ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ตั้งคณะทำงานบริหารจัดการแก๊สทางการแพทย์ พิจารณาร่วมทุกภาคส่วน ทั้งรพ. มหาวิทยาลัย ฝั่งผู้ผลิต บริหารจัดการถังออกซิเจนให้เพียงพอกับผู้ป่วยโควิด19 วิกฤตเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการยกระดับเตียงสีเขียว ให้เป็นเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยอาการสีเหลือง ว่า ขณะนี้มีการเปิดขออนุญาตมา 137 แห่ง แต่ดำเนินการจริงประมาณ 115 แห่ง มีเตียงประมาณ 4 หมื่นเตียง ตามนโยบายเรารู้ว่าผู้ป่วยอาการเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองมากขึ้น ดังนั้นจึงให้ผู้รับชอบมีการปรับปรุงมาตรฐานจากเดิมที่รับเฉพาะสีเขียว ก็ให้ปรับประมาณ 10% ของเตียงสีเขียวมาเป็นเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการสีเหลือง ทำให้ตอนนี้เรามีเตียงสีเหลืองในฮอสพิเทลประมาณ 4 พันกว่าเตียง ก็แบ่งเบาภาระรพ.หลักออกไป โดยมีการนำออกซิเจนเข้าไป มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มมากขึ้น

เมื่อถามว่าเนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในส่วนของออกซิเจน และถังออกซิเจนมีเพียงพอหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ผู้ป่วยเมื่อมีอาการมากขึ้น กลุ่มอาการสีเหลือง สีส้ม และสีแดง จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการบำบัด ประคับประคอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงได้ตั้งคณะทำงานบริหารจัดการแก๊สทางการแพทย์ ร่วมกันกับทั้งฝั่งผู้ใช้ รพ. มหาวิทยาลัยต่างๆ และฝั่งผู้ผลิต บริษัทผลิตออกซิเจนเหลวขนาดใหญ่ รวมทั้งกลุ่มขนส่ง มาหารือร่วมกัน โดยสรุปอัตราป่วยขณะนี้ กับปริมาณออกซิเจนเหลว ที่ใช้ทางการแพทย์ยังเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม มีการประชุม บางเรื่องที่เห็นว่ามีปัญหา ทำให้การให้บริการแก๊สทางการแพทย์ยังไม่สมบูรณ์ จึงเสนอให้ปรับแก้ไขแล้ว เช่น รถขนส่งแก๊สเพื่อไปเติมในรพ.สนาม หรือรพ.ต่างๆ ในกทม. และปริมณฑล ซึ่งติดปัญหาขึ้นทางด่วน ทางศบค.ก็อนุญาตให้การทางพิเศษปรับให้สะดวกขึ้น เรื่องต่อมาคือเวลาการเข้าพื้นที่ชั้นในของกทม. ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปปรับแก้กฎระเบียบนี้แล้ว รวมทั้งคิดว่าอุปกรณ์บางชนิดที่ให้บริการทางการแพทย์ เช่น ถังออกซิเจนขนาดเล็ก หรือเกออกซิเจน หรือเครื่องทำออกซิเจน เนื่องจากเป็นวัสดุที่ต้องนำเข้า จึงให้อย.กำหนดให้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องเร่งรัดในการอนุญาต เป็นฟาสแทรกซ์

“โดยสรุปขณะนี้ให้มีความมั่นใจว่ามีคณะทำงานติดตามชุดหนึ่ง ที่ทำร่วมกับผู้ผลิต จัดส่ง และการอนุญาตนำเข้าเพื่อดูเรื่องการใช้ไม่ให้ขาด ซึ่งขณะนี้ยังเพียงพอ และยังมีการเตรียมการสำหรับอัตราผู้ป่วยสูงสุดด้วย ว่าเราจะสามารถปรับเปลี่ยนระบบแก๊สทางการแพทย์ที่ผสมกันระหว่างแก๊สทางอุตสาหกรรม และแก๊สทางการแพทย์ ให้เปลี่ยนมาผลิตแก๊สทางการแพทย์ได้อีกระดับหนึ่ง คล้ายระบบสำรอง” นพ.ธเรศ กล่าว