ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“จากการสำรวจ 88 % ผู้ปกครองอยากให้เรียน on site ทีีโรงเรียน เนื่องจากว่าเป็นโรงเรียนรัฐบาล สอนระดับอนุบาลและชั้นประถมศึกษา ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง การจะดูแลการเรียนของลูกคือทุกคนไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงอยากให้ลูกได้ไปโรงเรียน” น.ส.พลอยนภัส ปุรณะวณิชย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุลักขณะ ในพื้นที่ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเคยเป็นพื้นที่การแพร่ระบาด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม กล่าวถึงการสำรวจความเห็นของคนในชุมชนที่ต้องการให้มีการเปิดสอนในโรงเรียนตามปกติ หลังจากที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ตลอดภาคการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากทั้งต่อนักเรียนและผู้ปกครอง

แนวทางการเปิดโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขคือการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนอายุระหว่าง 12-18 ปี ซึ่งส่วนใหญ่คือโรงเรียนระดับมัธยม แต่สำหรับโรงเรียนเด็กเล็กระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี มีความเสี่ยง เนื่องจากเด็กช่วงวัยรี้ยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ แนวทางที่โรงเรียนเด็กเล็กเหล่านี้ดำเนินการเพื่อให้โรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติจึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจ

นางเสาวนีย์​ ดาบทอง​ ผู้อำนวยการ​ โรงเรียนวัดรังสิต​ ต.หลักหก​ อ.เมือง​ ​จ.ปทุมธานี​ กล่าวว่า​ เนื่องจากทางโรงเรียนมีเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล​ อายุ​ 5​ ​ขวบ​ จนถึงชั้นประถมศึกษา​ อายุ​ 12​ ขวบ​ จึงมีเด็กบางส่วนที่อยู่ในโรคกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีน​เท่านั้น​ อย่างไรก็ตามได้มีการสำรวจการฉีดวัคซีนในผู้ปกครอง​ พบว่าคนในครอบครัวเด็กทั้งหมดได้รับวัคซีนเกินกว่า​ 60 % แล้ว​ โดยมีพ่อแม่ของเด็กนักเรียนได้รับวัคซีนแล้วมากกว่า​ 80 %

"เราทำการสำรวจเส้นทางการเดินทางมาโรงเรียนของนักเรียน​ เด็กส่วนใหญ่ผู้ปกครองมาส่งด้วยตัวเอง​ มีเพียงเล็กน้อยที่ให้จักรยานยนต์รับจ้างซึ่งเป็นขาประจำมาส่ง​ เพราะนักเรียนที่โรงเรียนเป็นเด็กในพื้นที่" ผู้อำนวยการ​โรงเรียนวัดรังสิต​ กล่าว

ส่วนความพร้อมในการเปิดเรียนนั้น​ นางเสาวนีย์​ ยืนยันว่าสถานที่มีความพร้อมเกือบ​ 100 % มีการจัดห้องกักตัว​ เว้นระยะห่างในห้องเรียน​ จัดตารางสอนสลับวันเพื่อลดความแออัด​ และได้รับ​ ATK​ ตรวจเด็กในวันแรกที่เปิดเทอมจากเทศบาลตำบลหลักหก​ และโรงเรียนจัดซื้อเองบางส่วนสำรองไว้

"โรงเรียนเราอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม​ ต้องมีการสุ่มตรวจนักเรียน​ 20 % จำนวน​ 2​ ครั้งต่อสัปดาห์​ ต้องใช้ชุดตรวจจำนวนมาก​ ที่เป็นห่วงคือการ​ Swab​ จมูกเด็ก​ เด็กจะกลัว​ โดยชุดตรวจจากองค์การเภสัชกรรม​ ราคาชุดละ​ 40​ บาท ​อยากได้ชุดตรวจน้ำลาย​ ซึ่งราคาขั้นต่ำ​ 100​ บาท​ แต่ชุดตรวจน้ำลายก็ยังไม่มีจำหน่าย​ ในโรงเรียน​ไม่ห่วง​ เพราะมีคุณครูดูแลตลอด​ เด็กจะไม่สัมผัสเนื้อตัวกันเลย​ ห่วงเด็กออกจากโรงเรียนระหว่างทางกลับบ้าน​ ขอความร่วมมือกับผู้ปกครองว่าไม่ให้แวะที่ไหน​ นอกจากนี้ยังมีร้านค้าหน้าโรงเรียนมาขายของให้เด็ก​ ก็จะขอความร่วมมือให้ร้านค้าต้องเว้นระยะห่าง​ ซื้อแล้วให้ไปทานในรถหรือที่บ้าน​ ไม่ให้ทานหน้าโรงเรียนไม่ต้องการให้เด็กเปิดหน้ากากอนามัย​ เพื่อลดความเสี่ยง" ผู้อำนวยการ​โรงเรียนวัดรังสิต​ ชี้แจงมาตรการที่ทางโรงเรียนเตรียมพร้อมในการเปิดเทอม

