ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติดึง เลขาฯ สปสช.ร่วมที่ปรึกษา สร้างกลไกร่วมกองทุนของ พม. หาช่องทางเบิกเงินช่วยเรื่องค่าเดินทาง การกินอยู่ของผู้ป่วยโควิดกลุ่มเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต พร้อมเชิญชวนปชช.มองทิศทางข้างหน้าอย่างมีหวัง ช่วยกันจูงมือผ่านวิกฤตร่วมกัน

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2565 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานว่า ประธานการประชุมให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายลงไปในระดับจังหวัด โดยขอให้ผู้ว่าฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ได้บูรณาการงานสุขภาพจิตทั่วไปในการดำเนินงาน และขอให้มีการรายงานผลลัพธ์ต่อการประชุมบอร์ดสุขภาพจิตครั้งต่อไปด้วย อีกทั้ง ยังให้ความเรื่องเศรษฐศาสตร์ โดยได้เชิญเลขาธิการ สปสช.เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เพื่อให้กลไกในการสนับสนุนการเงินการคลังที่เกี่ยวกับผู้ป่วย

“การดูแลโควิด ไม่ใช่แค่การดูแลสุขภาพอยางเดียว แต่ยังมีเรื่องทางสังคมด้วย ทั้งการกินอยู่ การเดินทางไปหาหมอ และด้านอื่นๆ ซึ่งกองทุนสปสช.จ่ายอะไรไม่ได้นอกจากจ่ายค่ายา แต่แค่นี้ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในการใช้งบกองทุนในสังกัด เช่น กองทุนคนพิการ ฯลฯ เข้ามาให้การช่วยเหลือทางด้านสังคมเพิ่มเติม” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า สำหรับการสร้างความเข้าใจประชาชนที่ปฏิเสธการฉีดวัคป้องกันโควิด -19 นั้น จากการสำรวจเมื่อเดือนพ.ย. 2564 จำนวน 604 ราย พบว่าปัจจัยที่ทำให้คนปฏิเสธการฉีดวัคซีนคือความเชื่อมั่นต่อวัคซีน การเข้าถึงสถานที่ฉีด โดยความเชื่อมั่นอยู่ที่ 50 % และจากการสำรวจเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 มากกว่า 3 พันราย พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเป็น 60% อีกทั้งพื้นที่ยังมีการลงพื้นที่ฉีดวัคซีนเชิงรุกประชาชนกลุ่มติดบ้าน ติดเตียงและกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ทำให้มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น

สำหรับกรณีมีการระบาดของเชื้อโอมิครอนหลังปีใหม่นี้พบว่าช่วงแรกประชาชนยังกังวลเพิ่มขึ้น แต่นับว่าเป็นความกังวลที่ดี ในการแสวงหาข้อมูล แนวทางป้องกันตัวเองเพิ่มเติม ดีกว่าการที่พอมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาแล้วประชาชนนิ่งเฉย ส่วนสถานการณ์ความเครียดอยู่ในระดับคงตัว ทั้งนี้ จากการประเมินผลผ่าน www.วัดใจ.com หรือ ระบบ Mental Health Check In เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 2,579,026 ราย พบว่า เครียดสูง 216,098 ราย คิดเป็น 8.38% เสี่ยงซึมเศร้า 254,243 ราย คิดเป็น 9.86 % เสี่ยงฆ่าตัวตาย 140,939 ราย คิดเป็น 5.46% มีภาวะหมดไฟ 25,552 ราย คิดเป็น 4.16%

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด -19 และมาตรการควบคุมโรคที่ปิด-เปิดๆ กระทบกับเรื่องเศรษฐกิจของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบกับสุขภาพจิตประชาชนเช่นกัน เรื่องเศรษฐกิจขณะนี้เราพบว่าประชาชนยังมีพลังในการอึด ฮึด สู้ อยู่ แต่ถ้าพึ่งพาแค่ความอึด ฮึด สู้ โดยที่สถานการณ์เศรษฐกิจไม่คลี่คลายลง ระยะยาวก็อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อจิตใจได้ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจ ก็มีแนวทางในการแก้ปัญหา ฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และหามาตรการเยียวยา

“อยากเชิญชวนประชาชนมองทิศทางข้างหน้าอย่างมีความหวัง หากมองว่าตอนนี้ต้องใช้เงินเยอะแยะ ต้องสร้างหนี้ และไม่มองถึงความหวังหรืออนาคตเลยจะเป็นความเครียดที่ดิ่งลงเรื่อย ๆ แต่หากมองว่าการจะต้องหยิบยืม เป็นส่วนหนึ่งที่ได้เรียนรู้เรื่องการพึ่งพิงซึ่งกันและกัน ส่วนการมองไปข้างหน้า สิ่งที่จะมาช่วยเหลือคือโอกาสที่สังคมยังช่วยเหลืออุ้มชูกันอยู่ หากมองอย่างนี้เราจะจูงมือกันผ่านพ้นวิกฤตไปได้” พญ.อัมพร กล่าว