ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข แจงวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ ย้ำ! ใช้เป็นสูตรไขว้กับแอสตร้าเซนเนก้าได้ภูมิคุ้มกันสูงในเวลารวดเร็ว แม้แต่องค์การอนามัยโลกยังซื้อไปฉีดหลายร้อยล้านโดส ราคาจัดซื้อลดลงตามปริมาณซื้อเฉลี่ย 11.99 เหรียญ ยืนยันไม่มีส่วนต่าง พร้อมเผยสาเหตุไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่แรก

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 31 ส.ค.2564 ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน รัฐสภา กทม. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวชี้แจงกรณีข้อสงสัยในการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ส่วนต่างและการเข้าร่วมโคแว็กซ์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยนำวัคซีนซิโนแวคมาใช้ครั้งแรกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งการนำมาใช้ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย จากการศึกษาประสิทธิภาพในสถานการณ์จริงพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่าช่วยลดการระบาดของโรค มีเอกสารวิชาการยืนยัน และเมื่อมีการระบาดในบุคลากรทางการแพทย์ ที่ จ.เชียงราย พบว่า วัคซีนซิโนแวคช่วยลดการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของโรคอย่างมีนัยสำคัญประมาณ 70-80% ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใดที่ป้องกันโควิดและป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% อย่างวัคซีนไฟเซอร์ที่ฉีดในอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวางก็มีการระบาดจากเชื้อกลายพันธุ์ แต่วัคซีนทุกชนิดยังมีประสิทธิผลที่ดีในการลดป่วยหนักและเสียชีวิต

นพ.โอภาส กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตาทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลงทุกตัว ประเทศไทยจึงมีการหาวิธีเพิ่มภูมิคุ้มกัน ด้วยการฉีดสูตรไขว้ คือ ซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ สร้างภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่สามารถฉีดครบ 2 เข็มได้รวดเร็วกว่า ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการตรงกันทั้งนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดหาวัคซีนซิโนแวคเข้ามา

“ดังนั้น การระบุว่าการฉีดวัคซีนไขว้อันตรายโดยไม่มีข้อมูลวิชาการ และไม่มีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่เรื่องจริง ต้องชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะประชาชนอาจกังวลและไม่กล้ามารับวัคซีน อาจกระทบต่อระบบการควบคุมโรคได้ ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลกมีการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคหลายร้อยล้านโดสเพื่อฉีดคนทั่วโลก เป็นการยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ” นพ.โอภาส กล่าว และว่า มาถึงจุดนี้ อย่าด้อยค่าวัคซีนกันเลย เพราะวัคซีนชนิดนี้ ช่วยให้เรามาตั้งแต่ต้นปี ในการควบคุมการระบาด จากนี้ เราจะเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีนซิโนแวค เนื่องจากทางบริษัทไม่มีตัวแทนในประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ระหว่างรอวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนที่ระบุว่าประเทศไทยซื้อซิโนแวคราคาแพง 17 เหรียญนั้น เป็นราคาในล็อตแรก 2 ล้านโดส หากเทียบกับประเทศบราซิลและอินโดนีเซียที่มีราคาถูกกว่านั้น เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นพื้นที่ในการวิจัย มีการซื้อวัคซีนเข้ามาจำนวนมากและเป็นแบบนำมาบรรจุเองทำให้ราคาถูกกว่าประเทศไทยที่ซื้อแบบสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการเจรจาต่อรองราคาและสั่งซื้อต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดราคาลงได้ จาก 17 เหรียญ เหลือ 8.9 เหรียญ เฉลี่ยคือ 11.99 เหรียญ

“ส่วนกรณีที่มีการระบุว่ามีส่วนต่างในการจัดซื้อนั้น ยืนยันว่าไม่จริง เนื่องจากการซื้อวัคซีนนั้น องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ไปลงทุนซื้อโดยใช้เงินองค์การเภสัชกรรม เมื่อได้วัคซีนแล้วจึงขายให้แก่กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นผู้ดูแลกรอบวงเงินงบประมาณจัดซื้อ โดยเรียกเก็บราคารวมค่าดำเนินการและขนส่งตามความเป็นจริง จึงไม่มีการได้รับส่วนต่างจากกรอบวงเงินที่ตั้งไว้แต่อย่างใด” นพ.วิฑูรย์ กล่าว

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์

ด้านนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีการจองซื้อตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 กับผู้ผลิตตั้งแต่ก่อนได้ผลการทดลอง โดยมีเงื่อนไขและมีโอกาสที่จะไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับล่าช้า ซึ่งวัคซีนทุกตัวและทุกประเทศ รวมถึงโครงการโคแวกซ์ ก็เป็นการทำสัญญาในลักษณะการจองซื้อล่วงหน้าเช่นกัน ต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันระหว่างรอผลวิจัยพัฒนา จึงไม่ใช่การทำสัญญาเสียเปรียบ เนื่องจากไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่มีวัคซีนพร้อมให้สั่งซื้อ

นพ.นคร กล่าวอีกว่า ส่วนการที่ไม่จองซื้อวัคซีนผ่านโครงการโคแวกซ์ เนื่องจากเราพิจารณาตามสถานการณ์ขณะนั้น ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วคาดว่าจะส่งมอบวัคซีนล่าช้าและไทยเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจ่ายเงิน ไม่ได้รับวัคซีนฟรี ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 139 ประเทศที่เข้าร่วมโคแวกซ์มีการส่งวัคซีนไปแล้ว 224 ล้านโดส แต่จากการเจรจาโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตทำให้ได้รับวัคซีนจำนวนมากกว่าและแน่นอนกว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 30 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม หากโครงการโคแวกซ์มีสถานการณ์ดีขึ้น เงื่อนไขต่างๆ เหมาะสมก็จะพิจารณาเข้าร่วมได้ในเวลาถัดไป

นพ.นคร เปรมศรี