ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดแบบจำลองคณิตศาสตร์คาดการณ์ “ผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตโควิด19” หากไม่มีล็อกดาวน์ติดเชื้อพุ่งเกิน 40,000 รายเดือน ก.ย. แต่หากมาตรการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน ผู้ติดเชื้อจะลดลง 2 หมื่นกว่าราย ส่วน 7 วันที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันในชุมชนพบ 13,605-17,408 ราย เสียชีวิตเฉลี่ย 124 รายต่อวัน ด้าน “หมอโอภาส” ย้ำล็อกดาวน์วันนี้ ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นระยะหนึ่ง จากนั้น 2-4 สัปดาห์ จะเห็นผลชัด!

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ ประเด็น คาดการณ์แนวโน้มการติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย

โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกระบาดรุนแรงขึ้นมากกว่า 6 แสนรายต่อวัน ทั่วโลกสะสม 198 ล้านราย คาดว่าไม่กี่วันจะถึง 200 ล้านราย ขณะที่ประเทศไทยก็มีการติดเชื้อจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยไทยวันนี้ติดเชื้อ 17,345 ราย โดยภูมิภาคมากกว่ากรุงเทพฯ เล็กน้อย เนื่องจากมีโครงการให้ผู้ติดเชื้อกลับรักษาภูมิลำเนา ปัจจุบันกลับแล้วกว่า 5 หมื่นคน ซึ่งผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้จะไม่แพร่เชื้อ เพราะจัดระบบดูแลที่บ้านและชุมชน หรือโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรับดูแลผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขเกือบ 2 แสนคน

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์จากโมเดลการติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบันเกือบจะถึงแล้ว เราก็พยายามควบคุมไม่ให้ถึงหรือเกินไปกว่านี้ โดยในเรื่องการรักษา ปัจจุบันเราให้ยาฟาวิพิราเวียร์ตามเกณฑ์โดยเร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันสำรองยาในเดือน ส.ค. 40 ล้านเม็ด และเดือน ก.ย.อีก 40 ล้านเม็ด มีจำนวนมากพอสมควรและส่งไปยังภูมิภาค ในแต่ละจังหวัดมียาตัวนี้อยู่แล้ว ซึ่งคนไข้ที่อยู่ในระบบHome Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) มีโอกาสได้รับยาเหล่านี้ เพื่อให้การรักษาตั้งแต่เริ่มต้น และช่วยลดการป่วยหนัก และการเสียชีวิตได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 ตามแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ SEIR โดยเส้นสีน้ำเงินได้จากการคาดการณ์ ส่วนเส้นสีส้มหรือสีแดง เป็นตัวเลขจากสถานการณ์จริง เมื่อนำสองเส้นนี้ และใช้สูตรคำนวณ พบว่าใกล้เคียงกัน และจุดหมายที่ใช้เปรียบเทียบคือ หลังมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร โดยมีทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิต เปรียบเทียบทั้งโมเดล และสถานการณ์จริง เทียบเคียงมาตรการล็อกดาวน์เมื่อปลายเดือนก.ค.2564 นำมาเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ข้างหน้า

สำหรับการเปรียบเทียบสถานการณ์ 3-4 เดือนข้างหน้าจะมีเส้นกราฟอยู่ 5 เส้น โดยเส้นสีน้ำเงินเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน จากการคาดการณ์หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการเข้มข้นใดๆ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะสูงเกิน 4 หมื่นรายได้ และจุดสูงสุดจะอยู่ที่ 14 ก.ย.

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ เส้นกราฟจากการคำนวณในแบบโมเดลมีทั้งหมด 4 เส้น โดยเส้นแรก คือ สีส้ม หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการอยู่บ้านมากที่สุด มาตรการ Work From Home หยุดกิจกรรมชุมนุมของกลุ่มคน ฯลฯ หากทำได้มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ 20% เป็นเวลานาน 1 เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะลดลงจากเกิน 4 หมื่นกว่าราย เหลือ 3 หมื่นกว่าราย จุดสูงสุดอยู่ที่ต้นเดือน ต.ค.

