ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์จุฬาเผยวัคซีนไฟเซอร์เด็ก 5-11 ปีทั่วโลก พบปลอดภัยสูง อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดเกิดน้อยกว่าผู้ใหญ่ 2-3 เท่า อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิด 4 คนในล้านการฉีด แต่ป้องกันป่วยหนักและอาการมิสซีในเด็กถึง 90% ขณะที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิฯ อยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูลฉีดวัคซีนไขว้  "ซิโนแวค+ไฟเซอร์" กลุ่ม 6-11 ปี

เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2565 ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดเสวนาเรื่องวัคซีน mRNA ฉีดในเด็ก 5-11 ปีเรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้ โดย ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า  ไทยให้วัคซีน mRNA ในเด็ก 5-11 ปีเป็นหลัก โดยวัคซีน mRNA มีการฉีดเด็กไปแล้วทั่วโลก พบว่ามีความปลอดภัยสูง  โดยในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์ที่ฉีดในเด็ก 5-11 ปีนั้น ฉีดในปริมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ โอกาสเกิดผลข้างเคียงก็จะลดน้อยลง โดยอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีด ได้แก่ ไข้ ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย ซึ่งเกิดน้อยกว่าผู้ใหญ่ 2-3 เท่า 

ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าผู้ใหญ่ 10 เท่า หรือ โอกาสเกิด 4 คนใน 1 ล้านการฉีด  และป้องกันการป่วยหนัก และอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ จากการติดเชื้อโควิด-19 ของเด็ก หรือ มิสซี ได้ถึงร้อยละ 90 ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเป็นทางเลือก  ไม่ได้เป็นการบังคับ และควรฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนการฉีดเข้าชั้นผิวหนังนั้น ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ จึงยังไม่แนะนำ รวมทั้งการฉีดชั้นผิวหนัง ทำให้ปวดบวม 3-4 วัน พ่อแม่จะดูแลเด็กได้ยากขึ้น และส่วนใหญ่การฉีดชั้นผิวหนังก็เป็นฉีดเข็มกระตุ้น 

พญ.ธันยวีร์ กล่าวต่อว่า ภายหลังการฉีดวัคซีนแล้ว พ่อแม่ควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด โดย 3 วันแรก ควรถามบ่อยๆ ว่าลูกสบายตัวหรือไม่ หากเป็นไข้ อ่อนเพลีย  สามารถดูแลที่บ้าน โดยให้ยาลดไข้ สำหรับอาการที่ควรพบแพทย์คือ เด็กทำกิจกรรมแล้วรู้สึกเหนื่อย หรือ สังเกตว่าเด็กดูหงอย ซึม ไม่ทำกิจกรรมเหมือนปกติ และกิจกรรมปกติที่ควรงดคือ การขี่จักรยานไปโรงเรียน หรือ ว่ายน้ำ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่เคยป่วยโควิด-19 แล้ว  จากการวิจัยพบว่า ภูมิคุ้มกันจากธรรมชาติขึ้นไม่สูง เพราะเด็กส่วนใหญ่มีอาการน้อย ดังนั้นจึงแนะนำให้ไปฉีดวัคซีนหลังจากหายป่วยแล้ว 1 เดือน โดยฉีดวัคซีนชนิด mRNA เพราะภูมิจะขึ้นสูงและป้องกันโรคได้ยาวนานกว่า สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ขณะนี้ข้อมูลวัคซีนยังไม่เพียงพอ ดังนั้นวิธีการปกป้องเด็กเล็ก คือ ผู้ใหญ่ จะต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ จะได้ไม่นำเชื้อมาที่เด็ก

 
"เด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เว้นระยะห่างกับวัคซีนเด็กชนิดอื่นๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส โดยมีระยะห่าง 1 สัปดาห์" พญ.ธันยวีร์ กล่าว
  

 

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนของไทย อยู่ในช่วงขาขึ้น พบเด็กติดเชื้อมากขึ้น   โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 8 ก.พ.65 มีเด็กอายุ 5-11 ปี ติดเชื้อแล้ว 19,765 คน คิดเป็น ร้อยละ 7.1  ซึ่งช่วงจากนี้จะเป็นการระบาดที่มีความจำเพาะสำหรับเด็ก ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เด็ก 5-11 ปีให้มากที่สุด ซึ่งเป็นเด็กวัยเรียน จะได้กลับมาเรียนตามปกติได้เร็วที่สุด  และยังช่วยปกป้องน้องเล็กๆ อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่บ้านไม่ให้ติดโควิดได้อีกทางหนึ่ง  

สำหรับตัวเลขเด็ก 5-11 ปี ที่รับวัคซีนไฟเซอร์แล้ว ข้อมูลถึงวันที่ 10 ก.พ.ฉีดแล้ว 80,000 คน สำหรับวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค+ไฟเซอร์ ในกลุ่มอายุ 6-11 ปี นั้น ล่าสุดที่ประชุมอีโอซี ของกระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาวัคซีนสูตรไขว้ เพื่อเป็นทางเลือก เบื้องต้นให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ต้องรอผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันวัคซีนพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน 

สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนนั้น ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.65 จะเป็นช่วงการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับเด็กประถมอายุ 5-11 ปี ส่วนเดือน เม.ย. จะเป็นช่วงการให้เข็มกระตุ้นสำหรับเด็กมัธยม 12-17 ปี ซึ่งฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเป็นเวลา 6 เดือน ก็คาดว่า เราจะสามารถเปิดภาคเรียน เด็กๆ กลับไปเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ

(ข่าวเกี่ยวข้อง : วัคซีนสูตรไขว้ "ซิโนแวค+ไฟเซอร์" อีกคำแนะนำทางเลือกเด็กอายุ 12-17 ปี )

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org