ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. รวบรวม 12 คำถาม ที่พบเจอบ่อยตอบข้อสงสัยให้ปชช. เพื่อทำความเข้าใจ ก่อนรับชุดตรวจ ATK ผ่านแอพ ‘เป๋าตัง’

1. หากต้องการขอรับชุดตรวจ ATK ต้องทำอย่างไรบ้าง?

คำตอบ
1) ทำแบบประเมินความเสี่ยงผ่านแอพเป๋าตังก่อนหากผลมีความเสี่ยงจึงเริ่มค้นหาหน่วยบริการใกล้ฉัน

2) ไปรับชุดตรวจ ATK ภายในวันนั้นเนื่องจากแบบประเมนิมีอายุ 1 วัน

2. ต้องการค้นหาหน่วยบริการแจก ATK จะทำได้อย่างไร?

คำตอบ : ค้นหาหน่วยบริการโดยใช้เมนูหน่วยบริการใกล้ฉันเพื่อโทรศัพท์สอบถามชุดตรวจคงเหลือหรือการเดินทาง

3. ค้นหาหน่วยบริการได้ไกลแค่ไหน?

คำตอบ : ระยะทางการค้นหาอยู่ที่ 50 กิโลเมตร แสดงผลตามลำดับจากใกล้สุดก่อน

4. ถ้าหากไม่มีมือถือสมาร์ทโฟนต้องทำอย่างไร?

คำตอบ

1) กรณีอยู่ในชุมชนสอบถามจาก อสม. หรือ อสส.

2) ไปขอรับได้ที่ รพ. และ รพ.สต. ที่เข้าร่วมโครงการ  สามารถเช็ครายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการได้ที่นี่  https://www.nhso.go.th/page/atk

หรือสังเกตจากสติกเกอร์หน้าร้านที่ระบุว่าเป็นชุดแจก ATK ฟรีให้ประชาชนตรวจโควิดด้วยตนเอง

*หมายเหตุ หากไปขอรับแจก ATK ที่คลินิกและร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการเฉพาะผู้ที่มีมือถือสมาร์ทโฟนเท่านั้น

5. ได้รับชุดตรวจแล้วต้องทำอย่างไร?

คำตอบ

1) นำชุดตรวจที่ได้รับกลับมาตรวจที่บ้านด้วยตนเอง
2) โดยศึกษาการใช้งานได้จากเมนูวิธีใช้ชุดตรวจและเมนูวิธีการอ่านผลตรวทก่อนเพื่อความถูกต้องในการตรวจ
3) บันทึกผลการตรวจทันทีผ่านเมนู บันทึกผลตรวจ

6. หากได้ชุดตรวจ 2 ชิ้นควรใช้อย่างไร?

คำตอบ : เนื่องจากผู้ขอรับชุดตรวจมีความเสี่ยงเมื่อกลับถึงบ้าน ควรตรวจทันที หากผลเป็นลบไม่พบเชื้อควรเว้นระยะ 5 วันเพื่อตรวจซ้ำด้วยชุดตรวจที่เหลือ แต่หากผลตรวจเป็นบวก(ติดเชื้อโควิด19) ให้บันทึกผลผ่านเมนู บันทึกผลตรวจ ทันที

7. การบันทึกผลตรวจจำเป็นหรือไม่?

คำตอบ : การบันทึกผลตรวทเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อทำการตรวจหาเชื้อแล้วควรบันทึกผลทันที และเป็นหนึ่งเงื่อนไข หากไม่บันทึกผล จะไม่สามารถรับชุดตรวจในครั้งถัดไปได้

8. การขอรับชุดตรวจเพิ่มได้อีกหรือไม่?

คำตอบ : เงื่อนไขคือได้รับครั้งละ 2 ชุดสำหรับใช้ตรวจเว้นระยะ 5 วัน เพื่อตรวจซ้ำและขอรับใหม่ได้ในวันที่ 10 ถัดจากวันที่ขอรับล่าสุด เช่น รับชุดตรวจ 1 ตุลาคม ขอรับได้อีกครั้งในวันที่ 11 ตุลาคม เป็นต้น

9. หากพบว่าติดเชื้อต้องทำอย่างไร?

คำตอบ : เมื่อกดบันทึกผลแล้ว จะมีข้อมูลแนะนำให้เลือกการลงทะเบียนดูแลที่บ้านหรือ Home isolation ของ สปสช. โดยสามารถเลือกได้ 2 แบบ คือ

1) ลงทะเบียนรักษาตัวที่พักปัจจุบัน
2) ลงทะเบียนรักษาตัวที่ภูมิลำเนา

*หมายเหตุ : กรณีจังหวัดที่ท่านพักอาศัยยังไม่มีการจัดบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน ระบบจะรวบรวมรายชื่อส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกวัน เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

10. หลังพบเชื้อสามารถขอรับชุดตรวจได้อีกหรือไม่?

คำตอบ : หลังบันทึกผลว่าพบเชื้อ จะยังไม่สามารถขอรับชุดตรวจได้ จะเว้นระยะที่ 90 วัน นับจากวันที่บันทึกผลตรวจว่าพบเชื้อจึงจะกลับมาขอรับชุดตรวจได้อีกครั้ง การเว้นระยะ 90 วันนั้น มาจากเมื่อหายจากโรคแล้วจะมีภูมิที่ค่อนข้างสูง จึงมีความเสี่ยงน้อยลงที่จะเกิดการติดเชื้อซ้ำในช่วงเวลาดังกล่าว

11. หากชุดตรวจแปลผลไม่ได้จะทำอย่างไร?

คำตอบ : ไปที่เมนูบันทึกผลตรวจ เลือกแปลผลไม่ได้ และจะยังไม่สามารถนำชุดตรวจที่ใช้แปลผลไม่ได้ไปแลกชุดใหม่ แต่สามารถทำแบบประเมินความเสี่ยงใหม่ เพื่อรอรับชุดตรวจเพิ่มเติมได้อีก 10 วัน ถัดจากการรับครั้งก่อน

12. วิธีการลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา?

1) ลงทะเบียนรักสาตัวที่พักปัจจุบัน (Home isolation)

https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI

2) ลงทะเบียนรักสาตัวที่ภูมิลำเนา

https://crmdci.nhso.go.th/

 ทั้งนี้ระบบของ สปสช. จะจับคู่หน่วยบริการเพื่อการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหลังบันทึกข้อมูลครบถ้วนสามารถเช็คผลการจับหาหน่วยบริการของท่านได้ที่

https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHiSearch

โดยใช้เลขประจำตัวประชาชนหรือเลขหนังสือเดินทางไทยและเบอร์โทรผู้ป่วย


หมายเหตุ  : กรณีจังหวัดที่ท่านพักอาศัย ยังไม่มีการจัดบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน ระบบจะรวบรวมรายชื่อส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกวัน เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

สอบถามเพิ่มเติมสายด่วน สปสช.  1330 กด 17  (ประชาชนสอบถามการขอรับ ATK ตรวจโควิดด้วยตนเอง)

ข้อมูลจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org