ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แนะใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) สนับสนุนกิจกรรมศูนย์พักคอยเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนได้ เผยเตรียมตัวอย่างโครงการให้แต่ละเขตใน กทม.ไว้เรียบร้อยแล้ว หากมีกลุ่มประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนใจและผู้อำนวยการเขตอนุมัติก็นำเงินไปใช้ได้เลย

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการนำเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) มาใช้ในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า กองทุน กปท. เป็น Matching Fund ที่ สปสช.จัดสรรให้แก่ท้องถิ่นต่างๆ โดยแต่ละท้องถิ่นจะสมทบเงินเข้าไปในกองทุนนี้ด้วยตามศักยภาพและขนาดของท้องถิ่น ซึ่งในช่วงที่จำนวนคนไข้ล้นโรงพยาบาล ต้องนำแนวทางการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) มาใช้แล้ว หลายพื้นที่ก็มีการจัดตั้ง Community Isolation, ศูนย์พักคอย เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยที่ไม่สะดวกในการกักตัวที่บ้านหรือใช้เป็นที่พักเพื่อรอส่งตัวเข้าโรงพยาบาลต่อไป

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ในส่วนนี้ แต่ละท้องถิ่นสามารถนำเงินจากกองทุน กปท. มาใช้สนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของศูนย์พักคอย การบริหารจัดการขยะติดเชื้อ การจัดหาหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของ กทม.นั้น ในแต่ละเขตจะมีกองทุน กปท.เป็นของตัวเอง สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้โดยไม่ต้องรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ดังนั้น หากชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความต้องการนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการดูแล ป้องกันผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถเขียนโครงการเสนอคณะอนุกรรมการระดับเขตพิจารณาได้ ซึ่งทาง สปสช. ก็ได้จัดทำตัวอย่างโครงการที่สามารถนำเงินไปใช้ได้กระจายไปยังเขตต่างๆแล้ว หากมีผู้ต้องการนำแนวทางโครงการเหล่านี้ไปใช้และผู้อำนวยการเขตอนุมัติก็สามารถนำเงินไปใช้ได้เลย

นพ.อภิชาติ กล่าวอีกว่า การร่วมมือร่วมใจของชุมชนในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญ หลายๆพื้นที่ใช้โมเดลบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ในการจัดตั้งศูนย์พักคอยหลายแห่งทั่วประเทศ เฉพาะใน กทม.ก็มีมากกว่า 10 วัด ล่าสุดคือที่วัดหงส์รัตนารามวรวิหาร ซึ่งลักษณะพื้นที่คือมีชุมชนโดยรอบก็อยู่กันหนาแน่น ประมาณ 700 หลังคาเรือน ก็ได้เปิดศูนย์พักคอยเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อทั้งในส่วนของภิกษุสงฆ์และประชาชนทั่วไป ภายใต้การสนับสนุนจากชุมชน กระทรวงสาธารณสุข สปสช. กทม. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยในอาคารของวัดรองรับพระสงฆ์ที่ติดเชื้อและอาคารของโรงเรียนวัดหงส์ฯในการรองรับประชาชนทั่วไป

"ผมอยากเห็นแบบนี้ทุกวัด โมเดลลักษณะนี้ ทางวัดและชุมชนโดยรอบต้องทราบว่ากำลังทำอะไรและเห็นพ้องต้องกัน บางพื้นที่วัดมีศักยภาพแต่ชุมชนไม่เห็นด้วย ซึ่งอันที่จริงแล้วการมีศูนย์พักคอยในชุมชนไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ในทางกลับกัน ถ้าไม่สร้างศูนย์พักคอยแล้วปล่อยให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในชุมชนจะน่ากลัวกว่า นอกจากนี้แล้วสถานที่ตั้งก็ต้องแยกเฉพาะ มีห้องน้ำอำนวยความสะดวกรองรับคนจำนวนมากด้วย" นพ.อภิชาติ กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org