ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ลงพื้นที่ อบต.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ดูการทำงานกองทุนหลักประกันท้องถิ่น(กปท.)ทำโครงการ “ศูนย์เด็กอ่อนหวาน อนุบาลยิ้มใส” ป้องกันฟันผุได้ผลในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตรวจปีละ 2 ครั้ง ปัจจุบันพบผลการตรวจฟันเด็กในช่วง 3 ปี มีเด็กที่ปราศจากฟันผุเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 พบร้อยละ 51.47 ในปี 2563 พบร้อยละ 71.00 และ ปี 2564 มีเพิ่มขึ้น ร้อยละ72.40 พร้อมตั้งเป้าหมายเด็กเล็กปราศจากฟันผุ 100%

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการและโฆษกสปสช.พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี ลงพื้นที่เยี่ยมชมกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นบุ่งคล้า(กปท.) โดยมีนายนริศ อาจหาญ นายก อบต.บุ่งคล้า  นางนุชวรา  ดอนเกิด  เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญงาน รพ.บุ่งคล้า และนางสาวนัทธมน  ป้องกัน ครูผู้ดูแลเด็ก และนักเรียนในศูนย์ฯ ต้อนรับคณะพร้อมมีการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของกปท.บุ่งคล้า

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กปท. เป็นกลไกที่ สปสช.ให้การสนับสนุน โดยดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามีส่วนร่วมสมทบกองทุน และร่วมดำเนินการดูแลประชาชนในท้องถิ่นให้มีสุขภาพที่ดี ทั้งการสนับสนุนจัดบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ผ่านหน่วยบริการ สถานบริการ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน รวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้เด็กๆ มีสุขภาพที่ดี แข็งแรงและมีพัฒนาการสมวัย รวมถึงสุขภาพฟันที่ดี

ซึ่งการดำเนินการโครงการศูนย์เด็กอ่อนหวาน อนุบาลยิ้มใส ของ อบต.บุ่งคล้า ถือเป็นแบบอย่างโครงการที่ดี เพราะมีการจัดกิจกรรมอย่างครอบคลุมเพื่อลดปัญหาฟันผุให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ รวมถึงแก้ปัญหาเด็กติดหวานที่อาจส่งผลต่อสุขภาพเป็นโรคอ้วนในอนาคต ถือว่าตอบโจทย์การจัดตั้ง กปท.

ด้านนายนริศ อาจหาญ นายก อบต.บุ่งคล้า กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งคล้า ร่วมกับฝ่ายทันตกรรมโรงพยาบาลบุ่งคล้าร่วมกับครูผู้ดูแลเด็ก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  อสม. และผู้สูงอายุ จัดทำโครงการ “ศูนย์เด็กอ่อนหวาน อนุบาลยิ้มใส” ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการ อาทิ รณรงค์ให้มีการแปรงฟันแห้งหลังอาหารกลางวันทุกวันทุกคน โดยฝ่ายทันตสาธารณสุข รพ.บุ่งคล้า สอนแปรงฟัน ตรวจฟันทาฟลูออไรด์วานิชปีละ 2 ครั้ง ผลการตรวจฟันเด็กในช่วง 3 ปี มีเด็กที่ปราศจากฟันผุเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 พบร้อยละ 51.47 ในปี 2563 พบร้อยละ 71.00 และ ปี  2564 มีเพิ่มขึ้น ร้อยละ72.40

ดังนั้น กปท.และรพ.บุ่งคล้า ได้ให้ความรู้กับผู้ปกครอง ครูผู้ดูแลเด็กในการที่จะเป็นศูนย์เด็กอ่อนหวาน ตั้งเป้าหมายเด็กเล็กปราศจากฟันผุ 100% ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปลอดขนมหวาน น้ำอัดลม และขวดนม (ได้รับป้ายปลอดขนมจาก รพ.บุ่งคล้า) อาหารกลางวันอ่อนหวาน มีผลไม้ทุกวัน (ผลไม้ทานก่อนอาหารกลางวัน ½ ชั่วโมง)  และกิจกรรมผู้เฒ่าเล่านิทานและทำของเล่นจากภูมิปัญญาผู้สูงอายุ

นายนริศ อาจหาญ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวนทั้งสิ้น 82 คน โดยในปีงบประมาณ 2565 ทาง อบต.บุ่งคล้า ให้ความสำคัญและจัดทำโครงการศูนย์เด็กอ่อนหวาน อนุบาลยิ้มใสต่อเนื่อง โดยใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือ กปท. เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดหวานทำให้เกิดฟันผุ แล้วเกิดโรคอ้วน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และรุนแรงไปสู่โรคไตวายในที่สุด

ด้านนางนุชวรา  ดอนเกิด  เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญงาน รพ.บุ่งคล้า กล่าวว่า ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งคล้า และครูผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.บุ่งคล้า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  อสม. รวมถึงผู้สูงอายุ เริ่มจัดทำโครงการ “ศูนย์เด็กอ่อนหวาน อนุบาลยิ้มใส” ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบุ่งคล้า มาประมาณ 10 ปี เนื่องจากตนเป็นคนในพื้นที่ ช่วงแรกๆพบว่า เด็กฟันผุมาก เด็กบางคนอายุ 4 ขวบยังติดขวดนม และชอบกินขนมหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ฟันผุ ประกอบกับนายกอบต.ให้การสนับสนุนอย่างดีทำให้เด็กเล็กปัจจุบันมีสุขภาพในช่องปากดีขึ้น ฟันผุน้อยลง ช่วงแรกพบว่ามีฟันผุถึง 80% ปัจจุบันเด็กฟันผุลดลงเหลือมีฟันผุ ประมาณ 60% โดยศูนย์ฯแห่งนี้ได้งบสนับสนุนปีที่ผ่านมา 10,000 บาท  ซึ่งในปี 2565 นายกอบต.เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 บาท ในการทำเรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก โรคอ้วน รวมทั้งสายตาของเด็ก

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org