ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

​วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564  ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานประกาศวิสัยทัศน์แห่งความร่วมมือ เพื่อปรับ - เปลี่ยน - ปั้น ฐานประชากร สู่สังคมแห่งความยั่งยืน ในโครงการ Smart Family Planning   โดยมี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ และรองประธานกรรมการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และ Mr. Koen C. Kruijtbosch กรรมการผู้จัดการบริษัทออการ์นอน ประเทศไทย จำกัด ร่วมงาน ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี

ดร.สาธิต  ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สุขภาพที่ดี เป็นต้นทุนพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ผู้ที่มีสุขภาพดี ถือเป็นผู้มีต้นทุนทางชีวิตสูง มีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตและก้าวหน้าต่อไป แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรของไทย ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ประชากรที่เกิดในยุค “เบบี้บูม (Baby Boom)” กลายเป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.53 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน ส่งผลให้อัตราพึ่งพิงเพิ่มขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือเพื่อปรับ - เปลี่ยน - ปั้น ฐานประชากร สู่สังคมแห่งความยั่งยืน

จึงเป็นการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนี้ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ดังนี้ 1) ปรับทุกนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมการเกิดเพิ่มขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อเพียงพอสำหรับทดแทนประชากร และการเกิดทุกราย มีการวางแผน  มีความตั้งใจและมีความพร้อมในทุกด้าน นำไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะเจริญเติบโต    อย่างมีคุณภาพ

​“ในส่วนถัดมา คือ 2) เปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวและสถาบันครอบครัว โดยส่งเสริมให้คนโสด  มีช่องทางได้พบปะกันเพื่อส่งเสริมการมีคู่ ใช้ชีวิตคู่ และมีบุตร รวมทั้งสนับสนุนมาตรการและสวัสดิการที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัว อาทิ การตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร การดูแลรักษาภาวะมีบุตรยาก การรับยาเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก เป็นต้น ซึ่งการสร้างสังคมที่น่าอยู่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวมิใช่หน้าที่ของภาครัฐเท่านั้น แต่ควรเกิดจากความส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน และภาคประชาสังคมและ

3) ปั้นเครื่องมือสื่อสารข้อมูลความรู้และอนามัยการเจริญพันธุ์ ส่งตรงถึงมือกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยส่งเสริมให้ประชาชนที่ต้องการมีคู่และมีบุตร เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและมีการเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตรที่สะดวก เข้าถึงง่าย ผ่านเว็บไซต์วิวาห์สร้างชาติ (www.wiwahproject.com) ส่วนวัยรุ่นและเยาวชนใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล  “Line Official Teen Club” ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ข้อมูลสิทธิประโยชน์ของวัยรุ่นไว้ ณ จุดเดียวกัน โดยใช้งานผ่าน Smart Phone” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี ด้วยการดูแลสุขภาพของประชาชนตลอดชีวิต ได้เล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนนี้ในประเด็นการวางแผนครอบครัว โดยมุ่งเพิ่มอัตราการเกิดโดยสมัครใจ ได้จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้การเกิดทุกรายมีการวางแผน  มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ได้รับความช่วยเหลือในการมีบุตรกรณีมีบุตรยาก การส่งเสริมให้ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี และเด็กได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่มีคุณภาพเอื้อต่อการเจริญเติบโต มีพัฒนาการสมวัย                           

ทั้งนี้ การลดปัญหาการเกิดน้อยและด้อยคุณภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพประชากรและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนนั้น  ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการดำเนินงานจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว การกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมรับทราบถึงปัญหา เกิดความตระหนัก และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันของคนในสังคม จึงจะทำให้เกิดพลังและความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมทุกมิติและเหมาะสมกับบริบทของสังคม

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org