ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เผยคำแนะนำฉีดวัคซีนในเด็ก จากข้อมูลทั่วโลกพบชนิด mRNA หรือ ไฟเซอร์ ส่วนชนิดเชื้อตาย “ซิโนแวค” ยังไม่มีข้อมูล ทั้งการฉีดไขว้ หรือฉีดกระตุ้น ที่มีเพียงการฉีดในผู้ใหญ่ แต่เด็กยังไม่มี พร้อมย้ำความปลอดภัยวัคซีน mRNA

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2565 ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่หเลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เตรียมพิจารณาขยายทะเบียนวัคซีนโควิด “ซิโนแวค” ในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปในวันที่ 4 ก.พ. หลังจากอนุมัติไฟเซอร์ฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี ว่า ปัจจุบันวัคซีนที่ต่างประเทศมีการรับรองให้ฉีดในเด็ก คือ ไฟเซอร์ เนื่องจากภูมิคุ้มกันขึ้นสูง ซึ่งในส่วนของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยนั้น ยังไม่ได้ออกคำแนะนำการใช้วัคซีนเชื้อตายในเด็ก  เนื่องจากข้อมูลทั่วโลก ผลการศึกษาในเด็กทั้งเรื่องภูมิฯจะสูงมากน้อยแค่ไหน หรือฉีดไขว้ หรือบูสเตอร์ได้หรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้กับกรณีวัคซีนเชื้อตาย  

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณี อย.จะพิจารณาซิโนแวคในเด็ก 3 ขวบขึ้นไป หากผ่านจะสามารถฉีดได้ ราชวิทยาลัยฯจะแนะนำอย่างไร ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมีข้อมูลเฉพาะวัคซีนชนิด mRNA หรือไฟเซอร์ แม้แต่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในเด็กก็ยังไม่มีเช่นกัน

เมื่อถามว่าหากมีการอนุมัติซิโนแวคในเด็กแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะฉีดแบบไขว้ในเด็ก คือ เข็มแรกซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นไฟเซอร์ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการฉีดวัคซีนไขว้มีเพียงผู้ใหญ่ การจะนำมาฉีดในเด็กยังไม่มีข้อมูล แม้ต่างประเทศก็ยังไม่มีผลการศึกษาในเด็ก

“ดังนั้น หากแนะนำก็ยังไม่มีการฉีดไขว้ในเด็ก แม้แต่บูสเตอร์โดสก็ไม่มีการศึกษาในต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยมีการติดตามการฉีดวัคซีนในเด็ก แต่เป็นไฟเซอร์ ซึ่งจำนวนยังต้องมีการติดตาม และติดตามเป็นระยะเวลาหนึ่งเช่นกันว่า ภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นจะยาวนานแค่ไหน หรือต้องบูสเตอร์อย่างไร อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนซิโนแวคในเด็ก หากอนุมัติให้มีการใช้นั้น เห็นว่านโยบายเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองตัดสินใจ” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีผู้ปกครองบางส่วนกังวลวัคซีน mRNA ทำให้ต้องการทางเลือกวัคซีนเชื้อตาย ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆวัคซีนชนิด mRNA ถือว่าปลอดภัย เพราะข้อมูลจากการฉีดในเด็กของทั่วโลกก็ออกมาชัดเจน อย่างในอเมริกาฉีดเด็กไปเกือบ 9 ล้านคนแล้วไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องหัวใจที่สหรัฐ ฉีดไป 8-9 ล้านคน พบ 11 คนแต่ไม่รุนแรงและหายได้เอง

“แม้เด็กที่ป่าวยจะอาการไม่มาก หรือแทบไม่มีอาการถึง 98% แต่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด เนื่องจากอาจมีปัญหาแทรกซ้อน เวลาเป็นโควิดไม่มีอาการแล้ว ประมาณ 1 เดือนให้หลังอาจมีอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ที่เรียกว่า มิสซี (MIS-C) ดังนั้น ควรฉีดวัคซีนป้องกันดีที่สุด” ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ กล่าว

ไฟเซอร์เด็กฝาสีส้ม(แฟ้มภาพ) 

ซิโนแวค(แฟ้มภาพ)