ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศวส. – สสส. จัดเสวนา “วัยใส ไวเสี่ยง” เผยพฤติกรรมใช้สุรา – ยาสูบ - สารเสพติด พบเด็กและเยาวชน กว่าร้อยละ 50 เคยทดลองดื่มน้ำเมา จิตแพทย์ แนะ ครอบครัวดูแลปกป้องลูกหลาน เลี้ยงลูกเชิงบวก หยุดวงจรอบายมุข ลดสุขภาพจิตเสีย

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา “ส่องพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยในยุคโควิด-19” เผยสถานการณ์พฤติกรรมเด็กและเยาวชน เพิ่มความรู้วิธีดูแลปกป้องเด็กและเยาวชนจากสิ่งอบายมุข

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า ผลสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมการใช้สุรา ยาสูบ สารเสพติด และพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพในนักเรียนมัธยมศึกษาของประเทศไทย ปี 2563 พบว่า นักเรียนชายร้อยละ 25 และนักเรียนหญิงร้อยละ 28 เคยดื่มสุรา โดยแหล่งที่พบการดื่มมากที่สุด ได้แก่ ซื้อดื่มด้วยตัวเอง ดื่มร่วมกับคนที่อายุมากกว่า 20 ปี และการได้มาโดยวิธีอื่น

นอกจากนี้พบว่า นักเรียนชายร้อยละ 50 และนักเรียนหญิงร้อยละ 58 พบเห็นการส่งเสริมการขายสุรา และการโฆษณาสุราในงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เห็นมากที่สุดคือ การจัดแสดงสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋องเบียร์ ขวดเหล้า ส่วนงานหรือกิจกรรมที่เห็นการโฆษณาสุรามากที่สุด ได้แก่ งานสงกรานต์ งานปีใหม่ และงานสังสรรค์ทั่วไป สำหรับพฤติกรรมการสูบบุหรี่พบ นักเรียนชายร้อยละ 6 และนักเรียนหญิงร้อยละ 2 เคยสูบบุหรี่ โดยกลุ่มนี้มีนักเรียนชายร้อยละ 40 และนักเรียนหญิงร้อยละ 34 สูบบุหรี่ในช่วง 30 วันก่อนการสำรวจ ซึ่งอยู่ในสถานะ "นักสูบปัจจุบัน"

ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การดื่มสุรานำไปสู่การติดสารเสพติดอื่นๆ ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีส่วนทำให้เด็กและเยาวชนก้าวสู่การใช้สารเสพติด เล่นพนัน เล่นเกม และเล่นโซเชียลมีเดีย สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มนักเรียนชายใช้สารเสพติดผิดกฎหมายมากที่สุด ได้แก่ กัญชา ใบกระท่อม และน้ำต้มใบกระท่อมผสมสารอื่น

ส่วนการพนันพบ นักเรียนชายร้อยละ 12 และนักเรียนหญิงร้อยละ 9 เคยเล่นพนันเพราะหวังผลประโยชน์เป็นตัวเงิน การพนันที่เล่นบ่อยที่สุด ได้แก่ ไพ่ การพนันออนไลน์ ขณะที่แบบทดสอบการติดเกมสำหรับเด็กและวัยรุ่น (Game Addiction Screening Test – GAST) ปี 2564 พบว่า นักเรียนชายร้อยละ 44 และนักเรียนหญิงร้อยละ 58 เริ่มมีปัญหาติดเกม โดยนักเรียนชายมีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มมีปัญหามากกว่านักเรียนหญิง

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาสายด่วนเลิกเหล้า 1413 และศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การศึกษารูปแบบการใช้และการจัดหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติดของผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาทั่วประเทศระยะยาวตั้งแต่ปี 2561 – 2563 สถานการณ์โดยรวมพบนักเรียนร้อยละ 50 เคยทดลองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

ที่น่าเป็นห่วงคือแก้วแรกของนักเรียนบางคนมาจากคนในครอบครัว เช่น ผู้ปกครอง พ่อแม่ และญาติ จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ป้องกันและให้คำปรึกษา การสร้างภูมิต้านทานที่ดีที่สุดคือเริ่มจากวัยเด็กที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะสามารถทำได้เห็นผลสำเร็จคือการส่งเสริมให้ครอบครัวไม่ยื่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก้วแรกให้เด็ก และให้ความรู้ว่าสิ่งเหล้านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาว

รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ผลกระทบที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่มีราคาความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้คือ การทำลายชีวิตและอนาคตของเยาวชน จากการสำรวจการบริโภคแอลกอฮอล์และสารเสพติดเยาวชนในสถานพินิจ ปี 2564 พบว่า ร้อยละ 82 ของเยาวชน ใช้สารเสพติดอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเหตุหรือปัจจัยร่วมในการกระทำผิด จนทำให้เยาวชนกลับเข้าไปในสถานพินิจซ้ำมากที่สุด

ส่วนสารเสพติด 3 อันดับที่มีส่วนทำให้เกิดการกระทำความผิด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาสูบร้อยละ 74.1 แอมเฟตามีน ร้อยละ 55.6 และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 34.2 โดยพบว่า ร้อยละ 90 ใช้มีการใช้มากกว่า 1 ประเภท ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนใช้สารเสพมาจากการขาดการดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัว และไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา รวมถึงในชุมชนมีการใช้สารเสพติดเป็นวงกว้างจึงมีส่วนทำให้เยาวชนเข้าถึงอบายมุขได้ง่าย

พญ. เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ หมอมินบานเย็น เจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊กเข็นเด็กขึ้นภูเขา กล่าวว่า พบผู้ปกครองพาเด็กและวัยรุ่นเข้ามารับคำปรึกษาส่วนใหญ่มีปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การใช้ยาเสพติด พฤติกรรมทางเพศ ปัญหาจากการใช้งานเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต เช่น การติดเกมและอินเทอร์เน็ต การถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ การพนันออนไลน์ ฯลฯ และหลังโควิด-19 ระบาด พบปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

โดยอาการที่พบคือ ความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า สมาธิสั้น มีปัญหาการเรียน ปัจจัยที่มีส่วนทำให้การรักษาแย่ลงพบว่าครอบครัวเป็นสาเหตุร่วม เช่น การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ตามใจเกินไป ไม่เคยขัดใจจนทำให้เด็กขาดการควบคุมตัวเอง ความสัมพันธ์ครอบครัวที่ไม่ดี การเลี้ยงดูที่ใช้ความรุนแรง ขาดความเอาใจใส่ มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ปัจจัยเหล่านี้มีผลให้เด็กคนมีพฤติกรรมเสี่ยง ส่งผลกระทบทางสุขภาพกายและจิตใจที่มากขึ้น ดังนั้นการจัดการปัญหานอกจากจะแก้ไขที่ตัวเด็กและวัยรุ่น “ครอบครัว” มีส่วนสำคัญในการทำให้ดีขึ้น

“เมื่อครอบครัวมีความตระหนัก เข้าใจสร้างบรรยากาศที่ดีในการอยู่ร่วมกัน มีการสื่อสารเชิงบวก รับฟังกันและกันด้วยความเข้าใจ เด็กและวัยรุ่นรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยเมื่ออยู่ที่บ้านมากขึ้น มีความสัมพันธ์ที่ดี ก็จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันและแก้ไขปัญหาการมีพฤติกรรมเสี่ยงในเด็กและวัยรุ่นได้” พญ. เบญจพร กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org