ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการชมรมนวก.สธ. เผย ปัญหากรณีบุคลากรรพ.สต.ที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน แต่กลับถูกแจ้งชื่อไป อบจ. พร้อมย้ำ! อยากให้คนที่ถ่ายโอนไปคือคนที่สมัครใจไปด้วยตนเอง วอนสธ.ต้องช่วยกลุ่มคนที่ยังลังเลและอยากถอนตัว หรือคนที่ไม่ได้สมัครใจไปด้วย

เปิดความคิดเห็นกรณีการถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ  เนื่องจากมีบุคลากรรพ.สต.ที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน ร้องทุกข์มาที่ตนว่า ถูกแจ้งชื่อไปโดยไม่สมัครใจ และมีรายชื่อปรากฏที่ อบจ. ว่าต้องการถ่ายโอน  หรือบางคนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องการถอนตัวจากการถ่ายโอน  แต่ถูกแกนนำรพ.สต และอบจ.ปฏิเสธ  โดยอ้างว่า เมื่อมีรายชื่อถ่ายโอน รพ.สต.และทรัพย์สินในรพ.สต เป็นของอบจ.ไปแล้ว  ถ้าไม่ถ่ายโอนก็ต้องลาออกและหาที่อยู่ใหม่  เบื้องต้น นักข่าว Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ริซกี สาร๊ะ” เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) ดังนี้

กรณีรพ.สต.หลายแห่งในบางจังหวัดที่ไม่สมัครใจถ่ายโอน และไม่ได้ส่งชื่อหรือใบสมัครแต่อย่างไร แต่กลับมีรายชื่อปรากฏที่ อบจ. และไปขอยกเลิกไม่ได้ จึงได้มีการแจ้งข้อมูลเข้ามาว่าต้องทำอย่างไรต่อไป ในเบื้องต้นแนวทางนี้สอดคล้องกับที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาชี้แจงว่า กรณีไม่สมัครใจในการถ่ายโอนภารกิจให้ส่งข้อมูลยืนยันว่าไม่ถ่ายโอนไปที่กระทรวงสาธารณสุขได้เลย

จากข้อมูลที่ร้องทุกข์มา พบว่า บางรพ สต. ได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ถูกต้อง หรือสื่อสารเกินจริง จากแกนนำรพ.สตในจังหวัด ที่กระตุ้น เร่งรัด โทรติดตามให้ทุกรพ.สต.ส่งชื่อถ่ายโอนโดยเร็ว เช่น มีการแจ้งว่าถ้าไม่ถ่ายโอนในปีนี้ปีหน้าก็ต้องไปทั้งหมด หรือมีข้อมูลว่าอบจ. สามารถชี้หรือเลือกได้ว่าจะเอา รพ.สต. ไหนก็ได้ และในบางพื้นที่ก็แจ้งว่าพรบ.กระจายอำนาจฯ บังคับให้ทุกที่ต้องไปทั้งหมด ถ้าไม่ไปอาจจะตกงานหรือต้องย้ายที่อยู่ใหม่ เป็นต้น

สำหรับตัวอย่างของการสื่อสารเกินจริง ของแกนนำรพ.สต ในบางจังหวัด ซึ่งจากข้อมูล แทบไม่น่าเชื่อ ว่าระดับแกนนำชมมรพ.สต.บางคน ในบางจังหวัดจะสื่อสารแบบนี้ เช่น

" ตอนนี้รพ.สต.เป็นทรัพย์สินของอบจ.ไปแล้ว แม้จะไม่ได้สมัครใจ หรือส่งรายชื่อขอถ่ายโอนก็ตาม"

"บางที่  ก็ถูกหลอกว่า ไม่สมัครปีนี้  ปีหน้าก็ต้องไปหมด เพราะอบจ.ชี้ได้ว่าจะเอารพ.สต.ไหน สมัครปีนี้ไปเลยดีกว่า"

"บางจังหวัด แกนนำชมรมรพ.สต. ใช้วิธีรวบชื่อทุกรพ.สต. ส่งอบจ. แทน ผอ.รพ.สต.ที่ไม่สมัครใจถ่ายโอน"

