ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังต้องเลื่อนจากกำหนดการเดิมออกมา 2 สัปดาห์ ในที่สุดโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7” ขยายพื้นที่นำร่องเชื่อมโยงกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่และพังงา ภายใต้รูปแบบ Seal Route ก็ได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ส.ค. โดยในบรรดา 3 จังหวัดนี้ พังงา ถือว่ามีความแตกต่างและท้าทายไม่น้อยรออยู่ เมื่อพื้นที่ซึ่งกำหนด คือ เกาะยาวและเขาหลัก หนึ่งในนั้นเป็นพื้นที่นำร่องประเภท on land หรือแผ่นดินใหญ่แห่งแรก

แน่นอนว่า นักท่องเที่ยวในโครงการนี้ยังต้องได้รับวัคซีนครบโดส และต้องมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบ รวมไปถึงเงื่อนไขการจองโรงแรมในระบบ SHA+ การซื้อประกัน 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ ต้องยื่น COE และต้อง swab หลังเดินทางมาถึงอีกอย่างน้อย 3 ครั้งเช่นเดียวกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ต่างกันที่อยู่ในภูเก็ตแค่ 7 วัน หลังจากนั้นหากไม่พบเชื้อก็สามารถเดินทางไปยังพื้นที่โซนนำร่องได้ จากเดิมที่ต้องอยู่ในเกาะภูเก็ตครบ 14 วัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถาณการณ์ภายในประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อใหม่ทะยานติดท็อป 10 ของโลก และการเกิดคลัสเตอร์แรงงานในจังหวัดนำร่องอย่างภูเก็ต จนต้องออกมาตรการปิดเกาะตลอดเดือนส.ค.มาแล้ว เกิดคำถามว่า “พังงาพร้อมแค่ไหน” และ “จำเป็นหรือไม่” กับการเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญ “Amazing Khao lak - Koh Yao” ในห้วงเวลาเช่นนี้

Hfocus มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณพงศกร เกตุประภากร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา รวมไปถึง สสจ.จังหวัด ผู้ประกอบการและคนในพื้นที่ เพื่อสะท้อนมุมมองและความพร้อม หลังต้องเผชิญกับการไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมานานกว่า 1 ปีครึ่งไม่ต่างจากภูเก็ตก่อนหน้านี้

Economic of hope

“ก่อนเกิดโควิด ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้คิดเป็น 65% ของ GDP จังหวัด แต่ปัจจุบันหลายโรงแรมต้องปิดตัว อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากโรงแรมก็ต้องปิดตัวตาม ทั้งรถ เรือ ร้านอาหาร ห้างร้านต่างๆ การจ้างงานเหลือเพียง 20 % ของที่ผ่านมา เป้าหมายของเราคือจะฟื้นเศรษฐกิจกลับมาให้เร็วที่สุดได้อย่างไร จึงต้องทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป คือ ขาหนึ่งต้องเร่งฉีดวัคซีน กับอีกขาหนึ่งคือการเปิดรับนักท่องเที่ยวเพื่อขยายผลภาคเศรษฐกิจต่อได้”

คุณพงศกร กล่าวถึงความสำคัญในการเปิดโครงการพื้นที่นำร่อง โดยมีจำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้เห็นผลทันหน้าไฮซีซั่นช่วงเดือนพ.ย. เนื่องจากการทำการตลาดหรือสื่อสารไปยังนักท่องเที่ยวข้ามทวีป หรือกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน

“ช่วงนี้คือการเตรียมความพร้อม เป็นการทดสอบระบบและอยากจะให้โรงแรมเริ่มกลับมามีการจ้างงานมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวของห้างร้านในพื้นที่เพื่อว่าวันที่เข้าไฮซีซั่นอย่างเป็นทางการทุกอย่างจะพร้อม เราวางแผนไว้สำหรับ 3-4 เดือนข้างหน้า แต่ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ ไปเริ่มวันที่ 1 พ.ย. จะไม่ทันและหลุดไฮซีซั่นไป”

