ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อถึงเดือนกันยายน บางประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดีมาก่อน หรือพยายามที่จะทำให้อัตราการติดเชื้อเป็นศูนย์ (0) เริ่มที่ควบคุมไม่ได้ หลังจากพบคลัสเตอร์ใหม่ๆ แล้วจำกัดการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้างไปได้และยังยืนยันที่จะใช้นโบาย "โควิดเป็นศูนย์" ระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ต้องพบคลัสเตอร์ครั้งแล้วครั้งเล่า จนในบางกรณีกลายเป็นการระบาดที่รุนแรง ประเทศเหล่านี้จึงเริ่มที่เปลี่ยนนโยบายจากการปิดตัวเองแล้วทำให้ไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 เลย มาเป็นการเลิกนับยอดผู้ติดเชื้อ คลายมาตรการควบคุมทางสังคม เร่งฉีดวัคซีน และพยายายามอยู่ร่วมกับการระบาดหรือทำให้มันเป็นโรคประจำถิ่น

ประเทศที่เป็นจุดสนใจเป็นพิเศษคือนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่า นิวซีแลนด์จะค่อยๆ เลิกใช้ยุทธศาสตร์ปลอดโควิดเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับไวรัส หลังผชิญกับสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่เชื้อได้สูงที่ผ่านมานิวซีแลนด์ได้เสียงชื่นชมมาตลอดว่าควบคุมการระบาดได้ดี หลังจากปิดพรมแดนในช่วงต้นของการระบาดใหญ่ นิวซีแลนด์รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียง 4,409 ราย และผู้เสียชีวิต 27 ราย ตามข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยที่น้อยที่สุด (1)

ย้อนกลับไปในปลายเดือนเมษายน การจัดอันดับการฟื้นตัวของไวรัสโควิด-19 ของสำนักข่าว Bloomberg ได้จัดอันดับนิวซีแลนด์ให้เป็นประเทศที่ดีรับมือสถานกาณณ์สุดเป็นอันดับสองในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยให้คะแนน 79.6 ส่วนสิงคโปร์รั้งอันดับหนึ่งในการจัดอันดับการฟื้นตัวของโควิดด้วยคะแนน 79.7 (2) ทั้งสองประเทศมักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของประเทศที่รับมือกับการระบาดได้ดี

แต่จุดที่ต่างกันของทั้งสองประเทศคือ สิงคโปร์มีอัตราการฉีดวัคซีนที่มากและรวดเร็ว ขณะที่นิวซีแลนด์มีอัตราการฉีดน้อยมาก ณ วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564 ในช่วงที่มีการจัดอันดับโดย Bloomberg ประชากรนิวซีแลนด์ 1.9% ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อถึงต้นเดือนตุลาคม กระทรวงสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ระบุว่า อย่างน้อย 49% ของประเทศได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน ขณะที่ 79% ได้รับการฉีดวัคซีนครั้งแรก ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยสำหรับในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

การฉีควัคซีนที่ล่าช้าไม่ว่าจะด้วยความชะล่าใจในความสำเร็จของ "โควิดเป็นศูนย์" หรืออะไรก็ตาม ทำให้นิวซีแลนด์รับมือไม่ไหว เมื่อเดลต้าทะลุทะลวงเข้าประเทศ จนแนวทางเดิมใช้การไม่ได้ในที่สุด จาซินดา อาร์เดิร์น กล่าวว่า “จนถึงขณะนี้ เราสามารถควบคุมการระบาดได้เป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างที่คุณเห็นด้วยการระบาดครั้งนี้และกับเดลต้า การกลับคืนสู่ศูนย์นั้นยากอย่างเหลือเชื่อ”และเสริมว่าข้อจำกัดที่เข้มงวดเป็นเวลานานไม่สามารถลดการติดเชื้อลงได้เพียงพอ ซึ่งหมายความว่าวิธีการเดิมใช้ไม่ได้แล้ว

