ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส. จับมือ เอ็มเทค สวทช. พัฒนา “เปล-เต็นท์ความดันลบ” ผลงานการต่อยอดวิจัย สู่นวัตกรรมมาตรฐานสากล  พร้อมส่งมอบแก่โรงพยาบาลและสถานพักฟื้นช่วยแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานการณ์ที่ยังคงการระบาด

วันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ อาคาร ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วยคณะวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมส่งมอบนวัตกรรม“ไฮพีท (HI PETE) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย และพีท (PETE) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ” ผลงานจากการ  ต่อยอดงานวิจัยพัฒนาชุดอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ ให้แก่สถานพักฟื้นและดูแลสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ : MJU Well-Being Hospitech และโรงพยาบาลสันทราย โดยมี ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และ ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและดำเนินงานวิจัยพัฒนา ร่วมส่งมอบนวัตกรรม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บัญญัติ มนเทียรอาสน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการมอบนวัตกรรมงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ให้แก่สถานพักฟื้นและดูแลสุขภาพมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และโรงพยาบาลสันทราย

ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะที่เป็นหน่วยงานให้การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกับช่วงการแพร่ระบาดที่จำเป็นจะต้องมีห้องแยกผู้ป่วย (Isolation Room) เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ซึ่งทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. ได้ผลิตและพัฒนานวัตกรรม “ไฮพีท (HI PETE) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยติดเชื้อ” ขึ้นสำหรับใช้ที่บ้านหรือชุมชนที่มีพื้นที่จำกัดที่ไม่สามารถมีห้องแยกผู้ติดเชื้อออกจากคนทั่วไปได้ หรือใช้สำหรับศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวมีการพัฒนาด้านการออกแบบให้เหมาะกับบริบทการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น รวมทั้งการนำเข้าสู่กระบวนการทดสอบจนได้มาตรฐานทั้งด้านประสิทธิภาพการกรองเชื้อ และความปลอดภัยทางไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งนวัตกรรมงานวิจัยนี้ยังสามารถขยายผลการใช้งานไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตามสถานการณ์การระบาดได้อีกด้วย

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นของสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เอ็มเทค สวทช. ได้ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานพันธมิตร เร่งพัฒนานวัตกรรม PETE (พีท) เปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด และอำนวยความสะดวกในการนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีที สแกนได้โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากเปล ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งในสถานพยาบาล หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลด้วยรถพยาบาล ซึ่งได้ส่งมอบเปล PETE (พีท) ดังกล่าวให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานผู้ใช้ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 70 ชุดในล็อตแรก

“หลังจากนั้น เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมกับ สวรส. และ สกสว. ในฐานะหน่วยสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม HI PETE (ไฮพีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย (Patient Isolation Chamber for Home Isolation) โดยทีมวิจัยได้ต่อยอดองค์ความรู้จากการพัฒนาเปล PETE  เป็นเต็นท์ความดันลบที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับผู้ป่วยสีเขียวที่จำเป็นต้องทำ Home Isolation ที่บ้าน แต่ไม่มีห้องแยกในที่อยู่อาศัย หรือใช้สำหรับโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกหรือกักผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อทางเดินหายใจ จุดเด่นที่พัฒนาต่อยอดงานชิ้นนี้ แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก โดยการพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ได้มาตรฐานสากล

กล่าวคือ มีการทดสอบผลิตภัณฑ์จนได้มาตรฐานทั้งด้านประสิทธิภาพการกรองเชื้อ และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล  นอกจากนี้ ปัจจุบัน พีท (PETE) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนบาท/ชุด (โดยยังไม่รวมค่าอะไหล่ ค่าซ่อมบำรุง) และ ไฮพีท (HI PETE) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นบาท/ชุด โดยในอนาคตจะทำการลดต้นทุน ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ให้ พีท (PETE) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ มีต้นทุนต่ำกว่า 1 แสนบาท/ชุด และ ไฮพีท (HI PETE) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย มีต้นทุนไม่เกิน 3 หมื่นบาท/ชุด ซึ่งจะทำให้สถานพยาบาล และหน่วยการแพทย์ฉุกเฉินทั่วไป สามารถย้ายไปติดตั้งเป็นห้องรักษาพยาบาลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อเป็นการชั่วคราวได้ มีช่องหน้าต่างสำหรับสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน ลดระยะเวลา ลดภาระงาน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากร 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัญญัติ มนเทียรอาสน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ในการรับมือการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา  มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นการสนองนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ที่ให้มหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยได้ทำงานร่วมมือประสานกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โรงพยาบาลสันทราย ทีมแพทย์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี

แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงร่วมกับอำเภอสันทราย และโรงพยาบาลสันทราย ได้ดำเนินการเปิด MJU Well-Being Hospitech เป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว (Community Isolation หรือ CI) เพื่อแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้ใกล้ชิดที่ไม่ติดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในครอบครัวที่อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน แต่เนื่องจากศูนย์พักคอยไม่มีห้องแยกผู้ป่วย ทำให้ยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อทางเดินหายใจภายในศูนย์ได้

ด้านอาจารย์ ดร.ปิยะพันธุ์ นันตา รองคณะบดี พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า เปลความดันลบมีความจำเป็นอย่างมากต่อทุกโรงพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่มีเปลความดันลบเพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด ในวันนี้ โรงพยาบาลได้รับมอบ พีท (PETE) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ จะช่วยสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับบุคลากรผู้อยู่หน้างานได้อย่างมาก โดยเปลความดันลบนี้จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของทีมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และสะดวกในการนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีที สแกนปอด หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ เพราะไม่ต้องนำผู้ป่วยออกจากเปล นอกจากนี้ถ้าหากมีการแพร่ระบาดเพิ่มอีก ยังสามารถรับผู้ป่วยได้เกือบ 150 คน ทั้งนี้หากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โรงพยาบาลสามารถใช้เปลดังกล่าวกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ต่อไป