ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์-สปสช.ย้ำความพร้อมระบบดูแลให้ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชน (Home Isolation/Community Isolation) ลั่นหากผู้ป่วยอยากรักษาที่บ้านให้ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสม ส่วนชุมชนไหนต้องการทำ Community Isolation สามารถติดต่อโรงพยาบาลในพื้นที่ได้เลย

วันที่ 8 ก.ค. 2564 ได้มีการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ "ติดเชื้อโควิด-19 กักตัวที่บ้านหรือที่ชุมชน ต้องทำอย่างไร หากอยากกลับไปรักษาที่ต่างจังหวัดต้องติดต่อใคร" โดยมี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมอภิปราย

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จากวันที่ 7 มิ.ย. มีผู้ป่วยครองเตียงประมาณ 20,000 ราย แต่ 7 ก.ค. เพิ่มเป็นประมาณ 29,000 ราย เพิ่มขึ้นมากว่า 45% ผู้ป่วยวิกฤตจากเพิ่มขึ้นจาก 700 กว่ารายเป็น 1,200 ราย เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว คนไข้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจากประมาณ 250 ราย เป็น 400 ราย ทำให้สภาพของแพทย์และพยาบาลเริ่มหมดแรงและมีบางส่วนที่ติดเชื้อ ดังนั้นกรมการแพทย์จึงนำแนวทาง Home Isolation และ Community Isolation มาใช้ โดยดูตัวอย่างจากต่างประเทศและหลักการที่ชัดเจนคือคนไข้ต้องได้รับการดูแล โดยจะมีอุปกรณ์วัดไข้ วัดออกซิเจนให้ มีแพทย์ทำ Tele-Medicine ประเมินอาการ มีอาหารให้เพื่อไม่ต้องออกมาในชุมชนและอาจเกิดการแพร่เชื้อ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลทั่วประเทศสามารถดำเนินการได้แล้ว มีผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่ระบบประมาณ 100 กว่าคน

ขณะที่ Community Isolation ก็สามารถทำที่วัด ที่โรงงาน โรงเรียนหรือในชุมชน โดยมีการหารือกับเอ็นจีโอทั้งแบบที่ทำงานในชุมชนและเว็บเพจต่างๆที่ทำงานออนไลน์ในการขับเคลื่อนเตรียมชุมชนสำหรับทำ Community Isolation ไว้ 200-300 แห่ง ให้ชุมชนดูแลผู้ป่วยโดยภายใต้การดูแลของโรงพยาบาล ซึ่งถ้าชุมชนไหนมีความสนใจสามารถติดต่อที่กรมการแพทย์ สปสช.หรือ โรงพยาบาลในพื้นที่

ด้าน พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่มีโควิด-19 สปสช.มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนหน่วยบริการต่างๆ ซึ่ง Home Isolation ก็เป็นอีกแนวทางที่นำมาใช้เพื่ออุดช่องว่างเรื่องการรอคอยเตียง โดยโรงพยาบาลเป็นผู้ดูแลและจัดบริการรักษาที่บ้าน มีระบบการส่งส่งต่อผู้ป่วยหากอาการแย่ลง เป็นการเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยสีเขียวที่อยู่ที่บ้านหรือในชุมชน โดยมีบทบาทของชุมชนเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยด้วย ดังนั้น จึงหวังว่าเมื่ออยู่ในสถานการณ์เตียงเต็ม ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้ามามีบทบาทในการทำ Community Isolation ดูแลผู้ป่วยในชุมชนมากขึ้น รวมทั้งอยากกระตุ้น กทม. ให้สร้าง Community Isolation ให้ครบทุกเขต

ส่วน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การจัด Home Isolation หลักการคือโรงพยาบาลต้องจัดบริการที่บ้านให้เหมือนอยู่โรงพยาบาล คือมีแพทย์ดูอาการวันละ 2 ครั้ง มีอาหาร 3 มื้อ มียาให้ มีอุปกรณ์วัดไข้วัดออกซิเจนให้ และถ้าอาการเปลี่ยนแปลงต้องตรวจแล็บ เอกซเรย์ ต้องส่งต่อเข้าโรงพยาบาล ทั้งหมดนี้ สปสช.จัดเตรียมงบประมาณให้ทุกส่วน โดยการจัด Home Isolation สามารถทำได้ 2 แบบคือผู้ป่วยหารือกับแพทย์เพื่อรักษาที่บ้าน หรือเข้ารับการรักษาแล้วระยะหนึ่ง เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็กลับไปดูแลที่บ้านเพื่อเคลียร์เตียงให้ผู้ป่วยรายใหม่ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาในต่างจังหวัด อยากให้ติดต่อโรงพยาบาลปลายทางหรือติดต่อให้ 1330 ประสานให้ หากโรงพยาบาลปลายทางเตรียมการพร้อมก็เดินทางภายใต้การดูแลของ สพฉ.

นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เมื่อช่วงเดือน เม.ย. รถฉุกเฉินใช้ในการส่งผู้ป่วยสีเขียวไปโรงพยาบาลสนาม โดยจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นทำให้ต้องระดมรถฉุกเฉินนอกระบบเข้ามาช่วย แต่เมื่อมีการดูแลที่บ้าน ก็จะทำให้มีรถเพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วยสีเหลือง สีแดงมากขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกทม. หากต้องการกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านในต่างจังหวัด ต้องดูด้วยว่าคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอนุญาตการเดินทางหรือไม่ หากเป็นจังหวัดที่ไม่มีข้อห้าม ก็สามารถติดต่อสายด่วน 1330 ซึ่งทาง 1330 จะประสานมายัง สพฉ.เพื่อจัดรถรับส่งต่อไป และการจะ Home Isolation ต้องผ่านการเห็นชอบจากโรงพยาบาลก่อน แต่ถ้าให้ดีที่สุดไม่ควรย้ายข้ามพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org