แต่หากใช้มาตรการล็อกดาวน์นานกว่านี้ หรือมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ จะเป็นโมเดลเส้นกราฟสีเหลือง หากทุกคนให้ความร่วมมือมาตรการต่างๆ ลดติดเชื้อได้ 25% นาน 1 เดือนก็จะใกล้เคียงกันกับสีส้ม ถัดมาเป็นเส้นสีเทา หากล็อกดาวน์นาน 2 เดือนและมีประสิทธิภาพ 20% จะทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 2 หมื่นกว่าราย จาก 4 หมื่นกว่ารายหากไม่ทำอะไรเลย  

ส่วนการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตต่อวัน หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์หรือไม่มีมาตรการใดๆ เส้นสีน้ำเงินจะพบว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนต่อวัน จุดสูงสุดประมาณวันที่ 28 ก.ย. แต่หากมีมาตรการล็อกดาวน์ปลายเดือน ก.ค. จะเป็นเส้นสีส้มและสีเหลือง ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่เกิน 400 รายต่อวัน จุดสูงสุดอยู่ที่ 26 ต.ค. ในมาตรการตั้งแต่ 20-25%

อย่างไรก็ตาม หากล็อกดาวน์นานขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลง ตามมาตรการที่ทางรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการ คือ เส้นสีเขียว ได้มีมาตรการต่างๆ ทั้งล็อกดาวน์ ค้นหาผู้ป่วย มาตรการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ความร่วมมือของประชาชน ลดกิจกรรมไม่จำเน อยู่บ้านมากที่สุด เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ฯลฯ จะช่วยให้มาตรการส่วนบุคคลในการป้องกันการแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อถามถึงมาตรการล็อกดาวน์จนถึงวันนี้ได้ผลอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า หากไม่ทำมาตรการล็อกดาวน์เลยตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะสูงกว่านี้ ดังนั้น มาตรการล็อกดาวน์จึงสำคัญในการลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แต่การล็อกดาวน์ ประสิทธิภาพแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย จะสังเกตเห็นว่ามาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ หน่วยราชการต่างๆ ทำงานที่บ้านจำนวนมาก ศูนย์การค้ามีการปิด มีไม่กี่อย่างที่เปิด เช่น การไปรับการรักษาพยาบาล การไปฉีดวัคซีน การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ เพราะฉะนั้น ความร่วมมือของประชาชนจึงสำคัญ จากแบบจำลองก็ชัดเจนว่า หากได้รับความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจะลดลง

“มาตรการล็อกดาวน์ ไม่ได้แปลว่า ล็อกดาวน์วันนี้ผู้ติดเชื้อจะลดลงทันที การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง มาตรการในช่วงต้นจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มสูงเกินไป จากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์มาตรการล็อกดาวน์จะเห็นผลชัดขึ้นในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะประเมินเรื่องนี้เป็นระยะ และสธ.จะนำเสนอศบค.ต่อไป” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลที่มีการนำเสนอในการแถลงข่าว สรุปว่า จากการจำลองสถานการณ์การระบาด โดยมีสมมติฐานว่าการล็อกดาวน์ ช่วยลดค่า R ของการระบาดได้ประมาณร้อยละ 20 พบว่า หลังล็อกดาวน์น่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ 15,705 รายต่อวัน และผู้เสียชีวิต 119 รายต่อวัน และช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีรายงานผุ้ติดเชื้อรายใหม่รายวันในชุมชน อยู่ในช่วง 13,605-17,408 ราย ผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 124 รายต่อวัน อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นล็อกดาวน์ ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นใกล้เคียงกับจำนวนผุ้ติดเชื้อตามที่คาดการณ์ จำเป็นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างจริงจัง

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org