ถึงแม้จะเลิกใช้ "โควิดเป็นศูนย์" และหันมา "อยู่ร่วมกับโควิด" แต่มันไม่ง่ายเลย สิงคโปร์เป็นตัอย่างที่ชัดเจนของการคลายมาตรการควบคุมทางสังคมเพื่อที่จะอยู่กับโควิดให้ได้ แต่มันทำให้สิงคโปร์มียอดผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในรอบ 1 ปี ทั้งๆ ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงมากแล้ว คือ 80.8% ของจำนวนประชากร ณ วันที่ 5 ตุลาคม

อีกตัวอย่างของการใช้แนวทางเดิมๆ ไม่ได้ คือ ออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลียกล่าวในเดือนสิงหาคม ประเทศจะเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดเมื่อบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนระดับประเทศสูงสุดถึง 80% และเมื่อปลายเดือนกันยายน เขาได้ประกาศแผนงานเปิดเขตแดนของออสเตรเลียขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน สำหรับรับพลเมืองที่ได้รับวัคซีนครบสมบูรณ์และผู้อยู่อาศัยถาวร (แต่จะยังไม่รับชาวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ เช่น นักท่องเที่ยวเข้าประเทศจนกกว่าจะถึงปีหน้า) ออสเตรเลียเป็นตัวอย่างของประเทศที่ไม่ล็อคดาวน์อีกต่อไป โดยใช้อัตราการฉีดวัคซีนที่สูงเป็นมาตรฐาน ซึ่ง ณ วันที่ วันที่ 7 ตุลาคม ออสเตรเลียมีอัตราการฉีดวัคซีน 68 % ตัวเลขนี้น้อยกว่านิวซีแลนด์เสียอีก

เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ในเวลาเดียวกับที่มีการประกาศเลิกใช้แนวทาง "โควิดเป็นศูนย์" และหันมา "อยู่ร่วมกับโควิด" หลายพื้นที่พบกับการติดเชื้อมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาด แต่ในขณะที่กำลังพบกับการระบาดที่หนักกว่าครั้งไหนๆ รัฐบาลท้องถิ่นรับลูกรัฐบาลกลางที่จะเลิกทำให้โควิดเป็นศูนย์ ในช่วงต้นเดือนกันยายน รัฐบาลรัฐวิกตอเรียยอมรับว่าการระบาดของเดลต้าไม่น่าจะทำให้การควบคุมสำเร็จจนติดเชื้อเหลือ 0 อีกครั้ง ขณะที่รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ที่แม้ตัวเลขติดเชื้อในช่วงเวลาเดียวกันจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถที่จะใช้มาตรการอะไรมาต้านทานเดลต้าได้อีก (3) อย่างที่ นายกรัฐมนตรีแดเนียล แอนดรูว์ แห่งรัฐวิกตอเรียกล่าวว่า “เราได้ใช้วิธีตอบโต้ทุกอย่างในเรื่องนี้แล้ว แต่ตอนนี้เป็นที่ชัดเจนสำหรับเราว่าเราจะไม่สามารถลดจำนวนเหล่านี้ลงได้ แต่จะเพิ่มมากขึ้น” (4)

ดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์ของประเทศเหล่านี้คือการเร่งฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเพื่อเลิกใช้แนวทาง "โควิดเป็นศูนย์" และ "อยู่ร่วมกับโควิด" ถึงแม้ว่าบางประเทศจะมีอัตราการฉีควัคซีนสูงแล้วแต่ก็ยังพบการติดเชื้อในอัตราสูงสุดรอบปีหรือหลายเดือน รวมถึงความกังขาต่อประสิทธิภาพของวัคซีนต่างๆ แต่มันไม่ได้ทำให้ความมุ่งมุ่นที่จะ "อยู่ร่วมกับโควิด" ลดลง เพราะอาจมีแต่แนวทางนี้เท่านั้นที่สมเหตุสมผลที่สุดกับประเทศที่ไม่ได้ถูกรุมเร้าด้วยโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังถูกกระหน่ำจากเศรษฐกิจตกต่ำ เงินในคลังของรัฐบาลที่ร่อยหรอกับการชดเชยประชาชน และความไม่พอใจของประชาชนที่ไม่ยอมรับมาตรการประเภทล็อคดาวน์อีก

