ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แรงงานคือปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการเปิดประเทศฟื้นเศรษฐกิจ หลังจากที่มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษบกิจในหลายด้านต้องหยุดชะงัก หลายฝ่ายประเมินว่าการเปิดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังเปิดประเทศมีแรงงานที่ยังขาดแคลนอีกไม่ต่ำกว่า 400,000-1 ล้านคน จำเป็นต้องนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความกังวลต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 จากกลุ่มแรงงานต่างด้าว ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2563

เมื่อวันที่​ 13​ พ.ย.​ สำนักข่าว​ The ​Reporters และ​สำนักข่าวชายขอบ​ ร่วมกันจัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ​ ปัญหาแรงงานข้ามชาติซับซ้อนหรือซ้ำซาก​ โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ พิเชษฐ์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และ พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ร่วมให้ข้อมูลและคงามเห็นถึงแนวทางบริหารจัดการด้านแรงงานในภาวะที่การฟื้นเศรษฐกิจมีความจำเป็นไม่มากและน้อยไปกว่าการควบคุมโรค

สุธาสินี​ แก้วเหล็กไหล​ ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ​ เปิดประเด็นให้เห็นต้นตอของการขาดแคลนแรงงานว่า​ ก่อนจะมีการระบาดโควิดนั้นแรงงานต่างด้าวในไทยเข้ามาแบบทำข้อตกลงกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ลาว และกัมพูชา หรือแรงงาน​ MOU​ เกือบทั้งหมด​ แต่เมื่อพาสปอร์ตหมดอายุจึงกลับไปทำหนังสือเดินทางแล้วเกิดการระบาดของโควิดในไทย​ แรงงานจำนวนมากไม่สามารถกลับเข้าไทยได้​ และมีแรงงานที่อยากกลับประเทศ​ จึงมีการทยอยกลับเรื่อยๆ

"จากจุดนี้สถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน​ เกิดโอกาสของนายหน้าพอไทยขาดแคลนแรงงาน​ นายหน้าไปชักชวนให้มาทำงานในไทยมีการจ่ายค่าหัว​ โดยในพม่าเองก็มีสถานการณ์ปัญหาจากการเมืองอยากหนีความเดือดร้อนและยากจนตกเป็นเหยื่อนายหน้า​ รองลงมาคือกัมพูชาที่หนีความยากจนลดหลั่นลงมาคือลาว​ ซึ่งไม่ต่างจากคนไทยอีสานที่หนีความแห้งแล้งไปทำงานต่างประเทศจึงเป็นสาเหตุแรงงานตกเป็นเหยื่อนายหน้าเข้ามา" สุธาสินี​ กล่าว

พจน์​ อร่ามวัฒนานนท์​ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย​ กล่าวว่า​ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตัวเลขแรงงานกลับไปต่อพาสปอร์ตอยู่ประมาณเดือนละ​ 3 ​หมื่นกว่าคน​ เมื่อถึงช่วงวันที่ 1 เมษายนที่เริ่มมีการควบคุมการระบาดล็อกดาวน์ปิดประเทศยาวมาจนถึงวันนี้ดีมานด์หายไปมาก​ เมื่อแรงงานพม่่าหนีตายและหนีอดตายจากปัญหาในประเทศมาพร้อมเชื้อโควิด-19​ แล้วลักลอบหลบซ่อนโดยเฉพาะที่​ อ.มหาชัย ​

“จะเห็นได้ว่าปีที่แล้วอุตสาหกรรมเริ่มดีขึ้น ภาคการผลิตดีขึ้น​ ภาคการส่งออกของเราไม่ได้เลวร้ายเลย​ แต่มาปีนี้ดีมานด์แรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยมีอยู่ 4 ส่วนหลักๆคือ​ 1.อุตสาหกรรม​ 2.ก่อสร้าง​ 3.เกษตรกร​ 4.บริการ​ ภาคอุตสาหกรรมพอโตจากการส่งออกแรงงานก็อยากกลับเข้ามา​ ภาคก่อสร้างเราอาศัยกัมพูชาเยอะและพม่า​ เราต้องรีบนำแรงงานกลับเข้ามาเพราะมีโครงการเมกะโปรเจคต์ค้างเยอะมาก​ ภาคเกษตรเดือดร้อนหนักเป็นซีซั่นเก็บเกี่ยวของแต่ละจังหวัด​ แต่ภาคบริการมีปัญหาเพราะปิดเมืองเจ้าของปิดกิจการจึงไม่มีคน จึงมีการจูงใจให้ลักลอบเข้ามา​ ตัวเลขประมาณ​ 5​ แสนคน​แต่ส่วนตัวผมว่าเกิน​ ถ้าไม่มีการระบาดรอบใหม่​ เศรษฐกิจเดิน​ ผมว่ามีสิทธิขาดแคลนแรงงานถึง 1 ล้านคนรวมภาคเกษตรด้วย" รองประธานกรรมการหอการค้าไทย​ กล่าว

