป่วยลดลง 2.การจัดการเตียง ขณะนี้มีมาตรการในการรองรับผู้เจ็บป่วย มีการดูแลที่บ้านที่มีระบบติดตามรักษา และเมื่อมีอาการมากขึ้นก็จะส่งต่อไปรักษา

ปลัด สธ. กล่าวอีกว่า 3.มาตรการวัคซีน กระทรวงสาธารณสุข ปรับนโยบายวัคซีน โดยประการที่หนึ่ง สธ. เตรียมพร้อมจัดวัคซีนบูสเตอร์โดส (Booster dose) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่ดูแลผู้ป่วย ซึ่งต้องสอดคล้องกับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) โดยการใช้วัคซีนจะต้องเป็นไปตามข้อมูลวิชาการ แต่ต้องให้ทันเวลา เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความพร้อมในการปฏิบัติงานเต็มที่ ซึ่งจะมีแนวทางในการจัดบริการบูสเตอร์โดสต่อไป ประการที่สอง การให้วัคซีนแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม เป็นอันดับแรก โดยต้องให้คนกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของวัคซีนที่ได้มาในเดือนนี้ เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต เพราะข้อมูลพบว่า 2 กลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากที่สุด

“สำหรับการฉีดวัคซีนแบบปูพรมจะลดลง จะฉีดกลุ่มเฉพาะที่มุ่งเน้นการฉีดเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่มีการระบาด โดยจะวางมาตรการ เช่น หากมีพื้นที่ไหนพบการติดเชื้อมากก็จะฉีดวัคซีนจุดนั้น ทั้งหมดจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และจะลดอาการรุนแรง อาการหนัก และในเดือนต่อไปก็จะฉีดให้กับประชาชนเพื่อให้ขยายมากขึ้นต่อไป”นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ในบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นวัคซีนชนิดใด นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เห็นเรื่องการดูแลความปลอดภัยของบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ โดยบุคลากรเราได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วทั้ง 1 เข็ม และ 2 เข็ม ซึ่งในเรื่องการบูสเตอร์โดส ก็ต้องพิจารณากรณีการกลายพันธุ์ด้วย ไม่เช่นนั้นบุคลากรก็จะติดเชื้อ และจะปฏิบัติงานไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้ดี ยิ่งวัคซีนที่จะมากระตุ้นก็ต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพเป็นสำคัญ

เมื่อถามถึงกรณีบุคลากรหลายคนยังสงสัยว่าจะต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เว้นช่วงกี่เดือน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาข้อมูลอยู่ ซึ่งผลจะออกมาในเร็วๆนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะกี่เดือน รวมไปถึงข้อมูลของวัคซีนที่ควรนำมาใช้ คาดว่าจะประมาณ 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม คนที่ฉีดเข็ม 2 ไปก็ประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น ในเร็วๆนี้ก็จะมีคำตอบแล้ว เพราะเราต้องดูความปลอดภัย ดูเรื่องประสิทธิภาพด้วย จึงต้องดูคำแนะนำของอาจารย์ต่างๆที่กำลังศึกษาอยู่

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานช่วงวิกฤตขณะนี้ ว่า ต้องขอบคุณน้องๆทุกคน เราเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เราก็รบกับเชื้อโรค เพื่อช่วยคนเจ็บป่วย ซึ่งตนเข้าใจว่า การต่อสู้ไม่ว่าระยะสั้น หรือระยะยาว ก็มีความเหนื่อยล้า น้องๆที่อยู่หน้างานทุกคน ซึ่งตนก็ไปเยี่ยม และฝากผอ.รพ.ต่างๆ ให้กำลังใจ โดยสธ.ได้สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือในการปกป้อง ทั้งชุด PPE หรือวัคซีน ซึ่งพยายามหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันบุคลากรทุกคน การทำงานตรงนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจที่บุคลากรทุกคนได้ร่วมกันช่วยเหลือประชาชน คนป่วย เรื่องนี้เป็นภาวะที่เหมือนสงคราม มาทุกด้าน พวกเราต้องร่วมด้วยช่วยกัน แต่ขณะเดียวกันก็อยากขอความร่วมมือประชาชนในการดูแลตัวเอง ลดการติดเชื้อ เพราะเมื่อป่วยมากขึ้น แต่บุคลากรเรายังเท่าเดิม ซึ่งคนที่ไปดูแลก็มีโอกาสติดเชื้อด้วย อีกทั้ง ยังมีภาวะความเครียด ถือว่าหนักหนา แต่ก็ยังต้องปฏิบัติงาน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นจุดศูนย์กลางระบาด การปรับมาตรการจึงต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยการแยกกัก ควบคุมโรค ต้องเน้นผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเสี่ยงรุนแรง โดยจัด Fask Track (ทางด่วน) สำหรับผู้สูงอายุ ผู้เปราะบางเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรง และผู้ที่มีอาการสงสัย ให้ได้รับการตรวจ RTPCR ไม่จำกัดโควตา และเชื่อมกับการรับเข้าสู่ระบบการรักษาและแยกกักโรคใน รพ.ทันที เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิต ส่วนกลุ่มอื่นๆที่ไม่มีอาการ วัยหนุ่มสาวก็ใช้วิธีตรวจอื่นๆควบคู่กันไป เช่น การตรวจเชื้อรถพระราชทาน ส่วนการสอบสวนเฉพาะรายให้แต่ละจุดตรวจดำเนินการแทน การตรวจเชิงรุกต้องระวังซุปเปอร์สเปรดเดอร์ และการทำบับเบิ้ลแอนด์ซิลในโรงงานต่างๆ ซึ่งจะเป็นมาตรการที่จะปรับพร้อมกับกทม.

“มาตรการวัคซีนในเดือนก.ค.-ส.ค. นี้ ในเดือน มิ.ย.มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 6 ล้านโดส แต่ ก.ค.จะตั้งเป้าอย่างน้อย 10 ล้านโดส และจะกระจายวัคซีนทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 - 2.5 ล้านโดส เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต และควบคุมการระบาด โดยเฉพาะกทม.และปริมณฑล และเตรียมเปิดพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ดำเนินการได้ราบรื่น ก่อนขยายสมุย ทั้งนี้ การระดมฉีดวัคซีน ในกทม.มีผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง 1.8 ล้านคน โดยจะระดมฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนปริมณฑลจะฉีดให้ได้ก.ค. 64 ส่วนจังหวัดอื่นๆใน 2 กลุ่มนี้อีก 17.85 ล้านคน ภายใน ส.ค. 2564” นพ.โอภาส กล่าว และว่า ทั้งนี้ ยังยกระดับมาตรการสังคมและองค์กร โดยบังคับใช้มาตรการ Work From Home ในหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช้หน่วยบริการ และเอกชนขนาดใหญ่อย่างน้อยร้อยละ 70

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org