ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แนะนำฉีดสูตรไขว้ "ซิโนแวค+ไฟเซอร์"  สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี เหตุมีผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันภายหลังฉีดเข็มสองขึ้นเทียบเคียงไฟเซอร์ 2 เข็ม  ชี้เป็นทางเลือกได้  ส่วนตัวเลขล่าสุดฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปีจำนวน 66,165 คน จากทั้งหมด 5.1 ล้านคน ยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์

เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2565  นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการระบาดระลอกนี้เริ่มพบในเด็กมากขึ้น ว่า ช่วงนี้เด็กติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลวันที่ 30 มค.-5 ก.พ. พบปัจจัยเสี่ยงกลุ่มเด็กเล็ก 0-4 ปี และ 5-9 ปี ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากผู้สัมผัสร่วมบ้าน เด็กประถมปลาย-ม.ต้น 10-14ปีมาจากการติดเชื้อจากโรงเรียน ขณะที่วัยรุ่นเป็นการสัมผัสจากพื้นที่เสี่ยงชุมชนนอกบ้านเป็นหลัก 

"โดยรวมการติดเชื้อที่บ้านและครอบครัวจะเป็นประเด็นสำคัญ แม้เด็กติดเชื้อได้ไม่มีอาการหนักแต่ต้องระวังเพราะสามารถนำไปติดคนสูงวัยในครอบครัว เนื่องจากกลุ่ม 60-70 ปีเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่ติดเชื้อเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่ม 70 ปีขึ้นไปที่พบมากว่าเด็กเล็กถึง 200 เท่า ดังนั้น ขอให้มีการเว้นระยะห่างในครอบครัว คนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนก็ขอให้ไปรับการฉีดเพื่อลดความเสี่ยง" นพ.จักรรัฐ กล่าว  

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ปรับการรายงานผู้ป่วยโควิด เน้นป่วยหนักเสียชีวิต หวังสร้างความเข้าใจมากขึ้น)

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป  กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การติดเชื้อในเด็กระลอกหลังๆ ที่มีสายพันธุ์เดลตา โอมิครอน พบมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงอายุ 5-11 ปี แต่อาการค่อนข้างน้อย ที่กังวลเด็กบางคนที่ติดเชื้อสามารถพบการเกิดภาวะ MIS-C เป็นการอักเสบของอวัยวะหลายระบบที่เกิดหลังติดเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก จึงมีเป้าหมายเร่งให้เด็กได้ฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และรองรับการเปิดโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย 

"โดยตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2565 ฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี ไปแล้ว 66,165 คน จากทั้งหมด 5.1 ล้านคน ยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีน" นพ.วิชาญ กล่าว

นพ.วิชาญ กล่าวด้วยว่า  คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีคำแนะนำการฉีดสูตรไขว้ "ซิโนแวค+ไฟเซอร์" สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี เพื่อเป็นทางเลือกได้ ทั้งนี้ มีการพิจารณาถึงข้อมูลการศึกษา โดยคณะแพทยศาสตร์  จุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการศึกษาการระดับภูมิคุ้มกันของเด็กวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี ที่ฉีดสูตรไขว้ พบภูมิคุ้มกันภายหลังฉีดเข็มสองขึ้นเทียบเคียงกับการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะอนุกรรมการฯ ตัดสินใจแนะนำการฉีดสูตรไขว์ในเด็ก 12-17 ปี แต่เด็กเล็ก 6-11 ปี ยังต้องรอนำข้อมูลเข้าพิจารณาอีกครั้ง 

กรณีผู้ปกครองยังลังเลให้บุตรหลานฉีดหรือไม่ฉีดนั้น จากข้อมูลพบอัตราป่วยตายจากโควิดในกลุ่มเด็กอยู่ที่สัดส่วน 2 ในหมื่น แต่ถ้าฉีดวัคซีนอัตราตายลดลงอย่างมากเป็นพันเท่าตัว ดังนั้นการฉีดวัคซีนมีประโยชน์ป้องกันการป่วยตายในเด็กได้ดี

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประสิทธิผลด้านการป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนที่ผ่านการพิจารณาให้ฉีดในกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้แก่ ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) สำหรับอายุ 5-11 ปี, ไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง) สำหรับอายุ 12-17 ปี และ ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม สำหรับอายุ 6-17 ปีขึ้นไป และสูตรไขว้ ซิโนแวคและไฟเซอร์ สำหรับอายุ 12-17 ปี ทั้งนี้ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ข้อมูลล่าสุดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว 117,094,785 โดส พบอาการไม่พึงประสงค์ คือการแพ้ชนิดรุนแรงในซิโนแวคมากกว่าชนิดอื่น ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พบในไฟเซอร์มากกว่าชนิดอื่น และภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ พบในแอสตร้าเซนเนก้ามากกว่าชนิดอื่น  

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เตรียมพิจารณาทางเลือกวัคซีนกลุ่มเด็กอายุ 6-11 ปี  ใช้สูตรไขว้ "ซิโนแวค+ไฟเซอร์" )

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org