เดิมทีพังงามีแผนอยากเปิดทั้งจังหวัดแต่ติดปัญหาเรื่องวัคซีนที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้ต้องจำกัดพื้นที่แคบลงเพื่อตีกรอบการได้รับวัคซีนในพื้นที่ 70 % ซึ่งล่าสุดประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา ยืนยันว่า เกาะยาวฉีดไปแล้วเกือบ 100 % ส่วนเขาหลัก (เลยนาใต้จนถึงบ้านน้ำเค็ม) เข็มหนึ่งและสองรวมกันแตะ 72 % พร้อมเตรียมซีลพื้นที่ด้วยการตั้งด่านคัดกรองทั้งหมด 6 ด่าน คือ หัวท้าย และภายในอีก 4 ด่าน โดยคนอยู่นอกพื้นที่จะเดินทางเข้ามาต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มหรือมีผลตรวจเป็นลบ

ขณะที่ทีมดูแล บริหารจัดการระบบก็ได้ทีมงานของภูเก็ตแต่เป็นคนพังงามากำกับดูแล และวางระบบศูนย์บัญชาการที่พังงา โดยมี SHA+ Manager เป็นผู้รับผิดชอบดูแลติดตามนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของพังงา คือ ภูเก็ต สมุย ซึ่งนำร่องเปิดไปก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่โซนขยายอื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเกาะ ซึ่งสามารถควบคุมการเดินทางได้ง่ายกว่าทั้งสิ้น แต่สำหรับเขาหลักเป็นพื้นที่ on land ที่แรก มีความยากและท้าทายมาก ต้องวางแผนเกินไป 3-4 ขั้น เพื่อให้มีแผนรองรับในทุกๆ มิติ ซึ่งหวังว่าจะเป็นโมเดลนำร่องและเป็นความหวังของแหล่งท่องเที่ยว on land อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น หัวหิน ชลบุรี กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น

“ปีนี้ถ้าเราเปิดได้ โอกาสในการจ้างงานในพื้นที่ต่อจะขยายตัวมากขึ้น แต่ถ้าเปิดไม่ได้โอกาสที่โรงแรมหันกลับมาปิดเพื่อประคองตัวเองไว้มีสูง อัตราการตกงานจะสูงมาก เราพยายามเดินหน้าเพื่อให้ลูกหลานชาวพังงาเองยังมีงานทำในพื้นที่ พอคนมีงาน การจับจ่ายในชุมชนจะเริ่มขึ้น เศรษฐกิจก็จะเริ่มกลับมาหมุนเวียน” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา ย้ำพร้อมหวังมีอัตราการเข้าพักโรงแรมในควอเตอร์ 4 อยู่ที่ 20-25% ของช่วงปกติ

ระบบสาธารณสุขพร้อม

ในฐานะผู้รับชอบด้านการควบคุมการแพร่ระบาดและดูแลรักษาผู้ป่วยที่อาจต้องเผชิญเหตุไม่คาดคิดนั้น นายพรศักดิ์ มธุรส รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา ยืนยันว่า โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดจากนักท่องเที่ยวน้อยมาก เพราะมาตรการค่อนข้างรัดกุมแล้ว นักท่องเที่ยวต้องผ่านขั้นตอนหลายด่านก่อนจะเข้ามาในพื้นที่ พร้อมเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอีกด้วยการแนะนำนักท่องเที่ยวให้ใช้บริการรถโดยสารหรือสถานประกอบการมาตรฐาน SHA+ หากออกจากโรงแรม และยังมีระบบติดตามที่สามารถมอนิเตอร์และไล่ไทม์ไลน์เข้าสู่กระบวนการควบคุมได้อย่างรวดเร็ว โดยความกังวลอยู่ที่คนในประเทศมากกว่า แต่ก็มีการวางแผนเตรียมรับมือไว้อย่างเต็มที่แล้ว

“ตอนนี้ทั้งจังหวัดสามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 600 กว่าเตียง โดยแบ่งเป็นโรงพยาบาลหลัก 2 แห่งคือโรงพยาบาลพังงาและโรงพยาบาลตะกั่วป่า ส่วนที่เหลือเป็นโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลสนาม และอยู่ระหว่างการจัดตั้งรพ.สนามเพิ่มอีก 114 เตียงที่ศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรมวัฒนธรรม และประเพณีแห่งอันดามัน ซึ่งแบ่งเป็นโซนกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองจำนวน 24 เตียง และผู้ป่วยสีเขียวอีก 90 เตียง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้”