อย่างไรก็ตาม​ นางเสาวนีย์​ เปิดเผยว่า​ กรรมการศึกษาธิการจังหวัดจะทำการประเมินโรงเรียนแล้วส่งให้​ ศบค.จังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเป็นประธาน​ตัดสินอีกที​ โดยดูบริบทในพื้นที่มีจากจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นปัจจัยสำคัญ

ด้าน​ น.ส.พลอยนภัส ปุรณะวณิชย์​ ผู้อำนวยการ​ รร.สุลักขณะ​ อีกโรงเรียนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่​ ต.หลักหก​ อ.เมือง​ จ.ปทุมธานี​ กล่าวถึง โครงการเปิดเรียนปลอดภัยว่า​ ขณะนี้การเปิดเรียนเป็นไปได้ยากมาก​ โดยทางโรงเรียนได้เตรียมความพร้อมในการเปิดสอนแล้ว​ แต่สถานการณ์การระบาดใน​ จ.ปทุมธานี​ ยังคงรุนแรง​

"การเตรียมความพร้อมอย่างแรกเลยคือสำรวจผู้ปกครองว่ามีความประสงค์จะให้ลูกเรียนในรูปแบบไหน​ สำหรับโรงเรียนเรา​ 88 % ผู้ปกครองอยากให้เรียน​ on​ site ทีีโรงเรียน​ เนื่องจากว่าเป็นโรงเรียนรัฐบาล​ สอนระดับอนุบาลและชั้นประถมศึกษา​ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง​ การจะดูแลการเรียนของลูกคือทุกคนไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์​ จึงอยากให้ลูกได้ไปโรงเรียน​ มีการเก็บข้อมูลว่าผู้ปกครองฉีดวัคซีนไปเท่าไร​ ส่วนคุณครูก่อนจะเปิดภาคเรียนที่1​ เราได้ประสานขอวัคซีน​ ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตได้ช่วยเหลือ​ ฉีดซิโนแวค​ 2​ เข็ม​ 100%​ และได้บูสท์เข็ม​ 3​ แอสตร้าเซเนก้า​ ส่วนของคุณครูพร้อมที่จะดำเนินการแล้ว"

"การเดินทางของเด็กนักเรียนเราดูจากสิ่งที่กรมอนามัยแจ้งมา​ 44 ข้อที่ต้องประเมินให้ผ่าน​ แล้วก็มี​ 6​ มาตรการหลัก​ 6​ มาตรการเสริม กับ7​ มาตรการเข้มของกระทรวงศึกษาธิการ​ แล้วทำเรื่องยื่นขอเสนอเปิดโรงเรียน​ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาร่วมประชุมกับทางสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี​ มีข้อที่ 45​ เป็นเรื่องของ​ School Isolation หาพื้นที่ในโรงเรียนแบ่งออกเป็น3โซน​ คือโซนดูแลรักษา, Quarantine​ และโซนปลอดภัย​ ที่เด็กสามารถอยู่ได้ตามปกติ​ ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างยากที่จะต้องดำเนินการ​ ถ้าเซ็นMOU กับโรงพยาบาลที่จะต้องส่งต่อเด็กกรณีป่วย​ ที่คำนวณไว้คือ​ 5%ของ​ Bubbleที่เรากำหนด​ มีห้องพักคอยไว้ส่งตัวเด็ก"

