ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สิชลพร้อมรับดูแลเพิ่มผู้ป่วยโควิด-19 ใน กทม.ที่ยังตกค้างในระบบสายด่วน 1330 ในกรณีที่คลินิกชุมชนอบอุ่นยังไม่พร้อมรับดูแลทำ home isolation เผยผู้ป่วยชุดแรกที่เริ่มแอดมิดจะเริ่มจำหน่ายออกจากระบบในอีกประมาณ 6-7 วันข้างหน้าแล้ว ด้าน สปสช.ย้ำแม้จะได้ รพ.สิชลมาช่วยแต่ก็ยังต้องการให้คลินิกใน กทม.รับดูแลผู้ป่วยให้มากขึ้น

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงกรณีที่โรงพยาบาลสิชลรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ที่ตกค้างในระบบของสายด่วน 1330 ไม่สามารถหาหน่วยบริการมาดูแลได้ โดยเป็นการดูแลแบบ home isolation และติดตามอาการผ่านระบบสื่อสารทางไกลนั้น นพ.อารักษ์ ระบุว่ากรณีนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงที่โรงพยาบาล/คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม.ยังไม่สามารถรับดูแลผู้ติดเชื้อได้หมดจนมีผู้ป่วยตกค้างเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ หากหน่วยบริการใน กทม.เริ่มปรับระบบและมีความพร้อมในการรับดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ก็สามารถเข้ามารับผ่องถ่ายผู้ป่วยได้เลย อย่างไรก็ดี หากหน่วยบริการใน กทม.ยังไม่พร้อมรับดูแลผู้ป่วยและมีผู้ติดเชื้อตกค้างอยู่ในระบบทุกวัน ทางโรงพยาบาลสิชลก็ยินดีรับผู้ป่วยมาดูแลเพิ่ม เพราะผู้ป่วยชุดแรกที่เริ่มแอดมิดตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2564 จะเริ่มจำหน่ายออกจากระบบในอีกประมาณ 6-7 วันข้างหน้า

นพ.อารักษ์ กล่าวถึงกระบวนการดูแลผู้ป่วยว่า จุดเริ่มต้นในการรับดูแลผู้ติดเชื้อใน กทม.นั้น ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ติดต่อมาว่าในขณะนั้นมีผู้ป่วยตกค้างในระบบ 1330 ที่ยังไม่มีโรงพยาบาลรับดูแลแบบ home isolation เป็นจำนวนมาก ทางโรงพยาบาลจึงหารือกับทีมงานเพื่อดูถึงความเป็นไปได้ในการรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้และรับจาก สปสช.มาประมาณ 6,000 คน ซึ่งในช่วงแรกปรากฎว่านอกจากคนที่ยังไม่มีโรงพยาบาลรับดูแลแล้ว ยังมีอีกส่วนที่แค่สอบถามเข้ามาเฉยๆ หรือได้เตียงแล้ว หรือรักษาหายกลับบ้านแล้ว ดังนั้นเพื่อให้ข้อมูลผู้ป่วยถูกต้องแม่นยำ โรงพยาบาลจึงทำ google form ให้คนไข้ยืนยันตัวตนและกลั่นกรองคนที่ได้เตียงแล้วหรือไม่ได้ป่วยออกไป จนสุดท้ายเหลืออยู่ประมาณ 3,000 คน จากนั้นก็ส่งข้อความโทรศัพท์สอบถามว่าต้องการเข้าโครงการ home isolation กับโรงพยาบาลสิชลหรือไม่

นพ.อารักษ์ กล่าวอีกว่า เมื่อผู้ป่วยตอบรับแล้วก็จะสื่อสารตอบคำถาม ให้คำแนะนำต่างๆ ผ่านทาง line official account โดยมีแอดมิน 2 ทีม ทีมแรกอยู่ กทม. ประมาณ 10 คน สำหรับจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ประสานงานหาเตียงกรณีผู้ป่วยอาการแย่ลง รวมทั้งจัดการเรื่องการส่งยาต่างๆ 2.ทีมที่ 2 ประมาณ 100 คน ให้คำปรึกษาแนะนำต่างๆแบบ real time อยู่ที่โรงพยาบาลสิชล แต่ละวันจะมีแบบสอบถามเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น เช่น ไม่มีอาการ อาการเล็กน้อย หรือเริ่มเข้าสู่ระดับอาการที่รุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่ก็สามารถโทรไปพูดคุยกับผู้ป่วยรายนั้นโดยตรง

"ยกตัวอย่างมีรายหนึ่งไลน์มาบอกว่ายังไม่ได้รับยา หายใจไม่ออก ตอนนั้นเป็นวันหยุดยาวหารถไปรับไม่ได้ เราก็ให้ทีมงานที่อยู่ที่ กทม.ขับรถไปส่งยาให้ทันทีตอน 4 ทุ่ม หลังได้ยาอาการก็เริ่มดีขึ้น ความรู้สึกของผู้ป่วยคือเหมือนมีคนอยู่เคียงข้างเขา ไม่ถูกทอดทิ้ง"นพ.อารักษ์ กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การทำ home isolation จริงๆ แล้ว สปสช.ต้องการให้คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม.รับดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ใกล้เคียงของตัวเอง แต่เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องความพร้อม ทำให้คลินิกชุมชนอบอุ่นรับดูแลได้ไม่หมดและมีผู้ป่วยตกค้างจำนวนมาก  การได้โรงพยาบาลสิชลเข้ามารับดูแลผ่านระบบ tele health ก็ทำให้เคลียร์ผู้ป่วยตกค้างไปได้จำนวนหนึ่ง อย่างน้อยคือมีมีการส่งยา อาหารให้ ทำให้ผู้ป่วยสบายใจว่ามีคนดูแล แต่ สปสช.ก็ยังต้องการให้คลินิกใน กทม. รับผู้ป่วยไปดูแลมากๆ ดังนั้นก็ขอประชาสัมพันธ์คลินิกเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เข้ามาร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยวันที่ 3 ส.ค. 2564 สปสช.จะมีการประชุมออนไลน์เพื่อชี้แจงรายละเอียดและรับสมัครคลินิกที่สนใจ

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ home isolation สมบูรณ์และเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ป่วย คือถ้าผู้ป่วยอาการรุนแรงขึ้นจากสีเขียวไปเป็นสีเหลืองหรือแดงต้องมีเตียงรองรับ ขณะนี้ทาง สปสช.อยู่ระหว่างเจรจากับโรงพยาบาลอื่นๆโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเพื่อขอให้สำรองเตียงไว้ในกรณีผู้ป่วย home isolation มีอาการรุนแรงขึ้น รวมทั้งมองหาสถานที่ในปริมณฑลเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง โดยขอเวลาอีก 1-2 วัน ในการเตรียม fast track เหล่านี้ให้แล้วเสร็จ