ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยผ่านเฟซบุคไลฟ์กรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ถึงการจัดตั้งโฮสพิเทลเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ว่า โฮสพิเทลกรมการแพทย์มี 4 แห่ง ได้แก่ 1.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 2 แห่ง 2. รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) 3.โรงพยาบาลเลิดสิน 4.สถาบันสิริธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ (ปิดทำการ) เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการเพราะเตียงมีจำกัด ผู้ป่วยมีระดับความรุนแรงหลากหลาย จึงมีการจัดการผู้ป่วยให้เหมาะสม

นพ.จินดากล่าวว่า โฮสพิเทล คือการผสมกันระหว่าง Hospital กับ Hotel ใช้โรงแรมเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 80 กว่าเปอร์เซ็นต์มีอาการไม่มาก ในกลุ่มนี้จะจัดให้มาอยู่ในโฮสพิเทล เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังสามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง นอกจากจะจัดระบบไม่ให้ผู้ป่วยกระจายเชื้อแล้วจะไม่เกิดการแพร่เชื้อกับคนในสังคม อย่างที่ 2 คือการดูแลอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้อาการแย่ลง เมื่อไหร่ที่อาการแย่ลงก็ต้องส่งไปโรงพยาบาล ถ้าอยู่ในโฮสพิเทลครบ 14 วันพ้นระยะเวลาการแพร่กระจายเชื้อแล้วก็สามารถกลับไปอยู่บ้าน เพราะฉะนั้นโฮสพิเทลจึงมี 2 แบบ คือแยกผู้ป่วยไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ และติดตามอาการเพื่อให้บริการที่เหมาะสม ถ้าอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นส่งเข้าโรงพยาบาล

ในด้านขั้นตอนการรับตัวผู้ป่วยเข้าสู่ระบบโฮสพิเทล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อคนไข้ทราบว่าติดโควิดแจ้งไปยังศูนย์ประสานงาน ศูนย์จะแจ้งมายังโฮสพิเทลเพื่อส่งรายชื่อว่ามีคนไข้ที่มีอาการรออยู่ที่บ้าน ทางโอสพิเทลจะดูแลได้หรือไม่

"อย่างแรกคือต้องคัดกรองโดยโทรไปหาคนไข้ ซักประวัติถามรายละเอียดว่าเป็นคนไข้โควิดกลุ่มสีเขียวและไม่มีข้อห้าม หลังจากนั้นจะส่งรถไปรับ เมื่อมาถึงโฮสพิเทลก็จะเข้าสู่การลงทะเบียน แล้วคัดกรองเพื่อทราบว่าคนไข้เป็นกลุ่มสีเขียวจริง คนไข้จะได้รับการเอ็กซเรย์ ถ้าเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนดเข้าโฮสพิเทลได้ ก็จะมีระบบโหลดคนไข้เข้ามาในแต่ละห้อง โดยปกติ 1 ห้องพัก 2 ท่าน เตียงคู่ ถ้าเป็นเตียงใหญ่จะเลือกเป็นคนครอบครัวเดียวกันหรือเพื่อนกัน การอยู่ 2 คนผู้ป่วยจะได้ช่วยเหลือกัน" นพ.จินดากล่าว

นพ.จินดากล่าวว่า กระบวนการต่อไปคือโทรศัพท์และใช้ไลน์คุยกับคนไข้ เหมือนเป็นการแนะนำระบบการดูแลจะเป็นอย่างไร ตรวจสัญญาณชีพวันละ 2 ครั้ง วางตัววัดออกซิเจนในการใช้เพื่อบันทึก โดยผู้ป่วยจะอยู่ในห้อง 14 วันนับตั้งแต่วันที่ตรวจเชื้อ

"สถาบันมะเร็งฯ มองว่าจุดที่เราสามารถทำได้ดีคือการทำโฮสพิเทล ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะออกมาให้บริการก็มีการซักซ้อมทบทวนองค์ความรู้ว่าเราต้องเข้าไปดูแลคนไข้ในจุดไหนบ้าง ความเสี่ยงไหนที่ต้องระมัดระวังบ้างเพื่อให้การจัดการเสร็จสมบูรณ์และปลอดภัยมากที่สุด" ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติกล่าว

ทั้งนี้ โฮสพิเทลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติมีบุคลากรเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยา ทีมสนับสนุนด้านความสะอาด ลงทะเบียน และอุปกรณ์ต่างๆ โดยเปิดมาตั้งแต่ 24 เม.ย.2564 และให้บริการผู้ป่วยโควิดมาแล้วกว่า 1,600 คน

"คนไข้จะต้องปลอดภัย เจ้าหน้าที่จะต้องปลอดภัย จะต้องไม่มีการแพร่กระจายเชื้อไปสู่สังคมเพราะฉะนั้นเป็นโจทย์ที่ยากการที่เราฟอร์มทีมงานจะเข้ามาทำภาระกิจอย่างนี้ ต้องมีการสื่อสาร สร้างความเข้าใจร่วมกัน ที่สำคัญคือภาระกิจค่อนข้างจะใช้เวลายาวนานในแต่ละวัน ผมประทับใจกับทีมงานมาก หลายคนทุ่มเทไม่บ่นเลย ตอนจะเปิดโฮสพิเทลยังกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะกล้ามาหรือไม่เพราะต้องสัมผัสกับคนไข้โดยตรง เจ้าหน้าที่เราน่ารักมาก สมัครมาโดยไม่ต้องไปขอร้อง แม้เราทำงานหนักผู้บริหารของกรมก็ไม่ได้ทอดทิ้ง อธิบดีและรองอธิบดีแวะเวียนมาให้กำลังใจ ซึ่งต้องขอขอบพระคุณผู้บริหารของกรมการแพทย์" นพ.จินดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.จินดา กล่าวว่า ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยโควิด walk in เข้ามายังโฮสพิเทล เนื่องจากระหว่างทางอาจเป็นการแพร่กระจายเชื้อไปสู่สังคม แต่ขอให้ติดต่อไปที่ศูนย์ประสานงาน ถ้าได้เชื่อมข้อมูลกับโฮสพิเทลแล้ว โฮสพิเทลจะติดต่อไปยังผู้ป่วยแล้วนำรถไปรับจะปลอดภัยมากกว่า

ภาพประกอบจาก เฟซบุคสถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute