ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตร่วมมือกองปราบฯ อินฟลูเอนเซอร์ สอดส่องมองหากลุ่มเสี่ยงทำร้ายตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย เจอเมื่อไหร่พร้อมช่วยเหลือทันที ชี้มีลักษณะบ่งชี้แบบไหนถือว่าเสี่ยง!

 

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการดูแลกลุ่มเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด19 ว่า ปกติเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น คนเราไม่ได้ฆ่าตัวตายเยอะๆทันที แต่จะลากยาวไปประมาณ 6 เดือน จนถึง 1ปี ซึ่งการระบาดโควิดที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นยาว สัญญาณจึงเริ่มเห็นว่า น่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น กลุ่มเสี่ยงอายุน้อยลง อย่างวัยรุ่น เยาวชนต้องให้ความสนใจมากขึ้น  อย่างเรื่องโซเชียลมีเดียมีผลอย่างยิ่ง ทั้งในเชิงป้องปราม และผลักไสให้คนมีความเสี่ยง แต่ก็เป็นพื้นที่ที่สามารถไปดัก และค้นหาคนที่มีความเสี่ยงได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

(ข่าวเกี่ยวข้อง: บอร์ดสุขภาพจิตผลักดันกลไกทางการเงินช่วยผู้ป่วยโควิดเสี่ยงจิตเวช)

พญ.อัมพร กล่าวว่า  ดังนั้น  กรมสุขภาพจิตจึงมองหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยส่วนหนึ่งคือ การผลักดันให้เกิดการทำงานในระดับจังหวัด  เพื่อให้มีการแทรกซึมไปในระดับชุมชน อย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)  อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม).  รวมถึงกลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสอดส่องปัญหา ทั้งการวัดใจ ประเมินสุขภาพจิตใจตนเอง รวมถึงคนเจ็บป่วยแล้ว หรือกลุ่มเปราะบาง เพื่อติดตามอาการเป็นพิเศษ

พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า  เร็วๆนี้ จะมีการเปิดเผยการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมสุขภาพจิต  กองปราบฯ  อินฟลูเอนเซอร์ ที่ร่วมกันทำงาน สอดส่องดูแลกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังการทำร้ายตัวเองผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมไปถึงกลุ่มคนรับสายทางโทรศัพท์ โดยเราจะมีกลไกดักจับ ทั้งคำพูด หรือการโพสต์ภาพ แคปชั่นที่เข้าข่ายว่า เสี่ยงอาจทำร้ายตัวเองได้  ซึ่งเมื่อพบก็จะมีการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจไปช่วยเหลือ   โดยมีคำนิยาม หรือลักษณะที่ให้สามารถสังเกตได้ว่า แบบไหนถือว่าเสี่ยงอาจทำร้ายตัวเอง ต้องรีบเข้าช่วยเหลือ 

“ที่ผ่านมาไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล แต่เราสามารถช่วยชีวิตแบบนี้ได้เป็น 100 ราย โดยโครงการนี้ทำมาหลายเดือนแล้ว มีการหารือนอกรอบกัน  เพียงแต่บางเรื่องเราไม่ได้เปิดเผย เพราะอาจมีบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจ และเอาคำ หรือลักษณะที่บอกไว้มาทำเล่น จนปิดบังการช่วยเหลือจริงได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว 


 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org