ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ติดตามข้อมูล "โอไมครอน" แอฟริกาใต้ อังกฤษ สหรัฐ หลังพบตัวเลขแพร่เชื้อเร็ว แต่ยอดเสียชีวิตลด! ทางวิชาการยังสรุปไม่ได้ว่า รุนแรงน้อย ย้ำ! ประชาชนช่วงสังสรรค์เทศกาลปีใหม่ระวังตัว ปฏิบัติตามมาตรการเข้มเช่นเดิม เสริมด้วยการตรวจ ATK ทุก 3 วันกรณีสงสัย เหตุเป็นช่วงเวลาฟักตัวของเชื้อ

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค  แถลงประเด็นสถานการณ์โควิด 19 และข้อแนะนำในการปฎิบัติตัวห่างไกลโอมิครอน ว่า  ขณะนี้ทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 สะสมประมาณ 284 ล้านราย เสียชีวิตสะสมประมาณ 5.4 ล้านราย  โดยสหรัฐอเมริกาติดเชื้อรายใหม่สูงมาก โดยตัวเลขติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 415,433 ราย เสียชีวิต 1,436 ราย อังกฤษติดเชื้อ 183,037 ราย แต่เสียชีวิต 57 ราย เป็นตัวเลขสองหลักเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม สำหรับโอไมครอน กรณีประเทศแอฟริกาใต้ ตั้งแต่ปีที่แล้วคลื่นการระบาดเป็นเดลตา พบจำนวนเสียชีวิตต่อวันประมาณ 400 ราย แต่โอไมครอน จำนวนเสียชีวิตไม่ได้ยกตัวขึ้น ทั้งที่ยอดติดเชื้อสูงกว่าเดลตา  จุดสำคัญจากที่แอฟริกาใต้รายงานเจอกลุ่มก้อนช่วงกลางเดือน พ.ย. ถึงตอนนี้จะสิ้นธ.ค. เส้นกราฟติดเชื้อพ้นจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งเป็นเชื้อกระจายไว ทำให้อาจผ่านจุดสูงสุดเร็วเช่นกัน ดังนั้น ในส่วนของแอฟริกาใต้ค่อนข้างมั่นใจว่า โอไมครอนไม่ได้ทำให้เสียชีวิตสูง  แต่การจะสรุปว่าประเทศอื่นจะเป็นแบบนี้หรือไม่ ต้องติดตามข้อมูลต่อเนื่อง

สำหรับอังกฤษ ตอนเดลตา ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น นั่นเพราะมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่องมากเรื่อย จึงเป็นผลให้ช่วยลดการป่วยหนักและลดการเสียชีวิต ขณะที่สหรัฐอเมริกา สัปดาห์ที่แล้วพบว่าโอไมครอนน่าจะครอบคลุมประมาณ 73% แต่เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมสัปดาห์นี้อยู่ที่ 58% แต่ไม่ว่าตัวเลขไหนก็ยังเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง ส่วนเสียชีวิตยังไม่สูงเท่าเดลตา อย่างไรก็ตาม อเมริกาคงต้องติดตามต่อเนื่องว่า หากการเสียชีวิตไม่สูงเท่าเดลตา ทั้งที่การติดเชื้อแซงเดลตาไปมาก แสดงว่าลักษณะอาการอาจไม่รุนแรง แต่ทางวิชาการก็ยังไม่ด่วนสรุป

"ส่วนของประเทศไทย 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เจอคลื่นการระบาด และช่วงนี้เราพบโอไมครอนต่อเนื่องมา โดยล่าสุดท่านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานในที่ประชุมพบว่า ติดเชื้อโอไมครอน 934 ราย(ข้อมูลถึง 22.00 น. วันที่ 29 ธ.คง64)" นพ.เฉวตสรร กล่าว

