ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยการทำงาน อสม.กับภารกิจช่วยผู้ป่วยโรคไตในภาวะวิกฤตโควิดและภัยน้ำท่วม จัดทีมดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่บ้าน ผนึก “สปสช.-ไปรษณีย์” ส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้าน ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมขัง  

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ได้ลงพื้นที่ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย ทพ.อรรถพร  ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เพื่อติดตามความก้าวหน้า ในการช่วยเหลือ “ผู้ป่วยล้างไตช่องท้อง” ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จ.สิงห์บุรี โดย ทพ.อรรถพร   ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. ได้ประชุมเพื่อประเมินและติดตาม สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดูแลและช่วยเหลือภายใต้บทบาทของ สปสช. โดยเฉพาะใน พื้นที่เขต 2 เขต 4 และเขต 9 โดยการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาต่อเนื่อง และผู้ป่วยฉุกเฉินที่หน่วยบริการเกิดภาวะน้ําท่วม ที่ผ่านมา สปสช. ได้ออกประกาศให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการใดก็ได้ โดยให้ถือเป็นกรณีฉุกเฉินเพื่อ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่ประสบอุทกภัยในด้านบริการสาธารณสุข

ส่วนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD) และ ผู้ป่วยล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ สปสช. ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด เนื่องจาก มีภาวะที่ต้องล้างไตอย่างต่อเนื่อง ตามที่ สปสช. ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และบริษัทไปรษณีย์ ไทยดิสทริบิวชั่น จํากัด (ปณท.คบ.) จัดระบบการจัดส่งน้ํายาล้างไต ยาและเวชภัณฑ์ถึงบ้านผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วย CAPD และ APD ทั้งในภูมิภาคที่ห่างไกล กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้ง ในช่วงสถานการณ์ปกติ การรองรับกรณีเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ สถานการณ์โรคติดต่อ เป็นต้น ทํา ให้ในช่วงภาวะอุทกภัยขณะนี้ ภาพรวมการจัดส่งน้ํายาล้างไตยังคงสามารถดําเนินการต่อไปได้

ด้านนางวันเพ็ญ แพมิ่ง อายุ 57 ปี ในฐานะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ต.บ้านประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เล่าว่า เป็น อสม. มาแล้ว 10 กว่าปี หน้าที่หลักๆ คือคอยดูแลเป็นกระบอกเสียงให้คนในหมู่บ้าน ซึ่ง อสม. 1 คนจะดูแลลูกบ้านที่ตนเองรับผิดชอบประมาณ 10-15 หลังคาเรือน อาทิ ดูแลผู้สูงอายุ ป่วยติดเตียง ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ตลอดจนหลังคลอด พร้อมทั้งให้ความรู้และข้อมูล เพื่อให้เข้าใจสาเหตุของโรคและวิธีป้องกันรักษาโรคเช่น ไข้เลือดออก และ ล่าสุดคือโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์น่ำท่วมที่ทำให้เรามีหน้ารับผิดชอบมากขึ้น ทำงานหนักเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งในเรื่องการเข้าถึงการรักษา การส่งยาเป็นประจำ และสิ่งสำคัญคือ ความสะอาด ฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับน้ำท่วมครั้งนี้  ฯลฯ

แต่เราโชคดีที่มีหน่วยงานต่างๆที่เข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงไปรษณีย์ที่ทำการจัดระบบส่งน้ำยาล้างไตได้ต่อเนื่องให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน  โดยมีการขนส่งทางเรือ ซึ่งในแต่ละครั้งจำนวนการส่งจะอยู่ประมาณ 18 กล่องต่อผู้ป่วย 1 คน  เรา อสม.ก็จะติดตามไปด้วย ซึ่งการขนส่งอาจจะใช้เวลาและมีความยากลำบากแต่เราก็เต็มใจช่วยเหลือผู้ป่วยในชุนชนอย่างเต็มที่

สำหรับอีกเรื่องที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือ ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง เพราะถ้ามีแผลต้องคอยทำความสะอาดเพื่อไม่ให้เกิดแผลกดทับ และต้องคอยวัดไข้ วัดความดัน เจาะเลือด ถ้ามีไข้สูงๆ ก็ต้องพาไปพบแพทย์ พบหมอประจำตำบล หรือ โรงพยาบาล นอกจากนี้ยังคอยดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้ได้ตรวจสุขภาพประจำปี ถ้ามีประชาชนเจ็บป่วยก็จะนำเข้าระบบสู่การรักษา

นางวันเพ็ญ กล่าวอีกว่า เมื่อก่อนจะมีการประชุมประจำเดือน ทุกวันที่ 7 ของทุกเดือน แต่ตอนนี้ไม่ได้ประชุมเพราะมีการติดเชื้อโควิด-19 และการเดินทางที่ยากลำบากเนื่องจากมีน้ำท่วม  แต่เราก็ยังมีการพูดคุยวางแผนการทำงานกันอยู่ตลอด อสม. จะเน้นการให้ความรู้และให้ข้อมูล ช่วยให้ชาวบ้านเข้าใจสาเหตุของโรคและวิธีป้องกันรักษาโรค เช่น  ไข้เลือดออก พิษสุนัขบ้า และมาลาเรีย ซึ่งเป็นบทเรียนที่ได้นำมาปรับใช้กับโรคโควิด-19

สำหรับหน้าที่อีกอย่างคือ อสม.จะไปเคาะตามประตูบ้านทุกหลังเพื่อให้คำแนะนำเรื่องการป้องกันโรคโควิด-19 และการดูแลผู้ป่วยโรคไต อย่างถูกวิธีและปลอดภัย คอยสังเกตตนเอง  นอกจากนี้ยังมีการแจกหน้ากากซึ่งพวกเขาเย็บเอง ตลอดจนแจกแอลกอฮอล์เจลและใบปลิว ช่วงที่ประเทศไทยมีการระบาดสูง พวกเขาได้รับหน้ากากและเฟสชิล์ด ถุงขยะอันตรายและแอลกอฮอล์เจลเพื่อปกป้องตนเอง

“อสม.หนึ่งคนดูแล 10 ครอบครัว รวมถึงครอบครัวเราเองด้วย” เราได้ทำงานเพื่อชุมชนมา 10 กว่าปี  “เราผูกพันกับบ้านเกิดและชุมชนของเรามาก ถ้าคิดอย่างนี้จะช่วยให้เราผ่านเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ในแต่ละวัน” นางวันเพ็ญ กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org