แพทย์แผนไทย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เผยข้อมูล “ใบกระท่อม” สรรพคุณ ข้อห้าม ข้อควรระวัง พร้อมเปิดสูตรน้ำกระท่อมแบบทำเอง ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ทำได้
นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา “กระท่อม” ถูกจัดให้สามารถปลูก ซื้อ ขาย ต้นกระท่อมได้ไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 ปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชายาเสพติด ประเภทที่ 5 ชาวบ้านจึงสามารถปลูก ซื้อขายได้ แต่ยังไม่สามารถทำเป็นสำเร็จรูปแบบอย่างเครื่องดื่ม หรือห้ามนำไปผสมสารเสพติดชนิดต่างๆ ถือว่าผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หากประชาชน ชาวบ้านนำใบกระท่อมไปต้มเป็นน้ำกระท่อมดื่มเอง โดยไม่มีลักษณะเชิงพาณิชย์ก็สามารถทำได้ซึ่งต้องมีข้อควรระวัง! เนื่องจากแม้ “กระท่อม” จะมีสรรพคุณทางยาแผนไทย แต่ไม่ใช่จะไม่อันตรายหากกินดื่มมากจนเกินพอดี
เรื่องนี้ แพทย์แผนไทยประยุกต์(พท.ป.) เบญจวรรณ หมายมั่น หัวหน้าฝ่ายสื่อสารข้อมูล ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ฯ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ข้อมูล ว่า จริงๆแล้วตามหลักแพทย์แผนไทยสามารถกินใบกระท่อมสดครั้งละ 1-2 ใบ วันละ 1-2 ครั้ง หรือกินร่วมกับหมาก ใบ พลู และดื่มน้ำตามมากๆ ส่วนถ้านำใบกระท่อมไปต้มดื่มกันเอง ก็สามารถทำได้ โดยใบสด 3-4 ใบ ต้มกับน้ำสะอาด 1 ลิตร เคี่ยวให้น้ำเหลือ ½ส่วน ดื่มครั้งละ ½ - 1 แก้วชา วันละ 3 ครั้ง แนะนำวันละไม่เกิน 5 กรัม หรือประมาณ 5 ใบ
“สรรพคุณพื้นบ้านใช้เป็นยาชูกำลัง แก้ปวดเมื่อย แก้ไอ นอนไม่หลับ โดยส่วนใหญ่ใช้การเคี้ยวใบสด หรือนำใบแห้งชงเป็นชา นอกจากนี้ ในตำรับยาไทย ยังรักษาท้องร่วง ทั้งนี้ ไม่ควรกินมากเกินไป ควรกินตามคำแนะนำ เพราะอาจส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้ง่วง ซึม หรืออาจหมดสติได้ในบางคน ขณะเดียวกันหากกินมากบางคนมีอาการท้องผูกได้ ส่วนผู้ที่เป็นความดัน หากความดันไม่ได้สูงมาก สามารถควบคุมได้ ก็ทานได้ เพียงแต่ต้องปริมาณที่แนะนำ” พท.ป.เบญจวรรณ กล่าว
พท.ป.เบญจวรรณ แนะนำว่า ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ใบกระท่อม คือ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อประสาทส่วนกลาง ตับและไตบกพร่อง หรือกลุ่มที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องย้ำเตือน คือ กระท่อมหากกินมากและใช้ติดต่อกันนานๆ จะมีผลเสียต่อสุขภาพ จึงไม่ควรกินก้านใบ และใบแก่ เพราะไม่สามารถย่อยได้ ทำให้ท้องผูก และการใช้ในปริมาณมากๆ ชนิดมากกว่า 15 กรัมต่อวัน จะทำให้เมา มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เห็นภาพหลอน อาการข้างเคียงที่อาจพบ คือ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวบ้านที่ต้องการนำน้ำกระท่อมดื่มเอง โดยไม่ได้จำหน่ายเชิงพาณิชย์ อภัยภูเบศร ได้จัดทำสูตรน้ำกระท่อม ที่เรียกว่า “ไทยน้ำท่อม” บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย โดยมีส่วนประกอบ ทั้งใบกระท่อมสด 3.5 กรัม ใบเตย แก่นฝาง กระวาน กานพลู และน้ำสะอาด นำทั้งหมดมาต้ม ตั้งไฟปานกลาง 15-20 นาที ยกลงจากเตา กรองเอาแต่น้ำ ดื่มครั้งละครึ่งหรือ 1 แก้ว (75-150 มล.) วันละ 3 ครั้ง สามารถเติมน้ำผึ้ง และมะนาวได้ตามชอบ
ทั้งนี้ ข้อมูลใบกระท่อม พร้อมสรรพคุณต่างๆ รวมไปถึงเรื่องกัญชา กัญชงจะเปิดตัวและรายละเอียดเพิ่มเติมในงานมหกรรมสมุนไพรไทย ระหว่างวันที่ 22-26 ธันวาคม 2564 ที่สยามพารากอน
- 221881 views