ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.ชี้ “แม่ฮ่องสอน” ฉีดวัคซีนโควิด-19 น้อย อาจไม่จริง! เป็นไปได้คนในจังหวัดฉีดพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว มอบระบบ “หมอพร้อม” จำแนกให้ชัด เพื่อดูภาพรวมการฉีดวัคซีนแต่ละจังหวัดสอดคล้องระดับประเทศหรือไม่ ขณะที่กรมวิทย์ เตรียมแถลงตรวจภูมิคุ้มกันคนฉีดวัคซีนสัปดาห์หน้า!!

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” และวัคซีนโควิด19 ว่า ขณะนี้เรามีมาตรการเตรียมพร้อมหลายอย่าง อย่างทั้งการห้าม 8 ประเทศในกลุ่มแอฟริกาเข้าไทย ทั้งบอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ยกเว้นคนไทยที่เดินทางกลับมา แต่ต้องเข้าสู่ระบบกักตัว 14 วัน นอกจากนี้ คนที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังคงให้ตรวจหาเชื้อ RT-PCR โดยขอขยายเวลาไปถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 จากเดิมจะให้ตรวจด้วย ATK ส่วนวัคซีนป้องกันโควิดยังได้ผลอยู่เช่นเดิม

“ขณะนี้เรามีมาตรการเข้มมาก อย่างการป้องกันคนเดินทางเข้ามาทางอากาศ ค่อนข้างเข้มงวด ส่วนทางบก ตามด่านต่างๆ ก็ต้องเข้มเช่นกัน อย่างที่จะมีการเปิดด่านหนองคายเพิ่มช่วงหลังวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ก็ยังมีเวลา แต่เรื่องนี้ก็ต้องติดตามต่อเนื่องว่า เชื้อโอไมครอนเป็นอย่างไรต่อไป” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า อาการของโควิดโอไมครอนตอนนี้เป็นอย่างไร นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ยังไม่ชัดเจน แต่เบื้องต้นอาการไม่ได้รุนแรง ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ 2-3 วันจะดีขึ้น แต่เราก็ต้องติดตามต่อไป อย่างไรก็ตาม การคงมาตรการป้องกันตัวเอง ทั้งสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ยังป้องกันได้ดีที่สุด ควบคู่กับการฉีดวัควีนป้องกันโควิด19 ซึ่งขณะนี้เรากำลังเดินทางฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอยู่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยฉีดวัคซีนในกลุ่มคนไทยแล้วจำนวนมาก เป็นเข็ม 1 กว่า 72% ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากให้ได้ถึง 75% คาดว่าในสิ้นปีนี้ ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเข็ม 2 ฉีดครอบคลุมมากกว่ากว่า 60% ดังนั้น ขอความร่วมมือประชาชนทุกฝ่ายมาฉีดวัคซีน ซึ่งเรามีวัคซีนมากพอ วัคซีนภาครัฐมีราว ๆ 140 ล้านโดส วัคซีนทางเลือกประมาณ 20-30 ล้านโดส

ปลัดสธ. ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ฉีดวัคซีนก็มีประมาณ 3 ประเภทบวกกับ 1 กลุ่ม อย่าง1.กลุ่มลังเล กลัวผลข้างเคียง เราก็ต้องให้ข้อมูลให้ข้อเท็จจริง ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจเรื่องนี้แล้ว 2. กลุ่มรอวัคซีนที่จองไว้ และ3.กลุ่มที่อยู่ห่างไกล เดินทางลำบาก ทางพื้นที่ค้นหาและเดินทางไปถึงบ้านฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน ส่วนกลุ่มบวกอีกหนึ่ง กลุ่มนี้คือ ไม่ฉีดวัคซีนเลยด้วยปัจจัยความเชื่อใดๆ ก็ตาม ซึ่งตรงนี้เราก็เน้นให้ข้อมูล ทำความเข้าใจมากที่สุด

“ยังได้มอบให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำการตรวจภูมิคุ้มกันของคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว ว่า ภูมิฯขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมีการแถลงเรื่องนี้ว่า ฉีดวัคซีนไปแล้วภูมิฯ ขึ้นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

สำหรับจังหวัดที่ฉีดวัคซีนโควิดส่วนใหญ่ฉีดมากกว่า 50% แล้ว มีเพียงจ.แม่ฮ่องสอน ที่ฉีดไปประมาณ 45.24% โดยจังหวัดที่ฉีดไปแล้ว 70% มี 22 จังหวัด อย่างไรก็ตาม จริงๆ จังหวัดที่ฉีดน้อย อาจไม่ได้น้อยจริงๆ เพราะเป็นไปได้ว่า พื้นที่นั้นๆ อาจไปฉีดวัคซีนในจังหวัดที่ใหญ่กว่า เนื่องจากอาจเป็นจังหวัดที่ได้วัคซีนมาก เพราะตอนนั้นมีการติดเชื้อเยอะ เหมือนกรณีกรุงเทพฯ มีจังหวัดใกล้เคียงไปฉีดวัคซีน เป็นต้น แต่เพื่อความชัดเจน ขณะนี้ได้ให้ทางระบบ “หมอพร้อม” ไปดำเนินการจำแนกการฉีดวัคซีนจริงๆของแต่ละพื้นที่อยู่ เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งประเทศ

ปลัดสธ. กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์เตียงปัจจุบันมีประมาณ 2 แสนเตียง ใช้ไปประมาณ 30% ตอนนี้ยังมีพอเหลือ ยามีฟาวิพิราเวียร์ อย่างน้อย 45 วันละ 5 แสนเม็ด และสั่งเพิ่มจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันประเทศไทย โดยองค์การเภสัชกรรมมีวัตถุดิบสำหรับผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ประมาณ 60 ล้านเม็ด นอกจากนี้ เรายังมีการทำสัญญาสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 50,000 คอส จะเข้ามาในเดือน ม.ค.2565

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : แม่ฮ่องสอนขอโอกาสเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19