"ในขณะที่การเรียนการสอนเราจะทำเป็น​ Small Bubble คือจะเปิดเรียน​ ชั้น​ ป.1-ป.6​ ก่อน​ ส่วนอนุบาลเราขอให้ผู้ปกครองดูสถานการณ์ก่อน​ ที่เลือก​ ป.1-ป.6เพราะเด็กจำเป็นต้องนำไปใช้ในการศึกษาต่อ​ และ​ป.1​ สำคัญเป็นวัยที่ต้องอ่านหนังสือออกโดย​ ป.1, ป.3, ป.5​ มาเรียน 1 สัปดาห์​ อีกสัปดาห์เรียนที่บ้าน​ สลับกับ​ ป.2, ป.4, ป.6​ แยกเป็น Bubble​ ของตัวเอง ป.1 จะอยู่ที่ตึกของตัวเองเท่านั้น​ไม่ไปเจอกับ​ ป.3 และ ป.5​ คุณครูที่สอนก็เป็น Bubble เช่นกัน​ สอน​ป.1​ ไม่ไปเดินสอนชั้น​ ป.3​ เพื่อให้ bubble เล็กลง​ คุมไว้หากมีเด็กติดเชื้อใน bubble นั้น​ เพื่อลดที่จะกระจายไปทั้งโรงเรียน​" ผู้อำนวยการ​ รร.สุลักขณะ​ กล่าว

ส่วนมาตรการดูแลเด็กนักเรียนระหว่างการเดินทางมายังโรงเรียนนั้น​ น.ส.พลอยนภัส กล่าวว่า​ ผู้ปกครองที่มารับมาส่งต้องได้รับวัคซีน​ หากไม่สมัครใจฉีดวัคซีนทางโรงเรียนจะจัดหลักการเรียนให้เด็กสามารถเรียนที่บ้าน

"มีข้อแม้ของนักเรียนที่จะมาเรียน on site คือผู้ปกครองต้องได้รับวัคซีนแล้ว​เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่ได้รับวัคซีน​ ถ้าผู้ปกครองยังไม่ได้รับวัคซีนทางโรงเรียนจะจัดให้มีการเรียนที่บ้าน​ เพราะฉะนั้นจะมีกลุ่มที่ผู้ปกครองยังไม่อนุญาตให้มาโรงเรียน​ ส่วนการเดินทางต้องเป็นผู้ปกครองที่สามารถรับส่งได้หรือขึ้นรถรับจ้างที่มีการระบุตัวตน" น.ส.พลอยนภัส​ กล่าว

ผู้อำนวยการ​ ร.ร.สุลักขณะ​ กล่าวอีกว่า​ สำหรับเด็กที่จะมาโรงเรียน​ วันแรกของการเปิดเรียนจะมีการตรวจ​ ATK​ 100 % โดยหลังจากนี้ใช้การสุ่มเป็นระยะ​

"ทาง​ จ.ปทุมธานี​ แจ้งว่าถ้าอนุญาตให้เปิดเรียน​ ต้องดูพื้นที่นั้นๆว่ามีการระบาดมากน้อยอย่างไร​ โรงเรียนต้องสุ่มตรวจถี่บ่อยแค่ไหน​ หากไม่กำหนดมาสำหรับเราแล้วอาจจะสุ่มทุก14วัน​ จำนวน​ 20%"

อย่างไรก็ตาม​ การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาด​ เช่น​ หน้ากากอนามัย​ เจลล้างมือ​ ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนนั้น​ น.ส.พลอยนภัส​เผยว่าได้รับการสนับสนุนจาก​ อบจ.ปทุมธานี​

"ถ้าใช้งบโรงเรียนทั้งหมดก็คงลำบากเหมือนกัน​ ตอนนี้งบซ่อมบำรุง​ สื่อการเรียนการสอนหนักก็แล้ว​ ถ้าเราจัดให้เด็กๆทุกคน​ก็คงเหนื่อย​ ซึ่งโชคดีที่ทาง อบจ.ปทุมธานี​ สนับสนุนหน้ากากอนามัย​ เจลล้างมือ​ สเปรย์​ เนื่องจากเราเป็นโรงเรียนรัฐบาลขนาดเล็กเราต้องประสานขอความร่วมมือ​น้ำยาทำความสะอาด​ สบู่ล้างมืิอ ซึ่งเราก็ต้องหาประสานบ่อยๆ เสริมเติมให้เพียงพอ" ผู้อำนวยการ​ ร.ร.สุลักขณะ​ กล่าว