ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยข้อมูลอาการ “ไบโพลาร์” การใช้ความรุนแรง หงุดหงิดง่ายไม่ใช่อาการเด่น ส่วนใหญ่คนที่ใช้ความรุนแรง มักควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ที่น่าห่วงปัจจุบันมีคนกลุ่มควบคุมอารมณ์โกรธตัวเองไม่ดี จนมีการใช้ความรุนแรง สร้างผลกระทบทั้งตนเองและผู้อื่น แนะปรึกษาจิตแพทย์ โทรสายด่วน 1323 ประเมินอาการและเข้าสู่การบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม

00 อาการไบโพลาร์ มักไม่พบการใช้ความรุนแรงเป็นหลัก แต่จะมีอาการแมนเนียร์สลับกับภาวะเศร้า

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงโรคไบโพลาร์ ว่า โดยหลักการจะมีภาวะอารมณ์ที่เป็นแบบสองขั้ว แต่ไม่ใช่ช่วงเวลาเดียวกัน บางครั้งอาจแปรปรวนมาก แต่บางช่วงอาจป่วยภาวะเศร้า หรือบางช่วงกลับเป็นคนละด้านของอารมณ์ อย่างคนเป็นโรคซึมเศร้า จะมีอารมณ์เศร้าอย่างเดียว แต่กรณีนี้จะมีแมนเนียร์ คืออีกขั้ว แบบไม่หลับไม่นอน พูดมาก พูดเร็ว ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย บางคนใช้เงินหมดในวันเดียว ครึกครื้น บางรายมีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้นก็มี เนื่องจากครึกครื้นตลอด ส่วนอาการที่บอกว่าจะหงุดหงิดง่ายนั้น อาจไม่ใช่อาการเด่นของไบโพลาร์ หรือการใช้ความรุนแรงก็ไม่ใช่อาการเด่น อาจมีบ้างแต่น้อย

“ดังนั้น ไบโพลาร์ ที่ไปทำร้ายคนอื่นไม่ค่อยพบมาก แต่จะเป็นแมนเนียร์อย่างที่กล่าวมามากกว่า จึงไม่สามารถนำหนึ่งพฤติกรรมมาอธิบายว่าเป็นอะไรกันแน่ เพราะต้องอยู่ที่กระบวนการทางการแพทย์วินิจฉัย” พญ.พรรณพิมล กล่าว

เมื่อถามว่า เราจะสังเกตคนที่เป็นไบโพลาร์ได้อย่างไร และมีวิธีปฏิบัติตัวหรือนำผู้ป่วยรักษาอย่างไร พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า โดยปกติมี 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งของผู้ป่วยเขาจะรับรู้ได้ว่า มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ที่ควบคุมตัวเองได้ไม่ดี แต่ยังพอรับรู้ได้บ้าง และเข้าสู่การรักษาเองก็มี แต่กลุ่มที่สอง รู้ว่าควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ แต่ไม่คิดจะรักษา และไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น จึงต้องอาศัยคนรอบข้างมาช่วย ก็จะช่วยให้เข้าสู่การรักษาได้ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ยังอยู่ระหว่างที่ไม่เข้าใจตัวโรค และไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นภาวะโรคที่สามารถรักษา และจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนคนที่อยู่ร่วมกับคนที่เป็นไบโพลาร์ ส่วนใหญ่จะทราบว่าพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิตจะไม่เหมือนคนทั่วไป เช่น คนที่เคยรู้จัก แปลกไปจากเดิม ไม่เหมือนเดิม หรือในกรณีคนที่ป่วยโรคนี้ แต่ไม่คิดรักษา ตรงนี้คนใกล้ชิดก็ต้องพยายามชักจูงพาพวกเขาเข้าสู่การรักษา

00 ปัญหาความรุนแรงมักมากจากควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ สามารถบำบัดรักษาได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่า คนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ และมักใช้ความรุนแรงก็จะเป็นอีกกลุ่มที่ไม่ใช่โรคไบโพลาร์ จะต้องสังเกตตัวเองและเข้ารักษาอย่างไร พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เรื่องนี้สำคัญ เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า คนที่ก่อความรุนแรงต่างๆ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ป่วยจิตเวชเสมอไป ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยจิตเวชพบ 1 ใน 3 ไม่ถึงครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มีปฏิกิริยาตอบโต้ทันทีทันใด และยิ่งมีอาวุธในมือก็ยิ่งทำให้เกิดขึ้นง่ายอีก

“สิ่งเหล่านี้ คือ ลักษณะนิสัยของบุคคลที่ขาดการควบคุมตัวเอง ในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น จะบอกว่าไม่มีสติ ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่บางคนไม่มีสติ ก็ไม่ถึงขั้นต้องใช้ความรุนแรง เรื่องนี้ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพราะหากควบคุมไม่ได้ จะกระทบต่อการดำเนินชีวิต ทั้งตัวเองและผู้ป่วย ยิ่งคนอื่นจะเข้าใจได้ยาก ทำไมเราคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึ่งใครไม่แน่ใจก็ปรึกษาสายด่วน 1323 ได้ว่า เราป่วยทางสุขภาพจิตหรือไม่ หรือมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ ซึ่งสามารถรักษาได้ หากกรณีมีโรคร่วมก็ต้องให้ยา แต่หากเป็นพฤติกรรมสะสมมา และไม่มีการฝึกฝนควบคุมอารมณ์ตัวเองก็รักษาด้วยการเข้าสู่พฤติกรรมบำบัด” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

00 ไบโพลาร์พบน้อยกว่าโรคซึมเศร้า

ด้าน นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ปัจจุบันไทยพบว่าคนซึมเศร้ามากกว่าไบโพลาร์ จากการศึกษาติดตามตัวเลขผู้ป่วยเมื่อ 5-6 ปี ทีผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้า ประมาณ 1 ล้านคน ส่วนไบโพลาร์ พบได้น้อยกว่า มีเฉลี่ย100,000 คน ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์ จะมีอาการสลับเป็นช่วงๆ บางคนมีภาวะอารมณ์ที่เป็นแมนเนียร์ เฉลี่ยปีละ 6-7 ครั้ง แต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน บางครั้งมีภาวะแมนเนียร์นานถึง 1-3 เดือน และมีช่วงเวลาซึมเศร้า 1-2 เดือน ช่วงเวลาที่ภาวะทางอารมณ์ แต่ละขั้วแสดงอาการก็แตกต่างกัน โดยช่วงซึมเศร้า หดหู่ อาจคิดฆ่าตัวตาย ส่วนช่วงแมนเนียร์ มั่นใจในตัวเองสูง ร่าเริง ไม่หลับไม่นอน นอนน้อยแต่ก็สดชื่น และ ความมั่นใจในตัวเอง

“ในภาวะโควิด โรคทางจิตเวช หากได้รับยาอย่างสม่ำเสมอไม่มีอะไรน่ากังวล มีเพียงบางโรค ที่เสี่ยงได้รับความกระทบกระเทือน จากภาวะความเครียดของจิตใจ เช่นถ้าเกิดตกงาน หรือเกิดป่วยเป็นโควิด ก็อาจทำให้เกิดความเครียดกังวลขึ้นได้” นพ.ธรณินทร์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีข่าวนายธนภัทร ชนะกุลพิศาล หรือ "ทอยทอย ธนภัทร" อายุ 21 ปี นักแสดงซีรีส์ทำร้ายร่างกายแฟนจนเสียชีวิต  นพ.ธรณินทร์ กล่าวว่า  ในลักษณะนี้ไม่สามารถประเมินหรือวิเคราะห์ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องทางคดีและต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org