ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาอาจไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นนักสำหรับจังหวัดภูเก็ตเมื่อเทียบกับอีกหลายจังหวัด หลังจากนำร่องต้อนรับนักท่องเที่ยวมาก่อนแล้ว 4 เดือนในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีความพร้อมและประสบการณ์ด้านมาตรการคัดกรองที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนัก

แต่ความแตกต่างในครั้งนี้คือเงื่อนไขในการเดินทางเข้าประเทศที่ผ่อนคลายลงทำให้มองเห็นความหวังมากขึ้นแม้จะยังเร็วไปที่จะบอกว่าการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามันจะมีโอกาสฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน แต่คนในวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่าง ธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มองเห็นโอกาสและสัญญาณที่ดีมากกว่าความกังวลด้านความปลอดภัย

>>เงื่อนไขเปิดทางนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

“เรามีความหวังว่าตัวเลขของนักท่องเที่ยวจะโตขึ้นอีกนิดจากขยับประเทศเสี่ยงต่ำเป็น 63 ประเทศ อันนี้ค่อนข้างจะแฮปปี้เพราะพอมานั่งดูลิสต์แล้วเป็นประเทศ Short haul (ระยะทางสั้น) เยอะพอสมควร ซึ่งจริงๆ แล้วเราคาดหวังนักท่องเที่ยว Short haul มากกว่า long haul ที่ยังไม่ง่ายนัก แต่ยังต้องดูไส้ในว่าใน 63 ประเทศนั้นเขากลับไปจะถูกกักตัวกี่ประเทศและโฟกัสเป็นลูกค้าเรามั้ย แต่ยังไงก็ดีกว่าที่ผ่านมาแน่นอน” ธเนศ กล่าว

นอกจากนี้การปลดล็อกเงื่อนไขกักตัว 7 วันในจังหวัดก่อนนี้ และการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่เปลี่ยนมาเป็น RT-PCR+ATK แค่สองครั้งทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ก็เป็นอีก 2 ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของภูเก็ตค่อนข้างพอใจ และคาดหวังจะส่งผลให้มีปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงแซนด์บ็อกซ์ที่ผ่านมา

จากเดิมที่นักท่องเที่ยวต้องสวอบโดยวิธี RT-PCR เท่านั้น 2-3 ครั้งซึ่งค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายสูง เหลือแค่ 2 ครั้งตอนถึงสนามบินตรวจแบบ RT-PCR และรับชุดตรวจ ATK ไปตรวจด้วยตัวเองในวันที่ 6-7 อีกครั้งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักท่องเที่ยวได้พอสมควร บวกกับเงื่อนไขต่างๆ ที่ผ่อนคลายมากขึ้นและตรงกับช่วงไฮซีซั่น ซึ่งข้อมูลจากบริษัทนำเที่ยว IAsia Thailand พบว่าหลังจากเดือนพ.ย. มียอดจองเพิ่มขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์

“ยอดจองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเดือนธันวาคมจะมีกรุ๊ปใหญ่ประมาณ 400 คน ตั้งแต่เปิด sandbox เราไม่ประสบความสำเร็จตามที่คุยกันครั้งที่แล้วซึ่งตัวเลขตอนนั้นกับในอนาคตอันใกล้นี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง” พรปวีณ์ พรเสกสรรค์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดบริษัท IAsia Thailand กล่าว

 

>> เสนอไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำเดือนธ.ค.

หากดูจากเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น พรปวีณ์ ยอมรรับว่า อาจจะดูเหมือนเยอะเพราะที่ผ่านมาตัวเลขแทบจะเป็นศูนย์ ดังนั้น 80 เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นแค่สัญญาณที่ดี แต่หากมองในแง่ของรายได้ถือว่ายังห่างจากความต้องการจริงมาก เพราะตัวเลขที่ต้องการน่าจะอยู่ที่ 200-300% เพื่อมาชดเชยกับสิ่งที่หายไปช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ตที่มองว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังการเปิดประเทศและผ่อนคลายเงื่อนไขถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังไม่เพียงพอกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับเงื่อนไขให้เป็นมิตรกับนักเดินทางอย่างต่อเนื่อง

“ตอนเรานำเสนอ Phuket Stepping Forward ไปเราเสนอไป 2 สเต็ปเรื่องการตรวจเชื้อโควิดนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา คือ 1.เมื่อเปิดประเทศแล้วอยากเห็นการลดเหลือ RT-PCR 1 ครั้ง ATK 1 ครั้ง ซึ่งได้เห็นแล้ว และ 2. หากไม่มีอะไรเกิดขึ้นในเดือนธ.ค. ถ้าคนที่ทำ RT-PCR ก่อนบินมาแล้วไม่มีความจำเป็นต้องตรวจอีกแล้ว แต่อาจจะใช้แค่ ATK หากผลเป็นบวกค่อยไปทำ RT-PCR”

