ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนที่พุ่งขึ้นสูงในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนติดเชื้อสูงกว่าหนึ่งล้านรายต่อวัน ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าโอไมครอน จะเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหมายความว่าความรุนแรงของโรคจะลดน้อยลง และอัตราการตายก็จะน้อยลงมากจนไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวยังต้องอาศัยทั้งข้อมูลและระยะเวลาเพื่อที่จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

นายแพทย์ เอฟเธอรอส ไมโลนากี้ส์ หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อจากไลฟ์สแปน ซึ่งดูแลโรงพยาบาลและคลินิกทั้งหมดของในเครือของโรงพยาบาล โรด ไอส์แลนด์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าโรคโควิด -19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าโรคโควิด-19 จะมีรูปแบบการพัฒนาของโรคเช่นเดียวกับโรคไข้หวัด เรายังมีตัวอย่างอีกมากมายของเชื้อไวรัสที่การพัฒนาของเชื้อไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่กลายเป็นโรคตามฤดูกาล และเรายังมีความไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับโรคโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาของภูมิคุ้มกันโรค เป็นต้น

เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่า ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เรายังไม่รู้ ซึ่งเป็นการยากที่จะบอกเกี่ยวกับการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ อย่างไรก็ตามข้อมูลจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นละเทหลังจากที่มีการหยุดระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน และเมื่อใดก็ตามที่มีการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ภูมิคุ้มกันก็จะพบมากเช่นเดียวกัน และยังหมายรวมถึงการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เมื่อเกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติอีกด้วย

จากการศึกษาพบว่ารูปแบบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ต่างๆของโรคโควิด-19 ในอังกฤษจะมีรูปแบบการระบาดที่คล้ายกันกับสหรัฐอเมริกา ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในครั้งนี้ ช่วงระยะเวลาของการระบาดสูงสุดน่าจะใช้เวลาประมาณสี่สัปดาห์ ซึ่งหมายความว่าระยะเวลาการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนน่าจะผ่านพ้นไปได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า และยังมีหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโอไมครอน สามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลต้าได้เช่นกัน

ในขณะเดียวกัน นัชมัน อัช ที่ปรึกษาด้านสุขภาพระดับสูงของอิสราเอล เชื่อว่าประเทศอิสราเอลจะมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นจากการระบาดอย่างหนักของสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการติดเชื้อในคนจำนวนมาก ซึ่งการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่สามารถเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ หรือเกิดจากการฉีดวัคซีน ซึ่งควรจะเกิดขึ้นประมาณ 94% ของประชากรจึงจะสามารถยับยั้งการระบาดได้ อย่างไรก็ตามเขายังมีความกังวลว่า การทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเฉพาะจากโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่อ่อนไหว เนื่องจากมีข้อมูลของการลดลงของภูมิต้านทานค่อนข้างเร็วภายในสองสามเดือนหลังจากได้รับเชื้อ และภูมิคุ้มกันดังกล่าวยังไม่สามารถปกป้องร่างกายจากสายพันธุ์อื่นที่กลายพันธุ์ของโคโรนาไวรัสในอนาคตอีกด้วย

ดร. เกรกอรี่ โปแลนด์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาวัคซีน จากมาโย คลินิก กล่าวว่าตราบใดที่โรคโควิด-19 ยังคงมีการกลายพันธุ์ หรือมีสายพันธุ์ใหม่ๆที่อยู่ในความกังวลเกิดขึ้น การเกิดภูมิคุ้มกันแบบถาวรแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ๆจะหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่จากการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีผลเสียจากการเกิดภูมิมิคุ้มกันหมู่จากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ นั่นก็คือจะมีราคาที่ต้องจ่ายในการรักษาพยาบาล และการเสียชีวิต ดังนั้นจึงไม่ใช่กลยุทธที่ถูกต้องนัก ที่จะให้เกิดการติดเชื้อโดยธรรมชาติเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และตราบใดการที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม การระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนก็จะยังคงเป็นปัญหาอยู่

“สำหรับคนที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง สายพันธุ์โอไมครอนดูเหมือนว่าจะอันตรายน้อยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ นอกจากนี่การติดเชื้ออาจนำไปสู่โรคโควิดระยะยาว ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนจึงเป็นอาวุธที่ดีที่สุดในการจัดการกับเชื้อไวรัส”

เขายกตัวอย่างกรณีของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีการระบาดตามฤดูกาล ได้มีการผลิตวัคซีนที่มาจัดการกับการระบาดในสายพันธุ์นั้นๆ แต่สิ่งเหล่านั้นดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ช้ากับสายพันธุ์โคโรนาไวรัส ซึ่งมันกำลังจะเปลี่ยนแปลงเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด โรคไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และมาถึงปัจจุบันมนุษย์ก็ยังคงต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกันกับในอีกหนึ่งร้อยปีในอนาคต มนุษย์ก็ยังคงต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์โคโรนาไวรัสเช่นเดียวกัน

 

 

แหล่งข้อมูล

Experts say Omicron may bring a “level of herd immunity”-but not for long and likely at a terrible cost, Fortune

Could Omicron Hasten the Transition from Pandemic to Endemic, WebMD

Photo: WHO