ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แจงชัด! ตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หากผลบวกให้เข้ารักษา Home Isolation ทันที ไม่ต้องตรวจซ้ำ! แต่หากไม่ได้ต้องแยกกักในชุมชน จำเป็นต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR แต่ระหว่างรอห้ามปะปน โดยต้องแยกกลุ่มดังกล่าวออกเฉพาะ และพาไปรอการตรวจเชื้อซ้ำที่ Community Isolation ศูนย์พักคอย ฮอสพิเทล หรือโรงพยาบาล ล่าสุดกทม.ยกระดับศูนย์พักคอยตรวจ RT-PCR ได้ทุกแห่ง ส่วนกรณีพระสงฆ์ ใช้วิธี temple Isolation

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 27 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit : ATK) ที่กำลังได้รับความสนใจว่า หลังจากตรวจแล้วระบบรองรับเป็นอย่างไร ว่า สำหรับการตรวจด้วย ATK เมื่อได้ผลบวกแล้ว จะใช้คำว่า เป็นผู้ที่น่าจะติดเชื้อโควิด-19 หรือคนที่น่าจะติดเชื้อ เนื่องจากชุดตรวจมีหลายชนิด บางชนิดคุณภาพอาจไม่สู้ดี ผลหรือสเป๊กความไว ความจำเพาะอาจไม่ถึง 90% แต่ส่วนใหญ่ที่ อย.ให้การรับรอง และทางกระทรวงสาธารณสุข และสปสช.นำไปใช้ส่วนใหญ่ได้ผลบวก 95% ขึ้นไป แต่อย่าลืมว่า ชุด ATK สามารถให้ผลลวงได้ถึง 3-5% แปลว่า มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ผลบวกแล้ว อาจไม่ได้ติดเชื้อจริง ตรงนี้น่ากังวล เพราะหากเรานำผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อจริงไปรวมกับผู้ติดเชื้อ ก็อาจติดเชื้อไปด้วย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ที่ผลเป็นลบ และสงสัยอาการอยู่ ก็ต้องทำซ้ำหลัง 3-5 วันภายหลัง ดังนั้น ผลบวกและผลลบมีผลปลอมได้ แต่กรณีผลบวกนั้น ขอเรียนยืนยันว่า เมื่อ ATK หากเป็นบวก สามารถแยกกักที่บ้านได้ทันที Home Isolation แต่ต้องแยกกักที่บ้านแบบอยู่ห้องนอนคนเดียว ใช้ห้องน้ำคนเดียว แยกอยู่แยกกินแยกนอน ต้องแยกหมด โดยสปสช.สนับสนุนอาหารสามมื้อส่งถึงบ้าน โดยให้งบประมาณมาที่รพ. ในการส่งอาหารถึงบ้าน และยังมีเครื่องมือดูแล ทั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ยาที่จำเป็น และหากเป็นคนไข้ที่มีโรคประจำตัว ทางการแพทย์แนะนำให้เริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด หากเข้าเกณฑ์สามารถส่งยาไปที่บ้านได้

“ขอย้ำว่า ATK หากผลเป็นบวก สามารถทำ Home Isolation ได้เลยโดยไม่ต้องตรวจซ้ำ แต่หากทำไม่ได้ และต้องเข้า Community Isolation หรือแยกกักที่ชุมชน ซึ่งเปิดแล้ว 20 กว่าแห่งโดยกรุงเทพมหานคร หลักการสำคัญ เราไม่สามารถนำคนไม่แน่ใจว่าติดเชื้อ ไปรวมกับคนติดเชื้อได้ แต่จะทำยังไงไม่ให้การรักษาล่าช้า สิ่งสำคัญคือ ต้องสื่อสารว่าท่านเป็นผู้น่าจะติด และต้องเซ็นใบยินยอมรักษา และนำตัวพาไปที่ Community Isolation ศูนย์พักคอย ฮอสพิเทล หรือโรงพยาบาล แต่ให้ตรวจมาตรฐานด้วย RT-PCR คู่ขนานกันไป ซึ่งไม่ตรวจเลยก็ไม่ได้ เพราะท่านอาจไม่ได้ติดเชื้อ แต่ตรวจช้าก็ไม่ได้”

(ข่าวเกี่ยวข้อง : รองปลัดสธ.ลงนามเปลี่ยนแปลงข้อสั่งการ! ถึงผู้ตรวจฯ นพ.สสจ. แจงชัดแยกกลุ่มตรวจ ATK)

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ดังนั้น จึงต้องมีระบบการรอ การแยก โดยศูนย์พักคอยจะมีการจัดมุมหนึ่งให้สำหรับคนที่รอผลตรงนี้ เนื่องจากเราต้องแยก ไม่เช่นนั้นหากไม่ติดเชื้อจะปนกับคนติดเชื้อ ทั้งหมดก็เพื่อผลประโยชน์ผู้ป่วย ซึ่งเราจะเร่งการทำ PCR ควบคู่กันไป โดยขณะนี้ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. ออกข่าวว่า จะยกระดับศูนย์พักคอยทำ RT-PCR ทุกแห่ง และจะพยายามเร่งรัดผล เนื่องจากปัจจุบันบางแล็บสามารถใช้วิธีอย่างรวดเร็ว 45 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงก็ทราบผล หากเป็นลบก็ต้องแยกออกมาไม่ให้ปะปน ต้องแยกให้ชัดเพื่อความปลอดภัย จริงๆ RT-PCR ยังจำเป็นในกลุ่มที่ต้องเข้า Community Isolation ศูนย์พักคอย หรือโรงพยาบาล

เมื่อถามถึงกรณีพระภิกษุสงฆ์ในโรงเรียนปริยัติธรรม ย่านบางนามีการติดเชื้อกว่า 200 รูป ทางรพ.สงฆ์ดูแลอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีพบพระสงฆ์ติดเชื้อนั้น กรณีนี้ รพ.สงฆ์ได้เข้าไปทำ ซึ่งหลักการคล้ายๆ Community Isolation โดยกรณีเรียกว่า temple Isolation โดยดูแลพระที่นั่นเลย หากอาการไม่มาก ทางรพ.สงฆ์ได้จัดแพทย์ พยาบาล และร่วมกับชุมชนมาดูแลพระภิกษุสงฆ์ ดูอาการภาพรวมทั้งหมด หากพระรูปใดอาการมากขึ้น เข้าข่ายสีเหลืองเข้ม ต้องการออกซิเจนก็จะนิมนต์มาดูแลที่รพ.สงฆ์ แต่หากเริ่มมีอาการก็จะเริ่มให้ยา หลักการเดียวกันกับ Community Isolation

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง