ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กรณีหากมีโรคระบาดร้ายแรงไม่ต้องออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เน้นความมั่นคง พร้อมเพิ่มหมวดการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ยกเว้นความผิดเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งปฏิบัติงาน ไม่ได้นิรโทษกรรมฝ่ายบริหารแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว และเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการกรณีโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่หรือโรคติดต่ออุบัติซ้ำ ซึ่งต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)

น.ส.รัชดา  กล่าวว่า ในส่วนบทบัญญัติคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ร่างพ.ร.ก.ฯ กำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ซึ่งได้รับมอบหมายหรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก

“ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดร้ายแรง ก็ไม่ต้องออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีสาระหลักที่เน้นไปในเรื่องของความมั่นคง ถ้าในกรณีที่มีโรคติดต่อร้ายแรงเช่นนี้ก็จะใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน จะได้มีความเหมาะสมในการบริหารจัดการมากขึ้น และประเด็นที่สำคัญที่มีการจับจ้องกันอยู่ว่า สาระของ พ.ร.ก.ฉบับนี้จะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายบริหารหรือไม่ ตามที่มีการเขียนถึงในโลกออนไลน์ ก็ต้องขอย้ำว่าสาระของพ.ร.ก.ฉบับนี้ต้องการที่จะคุ้มครองดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฎิบัติหน้าที่โดยสุจริต โดยสาระกำหนดว่า กำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ ให้แก่เจ้าพนักงานคุ้มครอง พนักงานควบคุมโรคติดต่อกและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดซึ่งได้รับมอบหมาย หรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ปฎิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ไม่มีเนื้อหาสาระใดที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายบริหาร เป็นการดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติหน้าที่โดยสุจริต เช่น เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ช่วย อสม. รวมถึงพนักงานกู้ภัย เจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติในโรงพยาบาลสนาม ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย” น.ส.รัชดากล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : นับถอยหลังใช้ พ.ร.ก.โรคติดต่อ แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปรับโครงสร้างบริหารคกก.ควบคุมโรคฯ มีนายกฯเป็นประธานสั่งการ)

นอกจากนี้นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล เปิดเผยแถลงว่า ที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2564โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ1. ม.33 แบ่งเป็น ฝ่ายนายจ้าง เดิมส่งเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคม เดือนละ 5% ของค่าจ้างลูกจ้าง จะลดลงเหลือ 2.5% เช่นเดียวกันส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 เดิมส่ง 5% เหลือเพียง 2.5 % ต่อเดือน 2. ผู้ประกันตนมาตรา 39 จากเดิมจ่ายเดือนละ 432 บาท ลดลงเหลือ 235 บาท มีระยะ 3 เดือน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org