นอกจากนี้ ยังมีส่วนของพังงาเบย์ รีสอร์ท ที่พร้อมจะเปิดเป็น hospital เพิ่มเติมอีกโซนนอกเหนือจากบางส่วนที่เป็น LQ อยู่แล้วในกรณีที่มีการระบาดเพิ่ม เป็นแผนสำรองที่มีการวางเรื่องบุคลากรและอุปกรณ์ไว้หมดแล้ว ในส่วนของนักท่องเที่ยวก็มีการประสานกับทางโรงพยาบาลเอกชนภูเก็ตเป็นแผนสำรองด้วย หากเจ้าตัวซึ่งมีประกันอยู่ต้องการย้ายสถานพยาบาลก็สามารถส่งตัวไปได้ ส่วนโรงแรมสำหรับกักตัวกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงกรณีนักท่องเที่ยวในกรุ๊ปติดเชื้อ หรือ ALQ นั้นมีการจัดเตรียมไว้ที่ The Leaf Oceanside by Katathani Resort ของโซนเขาหลัก และโรงแรมสันธิญา สำหรับเกาะยาว

สำหรับจุดให้บริการตรวจโควิด-19 หรือ swab สำหรับนักท่องเที่ยวในโครงการจะมีทั้งหมด 4 จุด แบ่งเป็นบนเกาะยาว 3 จุดคือ โรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์บนเกาะยาวน้อย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพรุในและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะยาวใหญ่ เนื่องจากโรงแรมกระจายโดยจะส่งผลไปตรวจที่โรงพยาบาลพังงา ส่วนเขาหลักใช้ศูนย์การแพทย์เขาหลัก และส่งผลไปตรวจที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า

ถึงนักท่องเที่ยวน้อยแต่ต้องทำ

“ผมมองว่าถ้าเราไม่เริ่มอะไรเลย หรือไม่ส่งข่าวไปเลยว่าทางเรามีการทดสอบระบบ หรือมีความพร้อมแล้ว ซีซั่นนี้ต่างชาติจะไม่กลับมาเขาหลักแน่ เขาหลักอาจจะมีจำนวนห้องหลักหมื่น แต่มีความเป็นไปได้ที่นักท่องเที่ยวโครงการ 7+7 จะเข้ามาแค่ 30-100 คน ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับโรงแรมที่มี แต่เป็นจำนวนที่ควบคุมได้ และต้องผ่านการตรวจถึง 3-4 ครั้ง มีความปลอดภัยกว่าคนกรุงเทพที่มาเที่ยวในจังหวัดเสียอีก ถ้าไม่ทำเลยก็ไม่ได้เรียนรู้ระบบความผิดพลาด และหากมีการใช้ระบบควบคุมที่วางไว้อย่างจริงจังได้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี” ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียน Better Surf Thailand เห็นด้วยกับการเปิดโครงการ

เจ้าของโรงเรียนสอนโต้คลื่นชื่อดังแห่งเขาหลัก เชื่อว่า ถ้าซีซั่นนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนไทยมาเลยหลังจากนี้ จะมีโรงแรมล้มอีกมากจากตอนนี้ที่ปิดชั่วคราวแบบไม่มีกำหนดเปิดประมาณ 60 % แล้ว เมื่อโรงแรมล้ม พนักงานก็จะตกงานกันหมด กระทบไปถึงห่วงโซ่ของอำเภอตะกั่วป่าที่มีประชากรกลุ่มใหญ่ทำงานด้านโรงแรม และเมื่อพวกเขาไม่มีรายได้ก็จะทำให้ไม่มีเงินไหลเวียนในระบบ สังเกตได้จากร้านอาหารท้องถิ่นต่างๆมีลูกค้าน้อยลงชัดเจนมาก