อดิศร​ เกิดมงคล​ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ​ ก็อธิบายถึงสาเหตุปัญหาใกล้เคียงกัน โดยกล่าวว่่า​ สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานมี 3 ช่วง​ คือ​ 1.ช่วงก่อนโควิดที่แรงงานกลับไปต่อใบอนุญาตทำงาน​ 2.ช่วงหลังโควิดประเทศล็อคดาวน์แรงงานไม่มีงานทำ​ และ3.​ช่วงตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้วความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น

"ก่อนโควิดแรงงานกลับไปต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานส่วนหนึ่งเดินทางกลับไปดำเนินการเอกสารต่างๆบวกกับช่วงนั้นมีเทศกาลหยุดยาว​ คาดว่าแรงงานพม่าน่าจะมีประมาณ​ 6​0,000 คน​ รวมลาวกับกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 100,000 คนที่กลับไปช่วงนั้น​ ต่อมาคือช่วงหลังโควิดที่มีการล็อคดาวน์ทำให้แรงงานไม่มีมีงานและกลับย้านไปเป็นปัญหาที่ตามมาคือมีแรงงานหลุดระบบตัวเลขการจ้างงานช่วงนั้นก็ลดลง​ จนกระทั่งเดือน​ ส.ค.2563 ​เป็นต้นมาความต้องการแรงงานเปิด​ จริงๆ ความต้องการมีมาตั้งแต่​ ส.ค.แล้วเพียงแต่มันไม่มากเท่านี้​ มีการขยับตัวเข้ามาของแรงงานเป็นระยะ​ มีคนตั้งข้อสงสัยว่าช่วงนั้นทำให้เกิดโควิดระลอก2หรือไม่" อดิศร​ กล่าว

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ​ กล่าวอีกว่่า​ สิ่งที่ควรต้องทำ​ 3​ ประการคือ​ 1.รักษาแรงงานที่อยู่ในนะบบ​ 2.ดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบ​ และ​ 3.ทำให้การทำงานถูกกฎหมายทำได้จริงเข้าถึงง่ายที่สุด

เมื่อมาตรการต่างๆ ผ่อนคลายลง กิจกรรมทางเศรษบกิจต่างๆ ได้รับการผ่อนปรนกลับมาดำเนินการได้ เมื่อความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นแต่มาตรการของรัฐยังไม่ชัดเจน กิริยา​ กุลกลการ​ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์​ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ กล่าวว่า​ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการนำเข้าแรงงานสีดำ หรือแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเข้ามาก่อน

“ประเทศไทยมีปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมา​ 28 ปีแล้ว​ ทั้งเรื่องแรงงานหลุดระบบ​ เรื่องส่วย​ ซึ่งก็มีการพยายามแก้ปัญหามาแล้ว​ 29​ ปีเช่นกัน เมื่อเปิดตรงนี้ก็ทำให้ข้างนอกอยากจะเข้ามาสู่การจดทะเบียนรอบนี้อีกด้วย​ เขาก็มีปัญหาการเมือง​ เศรษฐกิจอยู่แล้วก็เป็นปัจจัยที่อยากจะเข้าสู่ประเทศเรา​ คิดว่ากระทรวงควรทำไปพร้อมกันทั้งเคลียร์ข้างในแล้วเปิดให้เข้าประเทศถูกกฎหมายที่กระทรวงทำช้าไปหรือเปล่า​ การทำ MOU ครั้งนี้เริ่ม 1​ ธ.ค.ที่เข้าคิวกันอยู่จะได้คนไหม​ แล้วมันก็แพงด้วยค่าใช้จ่ายก็สูงจะทันต่อสถานการณ์ตรงนี้ไหม​ ที่บอกว่าซีลพรมแดนแต่ตลอดเวลา​ 29​ ปีที่ผ่านมาเราซีลไม่ได้เพราะฉะนั้นเราต้องทำ​ 3​ อย่างพร้อมกันคือเคลียร์ข้างใน​ เปิดให้เข้าประเทศถูกกฎหมายและซีลพรมแดน" อ.กิริยา​ กล่าว

ด้าน พิเชษฐ์​ ทองพันธ์​ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว​ กรมการจัดหางาน กล่าวว่า​ สภาพขาดแคลนแรงงานจากโควิดล่าสุดมีตัวเลขอยู่ที่ราวๆ​ 4​ แสนคน​ มติครม.28​ ก.ย.2564 ขยายระยะเวลาขึ้นทะเลียนให้แรงงานต่างด้าว 2 กลุ่ม แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติผิดกฎหมาย และแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ขออนุญาตทำงาน แต่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จเป็นเหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัวคือแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและให้แรงงานเข้าสู่ระบบ​ แก้ปัญหาแล้วควบคุมโรคไปด้วย​ ซึ่งจากการสำรวจพบว่านายจ้างที่ประสงค์จะนำเข้าแรงงานอยู่ที่ราวๆ​ 4​ แสนคน

"การทะลักของแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นความเข้าใจผิดของแรงงานต่างด้าวว่าเข้ามาแล้วจะขึ้นทะเบียนได้ จริงๆแล้วต้องเข้ามาก่อนวันที่​ 28​ ก.ย.​ MOU​ ติดขัดมาตรการควบคุมโรคเงื่อนไขยังไม่เปิดประเทศ​ ส่วนค่าใช้จ่ายยังคงเดิม​ที่เพิ่มขึ้นมาคือตรวจโควิดและการกักตัว​ วิธีการคือ​ 1.แรงงานยังไม่เดินทางเข้ามาให้ผู้ประกอบการแจ้งดีมานด์ที่สำนักจัดหางานโดยระบุว่าจะตรวจโควิดที่ไหนในกรณีติดเชื้อ​ ใช้กรมธรรม์คุ้มครองโควิดอย่างไร​ 2.แรงงานกำลังเข้ามาต้องตรวจ​ RT-PCR​ หรือ​ ATK​กำหนด​ 72 ชั่วโมง​ ดูว่่าได้ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 หรือยัง​ ตรวจ namelist ขึ้นรถไปกักตัวตรวจ 6 โรคและโควิดอีกรอบ​ถ้าพบเชื้อก็ทำการรักษา ถ้าไม่พบเชื้อให้กักตัว​ ​ถ้าฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็มให้กักตัว 7 วัน​ ถ้าฉีดมา 1 เข็มหรือยังไม่เคยฉีดให้กักตัว 14 วัน​ สำหรับคนที่ยังไม่เคยฉีดเราเตรียมวัคซีนไว้​ 400,000 โดส​ หรือฉีดมาเข็มเดียวเราก็จะฉีดให้อีก 1 เข็ม" พิเชษฐ์​ กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว​ กล่าวอีกว่า​ ค่าใช้จ่ายในระหว่างที่แรงงานเข้ามากักตัวนั้นจะมีค่าตรวจโควิด​ 2​ ครั้ง​ ครั้งละ​ 1,300​ บาท​ รวม​ 2,600 บาท​ ค่าลงวีซ่า​ 1,000​ บาท​ ค่าใบอนุญาตทำงาน​ ค่าประกันโควิด​ ไม่รวมกักตัวประมาณ​ 7,990 บาท​ ถ้ารวมกักตัวประมาณ​ 11,490-11,990 บาท​ แต่ถ้ากักตัว​ 14​ วัน​ จะอยู่ราวๆ​ 15,000​ บาท​ ขึ้นไป

ด้านสุชาติ​ ชมกลิ่น​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน​ กล่าวว่า​ ค่าใช้จ่ายพยายามเป็นธรรมมากที่สุดโดยทุกอย่างเท่าเดิมเพิ่มเติมคือการกักตัวเท่านั้น

"คุยกับกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่าถ้ารับวัคซีนมา2เข็มทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทยเชื่อมั่นว่าแรงงาน ​MOU ไม่มาเป็นคลัสเตอร์ใหม่​ ถ้าฉีด 2 เข็มกักตัว 7 วัน​ เอกชนประสานสาธารณสุขจังหวัดให้มีที่กักตัว​ เรียนว่าค่าใช้จ่ายกักตัวเป็นเรื่องที่ผมเบิกไม่ได้แต่วัคซีนผมขอได้​ ถ้ากักตัวไม่มี​ PCRจะทำให้คนไทยเชื่อมั่น​ ก็ต้องตรวจ​ PCR เข้าประเทศตรวจครั้งที่ 1​ อีก 7 วันตรวจอีกครั้งตรงนี้ค่าตรวจถูกลงแล้ว​ ดีกว่าโอนเงินไปให้ต่างด้าว 1-2 หมื่นบาทโดนจับก็เสียเงินเปล่า​ ผมพยายามสื่อสารไปให้ทางต่างประเทศทราบว่าเงินที่ได้รับจากนายจ้างมาก็สูญเปล่าถ้าโดนจับ​ ถ้าผมเป็นนายจ้างคำนวณแล้วจากวันที่1ธ.ค.นี้​ อีกประมาณ​ 30​ วัน​ ต้องทำประกันโควิด​ 4​ เดือน​ ประมาณ​ 1,000​ บาท​รอเข้าประกันสังคม​ ตรงนี้ต้องช่วยกัน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน​ กล่าว