“อีกอันคือเงื่อนไขการทำประกัน ก่อนหน้านี้ตอนที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะๆ เราก็ไม่เคยบังคับให้พวกเขาทำประกัน และปริมาณของนักท่องเที่ยวที่ป่วยและบาดเจ็บก็เยอะกว่านี้มาก และไม่เคยสร้างความเสียหายให้ระบบสาธารณสุขของเราอยู่แล้ว กับอีกประเด็นคือถ้าเข้ามาแล้วติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ บริษัทต่างประเทศเขาไม่จ่าย เพราะที่บ้านเขาถ้าไม่มีอาการคุณอยู่บ้าน ไม่ได้อยู่โรงพยาบาล แต่บ้านเราคนเป็นโควิดเข้าโรงพยาบาลหมด จึงเป็นปัญหากันอยู่ จึงนำเสนอทางกระทรวงท่องเที่ยวฯไปว่าเป็นไปได้มั้ยที่จะมาซื้อประกันในไทยเลย เฉพาะโควิดอย่างเดียวเลยด้วยราคาที่ไม่แพง รวมไปกับตอนขอ apply เลย”

ทราเวล บับเบิล ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ ธเนศ อยากเห็นความชัดเจน เพราะหากมาประเทศไทยไม่โดนกักแต่กลับไปต้องโดนกักตัวก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งน่าจะเป็นงานของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ดูแลด้านนี้ เช่นใน 63 ประเทศมีทราเวล บับเบิลอยู่แล้วกี่ประเทศ

“แต่สุดท้ายแล้วนโยบายเปิดประเทศก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สำหรับผมนโยบายหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การท่องเที่ยวในประเทศ วันนี้คนก็อยากเที่ยวแต่เศรษฐกิจแบบนี้ก็กังวล ถ้ารัฐบาลเอาเงินมาช่วยในเรื่องการท่องเที่ยวในระดับหนึ่งได้น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งตอนนี้ที่มีอยู่ก็เป็นโครงการที่ดี ได้ไปกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้น”

 

>> คาดตัวเลขผู้ติดเชื้อเด้งกลางเดือนนี้

ในขณะที่ภาคธุรกิจตอบรับการเปิดประเทศเพื่อความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็มีความกังวลจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นอีกจากหลายๆ ส่วน ซึ่งเรื่องนี้ นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยอมรับว่า น่าจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นภายในกลางเดือนนี้ หลังจากปัจจุบันยอดผู้ป่วยลดลงเหลือ 50-60 คนต่อวัน แต่ไม่มีอะไรน่ากังวล

“การมีคนเข้ามามากขึ้นทั้งคนไทยและต่างชาติ ย่อมมีโอกาสนำเชื้อเข้ามา แต่เรามีมาตรการควบคุม ตรวจพื้นที่เสี่ยง ใช้ ATK มากขึ้น ฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ซึ่งหากให้ความสนใจที่ตัวเลขก็มีโอกาสมากขึ้นอยู่แล้ว แต่อยากให้ความสำคัญกับผู้ป่วยหนักมากกว่า”

คุณหมอ เสริมว่าตอนนี้ Mindset ของคนภูเก็ตเปลี่ยนไปพอสมควรแล้ว ยอมรับการรักษาตัวที่บ้านในกลุ่มสีเขียวมากขึ้น ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีน ช่วยลดภาระบุคคลากรทางการแพทย์และทำให้การครองเตียงในโรงพยาบาลมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก โดยปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวจะไม่ได้เข้าโรงพยาบาลหลักแต่จะเป็น Hospital หรือ Home Isolation เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามการเข้าระบบ HI จะต้องผ่านการประเมินความเหมาะสมจากสาธารณสุขก่อน

 

>> มั่นใจภูเก็ตเอาอยู่

นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อประเมินสถานการณ์จากสถิติแซนด์บ็อกซ์ที่ผ่านมามียอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นคนละวงกับที่ระบาดอยู่แล้วในประเทศก่อนหน้านี้ โดยคิดจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็น 1500-2000 คนต่อวันก็ยังอยู่ในกรอบความสามารถของด้านสาธารณสุขรับได้ อีกทั้งส่วนมากผู้ติดเชื้อในนักท่องเที่ยวจะเป็นคนไข้ไม่มีอาการ ที่เหลือก็มีอาการน้อยเพราะได้รับวัคซีนกันมาหมดแล้ว

“ภูเก็ตผ่านวิกฤตมาสองรอบแล้ว มีบทเรียน มีประสบการณ์อยู่ โดยรอบก่อนหน้านี้มีคนไข้อยู่ในระบบโรงพยาบาล 4500 กว่าคนเราก็ยังเอาอยู่ ตอนนี้เหลืออยู่ในระบบ 800 กว่าคน และหากเกิดเหตุฉุกเฉิน รพ.สนามที่ปิดไปแล้วหลายที่ก็สามารถกลับมาเปิดได้ภายใน 24 ชม.”

เช่นเดียวกับ ธเนศ ที่เชื่อว่าระบบสาธารณสุขเพียงพอสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมองจากตัวเลขสถิติที่ผ่านมาและประสบการณ์การรับมือกับยอดผู้ติดเชื้อกว่า 200 คนต่อวันมาแล้ว แต่สิ่งที่ห่วงคือ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ายังต้องยึดหลัก DMHTT แต่หลายคนก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม เช่น ร้านอาหารบางส่วนตอนนี้ก็ไม่ได้คำนึงถึงระยะห่างอย่างที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น วินัยของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามาตรการคัดกรองต่างๆ

 

ภาพจาก ข่าวสารท่องเที่ยว ททท.