ซึ่งตนถือว่า เป็นการกระทำทีเลวร้ายมาก ที่สื่อสารเชิงบังคับแบบนี้  ทำให้บางคนที่ไม่สมัครใจต้องยอมส่งชื่อถ่ายโอนไป  ยิ่งคนที่ทำ เป็นหมออนามัยด้วยกันเอง ยิ่งไม่น่าทำแบบนี้เลย

จากกรณีที่กล่าวมา ตนจึงพยายามสื่อสารไปยังผู้ร้องทุกข์ว่าถ้าไม่สมัครใจถ่ายโอน ก็สามารถทำได้  และไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องถ่ายโอนภายในปี 2 ปีนี้ เพราะที่ผ่านมา 22 ปี ก็ยังไม่สามารถบังคับให้ถ่ายโอนได้ อย่างโรงเรียนก็ไม่ได้ถ่ายโอนไปทั้งหมดส่วนใหญ่ก็ยังสังกัดสพฐ.อยู่เช่นเดิม และรพ.สต. เองที่ผ่านมาก็ถ่ายโอนไปแค่ 80 กว่าแห่ง ก็ไม่ใช่การบังคับ ซึ่งตนมองว่าในบางข้อความที่สื่อสารออกไปอาจเป็นการสื่อสารเกินจริง เพื่อกระตุ้นให้มีการถ่ายโอนให้มากที่สุด ส่งผลให้มีบางชุดข้อมูลที่สื่อสารไม่ถูกต้อง และส่งผลกระทบต่อคนที่ไม่สมัครใจถ่ายโอน

ตอนนี้จึงมีกลุ่มคน รพ.สต.จำนวนหนึ่ง ที่ต้องการถอดชื่อในการถ่ายโอนครั้งนี้ เพราะกระบวนการถ่ายโอนอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะมีการเร่งรัด และให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช่น มีการพูดแต่ข้อดี เรื่องของสิทธิประโยชน์ ความก้าวหน้า เพื่อจูงใจ แต่กรณีคนที่ไม่สมัครใจถ่ายโอน กลับสื่อสารเชิงบังคับ และให้ข้อมูลที่เกินจริง

เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเองอาจจะต้องมีชุดข้อมูลสำหรับคนที่ไม่สมัครใจไป เพราะจากกระแสตอนนี้ กลายเป็นว่าคนที่สมัครใจไปหากต้องการถอนชื่อจะถอนได้แต่ตัว แต่ รพ.สต. ไปอยู่กับอบจ. แล้ว กลายเป็นว่าเจ้าตัวต้องไปหาที่ใหม่ ผมจึงมองว่าถ้าคนทั้งรพ.สต. ที่ไม่สมัครใจไปนั้นก็ควรจะกลับมาอยู่รพ.สต เดิมกับกระทรวงสาธารณสุขได้   เพราะกระบวนการถ่ายโอนยังไม่เกิดขึ้น

หากมีกรณีที่บุคลากร รพสต. ยอมถ่ายโอนบางส่วน  และไม่ยอมถ่ายโอนบางส่วน อาจจะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป ว่าอำนาจการถ่ายโอน เป็นของผอ.รพ.สต.ผู้เดียว หรือเสียงส่วนใหญ่ในรพ.สต.

 “ผมอยากให้คนที่ถ่ายโอนไปคือคนที่สมัครใจไปด้วยตนเอง มีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง  และยินยอมถ่ายโอนอย่างแท้จริง"

 "แต่สำหรับคนที่ยังลังเลอยู่ และไม่ได้สมัครใจถ่ายโอนไป ผมถือว่าเป็นบทบาทของกระทรวงที่จะต้องช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ อาจจะต้องมีการทำหนังสือเพื่อให้ยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้สมัครใจไป และกระทรวงจะรับปากหาวิธีช่วยเหลือพวกเขาอย่างเต็มที่  ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างทุกประเภท  ว่าจะไม่ตกงานอย่างแน่นอน อย่างที่แกนนำรพ.สต.บางคนสื่อสารกัน” ริซกี กล่าว

ส่วนรพ.สต.ที่ยังอยู่กระทรวงสาธารณสุข  ก็ควรหันมาทบทวนและดูแล สิทธิ สวัสดิการ ให้ทัดเทียมบุคลากรกระทรวงอื่นๆ  จะได้ไม่เกิดปรากฏการณ์เลือดไหลออก ถ่ายโอนไปกระทรวงอื่นเช่นนี้ในปีต่อๆไป

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org