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเดือนสิงหาคมในจังหวะเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียประกาศจะหยุดแนวทางโควิดเป็นศูนย์ นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลียกล่าวว่า แนวทางโควิดเป็นศูนย์ของประเทศใดๆ ก็ตามเป็นเรื่อง "ไม่สมเหตุสมผล" (absurd) และบอกว่าไม่มีประเทศไหนที่จะกักตัวอยู่ในถ้ำได้ตลอดไป เขาบอกว่า “นิวซีแลนด์ทำไม่ได้ พวกเขากำลังปฏิบัติตามกลยุทธ์การกำจัดโรค พวกเขาอยู่ในล็อกดาวน์ ทางออกคือไปถึงร้อยละ 70 และ 80 (สำหรับการฉีดวัคซีน) และเปิดประเทศได้อย่างปลอดภัย” (5) ปรากฎว่าในอีก 1 เดือนต่อมานิวซีแลนด์ก็ต้องทำอย่างที่นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวไว้จริงๆ

ยังมีพื้นที่ที่ยึดมั่นกับ "โควิดเป็นศูนย์" อย่างเหนียวแน่น นั่นคือจีน, ไต้หวัน และฮ่องกง ทั้ง 3 พื้นที่นี่พบคลัสเตอร์ประปราย แต่สามารถควบคุมไม่ให้ขยายวงกว้างได้ และเป็นไม่กี่ตัวอย่างที่ "โควิดเป็นศูนย์" ประสบผลสำเร็จ แต่มันเป็นตัวอย่างที่มีอยู่น้อยมาก และมีแนวโน้มที่จะ "ผิดธรรมชาติ" เพราะพื้นที่เหล่านี้ใช้วิธีควบคุมการเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด การล็อคดาวน์ตัวเองจากโลกภายนอกจะสวนทางกับการคลายล็อคของประเทศต่างๆ ที่เริ่มเปิดรับผู้คนจากต่างชาติมากขึ้นโดยลดเวลากักตัวหรือไม่ต้องกักตัวเลย โดยไม่พิจารณาอีกต่อไปว่าการเปิดประเทศดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดคลัสเตอร์หรือไม่หรือจะทำให้ยอดติดเชื้อสูงขึ้นหรือไม่

เช่น สหราชอาณาจักร ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามการเดินทางของผู้คนจาก 47 ประเทศ ผู้ที่มาจากประเทศเหล่านี้ (รวมถึงไทย) จะไม่ต้องกักตัวอีกเมื่อมาถึงสหราชอาณาจักร พวกเขาจะต้องทำการทดสอบ PCR ในวันมาถึงหรือ 2 วันก่อนหน้าเท่านั้น (6) แต่ขณะที่สหราชอาณาจักรใช้แนวทางเปิดประเทศเต็มที่ขนาดนี้ อัตราการติดเชื้อของพวกเขาสูงกว่าประเทศในระดับเดียวกันที่อยู่ในยุโรปหลายเท่าตัว ระหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม อัตราติดเชื้อรายวันในสหราชอาณาจักรยังอยู่ที่ราวๆ 500 คนต่อประชากร 1 ล้านคนไม่เปลี่ยนแปลง แต่เยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน ลดลงฮวบฮาบตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงเดือนตุาคมประเทศเหล่านี้เหลืออัตราติดเชื้อต่ำกว่า 100 คนต่อประชากร 1 ล้านคน (7)

ในเมื่อเราไม่สามารถล็อคดาวน์ได้อีกต่อไปเพราะมีต้นทุนสูงในทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่การอยู่ร่วมกับโควิดก็มีต้นทุนสูงในเรื่องสวัสดิภาพชีวิต มันจะมีทางออกอื่นได้อีกหรือไม่?