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สำหรับการเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-29 ธ.ค.2564 มีผู้เดินทางเข้ามา 270,851 ราย สูงเป็นสองเท่าของเดือน พ.ย.2564 ส่วนจำนวนการติดเชื้อในเดือน พ.ย. 171 ราย มาจาก Test&Go 83 ราย ส่วนเดือนธ.ค.ติดเชื้อ 1,056 ราย มาจากTest&Go  730 ราย สูงขึ้นประมาณ 4 เท่า ส่วนหนึ่งเป็นจากสถานการณ์ของประเทศต้นทางต่างๆ แสดงว่าโอไมครอนแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการเดินทางเข้าประเทศทุกระบบติดเชื้อสูงขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ อัตราการติดเชื้อจำแนกตามประเทศต้นทางช่วงวันที่ 1-29 ธ.ค.2564 พบว่า เยอรมนีมากที่สุด มีจำนวนผู้เดินทาง 24,119 ราย  ติดเชื้อ 0.2% อังกฤษ เดินทางเข้ามา 18,764 ราย ติดเชื้อ 0.95% รัสเซีย เดินทางเข้ามา 15,088 ราย ติดเชื้อ 0.4%  สหรัฐเดินทางเข้ามา 10,913 ราย ติดเชื้อ 1.35%  

"ในส่วนของผู้เสียชีวิตของไทยวันนี้ มีจำนวน 25 ราย ต้องขอย้ำว่า ผู้เสียชีวิตก็ยังเป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ  60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดจะช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ได้" นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า
ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ  ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยังขอย้ำเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด  โดยวัคซีนทุกชนิดทุกยี่ห้อ เมื่อฉีดครบโดสจะลดการป่วยหนักได้ แต่เมื่อเป็นโอไมครอน เมื่อฉีดไปแล้วเป็นเวลานาน ภูมิต้านทานอาจไม่เพียงพอ ประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้ออาจลดลง เห็นได้จากตัวอย่างหลายประเทศ จำนวนการเข้ารพ.ไม่เพิ่ม แต่ติดเชื้อสูงขึ้น ดังนั้น คนฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้วต้องฉีดกระตุ้น คนฉีดไม่ครบต้องฉีดให้ครบ

"หลังจากมีวัคซีนโควิดเป็นพื้นฐานแล้ว มาตรการสำคัญ คือ V-U-C-A ประกอบด้วย  Vaccine ฉีดครบ ลดป่วยหนัก  Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา ห่างไกลจาก COVID-19COVID Free Setting สถานที่บริการพร้อม ผู้ให้บริการได้รับวัควีนครบ ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ATK (Antigen test kit) ตรวจการติดเชื้อเมื่อสงสัยหรือมีอาการและก่อนหรือหลังการร่วมกิจกรรมที่มีโอกาสเสี่ยง" นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว และว่า สธ.ยังร่วมกับกระทรวงคมนาคม ได้จัดบริการตรวจโควิดด้วย ATK ได้ที่สถานีหมอชิด และสถานีหัวลำโพง ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 3 ม.ค.64

ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงปีใหม่ประชาชนพบปะสังสรรค์มากขึ้น การตรวจ ATK ทุก 3 วันจะถี่เกินไปหรือไม่ หรือมีโอกาสเจอผลบวกลวงหรือไม่  นพ.ทวีทรัพย์  กล่าวว่า การตรวจ ATK จะเป็นกรณีถ้าสงสัยว่า รับเชื้อหรือไม่ ก็ตรวจได้ตัวเอง ซึ่งทั่วไปหลังรับเชื้อจะพบในช่วง 3 วัน ซึ่งก็สามารถตรวจได้ แต่มาตรการการตรวจคัดกรอง ก็ยังไม่ใช่ป้องกัน 100% เพราะแม้ตรวจแล้วไม่เป็น แต่ก็ยังต้องมีมาตรการปฏิบัติตัวเช่นเดิม ทั้งสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ซึ่งคำแนะนำกระทรวงฯ คือ ต้องป้องกันตัวเองตลอดเวลา และใช้ ATK เป็นมาตรการเสริม ส่วนผลบวกลวงเกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถตรวจซ้ำเพื่อยืนยัน  
 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org