เช่นเดียวกับ เลิศศักดิ์ ปนกลิ่น เจ้าของบริษัท เขาหลักวันเดอร์แลนด์ ทัวร์ ที่ไม่กังวลกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาตามโครงการ เพราะไม่ได้ผ่านเข้ามาง่ายๆ และมาด้วยความสมัครใจและถูกต้องทุกอย่าง

“เราควรกลัวคนที่หลบหนีเข้ามาโดยไม่ได้มีการสกัดกั้นมากกว่า ถ้าได้ศึกษารายละเอียดโครงการจริงๆ นักท่องเที่ยวมีโอกาสแพร่ระบาดน้อยมาก ถ้าดูจากภูเก็ตถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากแค่ 0.26% แต่เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อของจังหวัดแล้วอาจหวาดหวั่นเพราะมีคนติดเยอะ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นการระบาดภายในจากกลุ่มแรงงานที่ไม่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยว อีกอย่างเขาต้องผ่านด่านอรหันต์มาหลายด่านกว่าจะเข้ามาในพื้นที่ จึงเชื่อว่าค่อนข้างปลอดภัย”

“ยังไงเราก็หนีการเปิดรับนักท่องเที่ยวไม่พ้นอยู่แล้ว และการที่โรงแรมได้ไม่ได้คนเดียว แต่ยังไปถึงพนักงาน พ่อค้าแม่ขายที่โรงแรมซื้อของเข้า มันช่วยพยุงเศรษฐกิจทั้งนั้น ทำให้มีความหวังและเห็นโอกาส แต่ฝากให้โรงแรมและผู้เกี่ยวข้องเคร่งครัดในกฎระเบียบและการติดตามนักท่องเที่ยว และอนาคตถ้าเป็นไปได้การเข้ามา 7 วันหลังอยากให้ลดเงื่อนไขความยุ่งยากน้อยลง เพราะเขาผ่านการตรวจมาหลายขั้นตอนแล้ว เพื่อให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอยากมาเที่ยวมากขึ้น หาวิธีที่ง่ายขึ้นแต่ปลอดภัย” เลิศศักดิ์ กล่าว

ขณะที่เจ๊เร เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเรือในชุมชนบางเนียง ยอมรับว่ายังไม่ทราบว่ามีการเปิดเมืองเขาหลัก-เกาะยาวแล้ว แต่ถือเป็นเรื่องดีมาก หลังได้รับผลกระทบยอดขายตก รายได้ไม่เพียงพอกับค่าเช่าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เนื่องจากหลายกิจการต้องปิดตัวลง ผู้ประกอบการและลูกจ้างในธุรกิจท่องเที่ยวที่เคยเป็นลูกค้าหลักไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ต้องกลับบ้านไปจำนวนไม่น้อย

“ถามว่ากลัวมั้ย ไม่กลัวเพราะนักท่องเที่ยวที่มาฉีดวัคซีนมาแล้ว เราเองก็ฉีดแล้ว ไม่มีอะไรต้องกลัว แต่อยากเห็นบรรยากาศความเคลื่อนไหวในชุมชนกลับมามากกว่า ไม่ใช่เงียบเหงาเหมือนเมืองร้างแบบนี้ นี่มันยิ่งกว่าตอนสีนามิเสียอีก ตอนนั้นผ่านไปไม่กี่เดือนคนก็เริ่มกลับมาฟื้นฟูกันใหม่ แต่นี่ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้วยังไม่มีอะไรดีขึ้น และยังไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ถึงเราจะไม่ได้ประโยชน์โดยตรง แต่อยากให้พนักงานกลับมารายได้ มีงานทำ เพราะเมื่อพวกเขามีเงินมาใช้จ่าย ชุมชนก็ได้ ทุกอย่างก็ดีขึ้น”

หวั่นความพร้อมรับมือการระบาด

หลังจากต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและต้องปรับตัวแล้วปรับตัวอีกมาเกือบ 2 ปี ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อโอกาสในการสร้างรายได้ แต่ส่วนหนึ่งยังมีไม่มั่นใจในความพร้อมด้านการจัดการ รวมถึงมาตรการควบคุมและรับมือด้านสุขภาพกรณีมีการแพร่ระบาดภายในเกิดขึ้นเหมือนเช่นภูเก็ต