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม มีการเผยแพร่งานวิจัยใน Science Advance เรื่อง Low case numbers enable long-term stable pandemic control without lockdowns (เคสติดเชื้อต่ำช่วยให้สามารถควบคุมการระบาดใหญ่ได้ในระยะยาวโดยไม่ต้องล็อกดาวน์) โดยทีมนักวิจัยจาก Max Planck Institute for Dynamics and Self-Organization ในเยอรมนี เสนอทางเลือกที่น่าสนใจเอาไว้

นักวิจัยชี้ว่าการแก้ปัญหาระยะยาวแบบดั้งเดิมสำหรับการควบคุมโรคระบาดใหญ่ คือ 1. การกำจัดโรคหรือการล็อคดาวน์/มาตรการควบคุมทางสังคมหรือ "โควิดเป็นศูนย์" และ 2. คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากร หรือการฉีดวัคซีนในวงกว้าง แต่พวกเขาเสนอแนวทางที่ 3 คือ การสร้างสมดุลที่เสถียร (a stable equilibrium) โดยให้มีการติดเชื้อในอัตราน้อยในท้องถิ่นและมีการควบคุมการระบาดระดับปานกลาง ซึ่งตรงกันข้ามกับ "โควิดเป็นศูนย์" แต่ก็ไม่ปล่อยให้มันเกิดการระบาดมากจนเกินรับไหว

ในภาวะสมดุลนี้ อัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่จะถือว่ามีความเสถียรประมาณ 10 รายหรือน้อยกว่าต่อล้านคนในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม ความเสถียรอาจตกอยู่ในอันตรายได้ หากผ่อนคลายข้อจำกัดเร็วเกินไปหรือจำนวนเคสเพิ่มขึ้นสูงเกินไป การล็อกดาวน์ก็ยังนำมาใช้ควบคุมสถานการณ์ได้อีกครั้ง และไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ซ้ำๆ หากมีการลดการติดต่อกันในระดับปานกลางแล้ว

จากการวิเคราะห์พบว่ายุทธศาสตร์นี้่จะต้องอิงกับการฉีดวัคซีน และช่วยลดจำนวนผู้ป่วยสะสม (และผู้เสียชีวิต) มากกว่ากลยุทธ์ที่หลีกเลี่ยงการล่มของระบบสาธารณสุขหรือการล็อคดาวน์ไปเรื่อยๆ ได้ถึง 4 เท่า แต่กว่าจะถึงจุดที่การฉีดวัคซีนลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขอาจจะต้องทำการล็อคดาวน์ซ้ำๆ เป็นระยะหลายสัปดาห์จนกว่าตัวเลขติดเชื้อจะต่ำกว่าศักยภาพการทดสอบ การติดตามผู้ติดต่อกับผู้ติดเชื้อ และการกักตัว (test-trace-and-isolate/TTI)

หัวใจหลักของแนวนี้ก็คือการสร้างสมดุล ไม่คลายเร็วเกินไป (จนทำให้การติดเชื้อพุ่งขึ้นมาอีกเช่นในสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร) แต่ก็ไม่ล็อคประเทศแบบไม่มีที่สิ้นสุด (เช่นจีนและไต้หวัน) และในระยะยาวแนวทางการสร้างสมดุลแบบนี้จะต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกัน การทดสอบในวงกว้าง และการประสานงานระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการควบคุมโรคต่อไป (8)

 

อ้างอิง

1. "New Zealand to abandon zero-Covid strategy as Delta variant proves hard to shake". CNN. 5 October 2021.

2. "Coronavirus Pandemic: Ranking The Best, Worst Places To Be". Bloomberg News. 25 April 2021.

3. "Australia's two biggest states have abandoned COVID zero, but it's still a long path to freedom". ABC. 2 September.

4. "‘Zero Covid’ strategies are being abandoned as the highly infectious delta variant dominates". CNBC. 5 October 2021.

"Scott Morrison hits out at Jacinda Ardern's zero COVID strategy". Sky News. 25 August 2021.

6. "UK removes travel restrictions for 47 countries". Euro News. 5 October 2021.

7. "Covid: The UK is Europe's virus hotspot - does it matter?". BBC. 9 October 2021.

8. "Low case numbers enable long-term stable pandemic control without lockdowns". Science Advance. 8 Oct 2021. Vol 7, Issue 41. DOI: 10.1126/sciadv.abg2243