“ผมมีร้านคาเฟ่ ต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่อยากให้ภาครัฐสร้างความมั่นใจใน 3 เรื่อง คือ 1. การฉีดวัคซีน 70 % ในพื้นที่นำร่อง และการควบคุมการเข้า-ออกในโซนดังกล่าว 2.การสร้างความเชื่อมั่นเรื่องเตียงและยารักษา และ 3.ความพร้อมของทีมงาน เพราะห่วงว่าจะไม่ประสบความสำเร็จหากไม่พร้อมใน 3 เรื่องนี้ตามที่ผู้ออกแบบโครงการแซนด์บ็อกซ์ (ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต) ตั้งคำถามไว้” จินต์ สถาพรสถิตย์สุข เจ้าของร้าน Garang Artisan Icecream กล่าว

เจ้าของร้านคาเฟ่หาดบางสัก ยืนยันว่า ถ้ามีการตรวจเชิงรุก ระบบการจัดการด้านสาธารณสุขสามารถแยกกักตัวได้รวดเร็ว มีเตียงและยาพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งรู้ว่าจะได้รับวัคซีนดีๆ เมื่อไหร่และผู้คนมีความมั่นใจมากพอ ทุกคนพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่และมีโอกาสประสบความสำเร็จ

ด้าน จันจิรา แซมพันธ์ ผู้ประกอบการร้านอาหาร เห็นด้วยกับการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน เพราะถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่เต็มที แต่อดกังวลกับปัญหาเรื่องระบบการจัดการ การดูแลบริหารสถานการณ์ภายใน เพราะทุกวันนี้ยังมีบางคนบางกลุ่มที่เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงและนำเชื้อเข้ามาแบบไม่มีความรับผิดชอบ หลุดรอดจากการตรวจ ซึ่งหากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดขึ้นมาจากการเคลื่อนที่มากขึ้นก็หวั่นจะซ้ำเติมความยากลำบากขึ้นไปอีก

“นักท่องเที่ยวไม่น่าห่วง เขาเดินทางมาก็ไม่อยากมาสร้างภาระหรือติดเชื้อกลับไป แต่ความประมาทเลินเล่อของคนไทยด้วยกันเองนี่แหละน่าเป็นห่วง ยิ่งบางคนฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้วก็ประมาท แต่ความเป็นจริงฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดได้ ยังต้องป้องกันตัวเอง”

เจ้าของกิจการร้านนวดและร้านอาหารหน้าหาดคึกคักที่ปิดยาวมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ยังเผยด้วยว่า คงยังไม่กลับมาเปิดร้านต้อนรับนักท่องเที่ยวตามโครงการ เพราะคงสู้ค่าใช้จ่าย ค่าน้ำค่าไฟ ภาษีต่างๆ ที่จะมีเข้ามาไม่ไหว เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา ซึ่งไม่เพียงพอแน่นอน ประกอบกับปัญหาในการตัดสินใจเดินทางมาของนักท่องเที่ยวไม่ได้มีแต่สถานการณ์โควิดในประเทศไทยเท่านั้น แต่เท่าที่ได้คุยกับลูกค้าเก่า ยังมีเรื่องของการเมืองด้วยจากการได้พูดคุยกับลูกค้าต่างชาติ

เงื่อนไขการพิจารณาชะลอ-ยุติโครงการ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงมีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาชะลอ หรือยุติโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7 ส่วนของจังหวัดพังงาภายใต้แคมเปญ “Amazing Khao lak - Koh Yao”

1.จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากกว่า 60 ราย/สัปดาห์

2.ลักษณะการกระจายโรคทั้ง 3 อำเภอและมากกว่า 6 ตำบล

3.มีผู้ติดเชื้อครองเตียงมากกว่า 80% ของศักยภาพจังหวัด

4.มีการระบาดมากกว่า 3 คลัสเตอร์สหรือมีการระบาดในวงกว้างโดยหาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้

5.มีการพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้าง ควบคุมไม่ได้

ทั้งนี้มาตรการจะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ปรับลดกิจกรรม เที่ยวในเส้นทางที่กำหนด ทำกิจกรรมในพื้นที่ที่พัก และยุติโครงการ