ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากคำกล่าวที่ว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่มวนลงได้นั้น อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงอีกต่อไป เพราะจากการศึกษาและวิจัยล่าสุดในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วยหตุผลที่จะเลิกการสูบบุหรี่นั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวังเอาไว้ เนื่องจากตัวบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีประสิทธิภาพน้อยกว่าตัวช่วยอื่น ๆ เช่น หมากฝรั่ง ในการช่วยให้เลิกการสูบบุหรี่ได้สำเร็จ

งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร บีเอ็มเจ ได้เปิดเผยข้อมูลชิ้นนี้ โดยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงระหว่างปี พ.ศ 2560-2562 จากฐานข้อมูลของ การประเมินสุขภาพประชากรและยาสูบ ซึ่งได้ติดตามข้อมูลของผู้สูบบุหรี่ชาวอเมริกาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งนายจอร์น เพียซ ผู้อำนวยการด้านวิทยศาสตร์ประชากร ของสถาบันมะเร็งมอเรส มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย รัฐแซนดิเอโก กล่าวว่า เป็นการพบข้อมูลครั้งแรกที่มีการยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพน้อยกว่าตัวช่วยชนิดอื่นๆที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อใช้ในการเลิกบุหรี่ เช่น แผ่นแปะ หมากฝรั่ง หรือยาอม เป็นต้น

บุหรี่ไฟฟ้านั้นยังทำให้ระยะเวลาที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จยาวนานออกไปเกินกว่าระยะเวลาที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังพบว่า 60% ของจำนวนคนที่เคยสูบบุหรี่แต่ยังคงสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ จะกลับมาสูบบุหรี่มวนอีกครั้งในช่วง พ.ศ 2562 โดยเขากล่าวสรุปว่า ไม่มีหลักฐานใดมาชี้ชัดว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถจะช่วยลดการสูบบุหรี่มวนได้

แต่การศึกษาแบบสุ่มที่จัดทำขึ้นในช่วงระยะเวลาสามเดือน กับประชากรในประเทศอังกฤษ พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับการวางแผนการแทรกแซงทางพฤติกรรมของนักสูบ สามารถช่วยในการเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ และเมื่อปีที่ผ่านมา สถาบันความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการดูแลของสหราชอาณาจักร ได้ออกคำแนะนำนักสูบว่า สามารถใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเลิกบุหรี่ได้

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาแบบสังเกตุในสหรัฐอเมริกา ที่ทำการศึกษาคนสูบบุหรี่ในโลกแห่งความเป็นจริงพบว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพียซ กล่าวว่า การศึกษาของปีที่แล้วโดยทีมนักวิจัยของเขา พบว่า 8.5%ของคนที่ต้องการเลิกบุหรี่ในช่วงปีพ.ศ 2556-2559 โดยการใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดอื่นๆ กลับมาสูบบุหรี่เหมือนเดิม เมื่อเทียบกับคนที่เลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท

นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่ามีข้อมูลจากคนที่สนับสนุนให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่นั้น จะต้องมีปริมาณนิโคตินที่เข้มข้นเพื่อที่จะช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้ เนื่องจากจะใช้จำนวนการสูบที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่แบบทั้งมวน

“ในช่วงปีพ.ศ 2560 ยอดขายของบุหรี่เพิ่มขึ้น 40% โดยส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่มาจากผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใหม่ๆซึ่งมีปริมาณนิโคตินที่สูงมาก และเรากำลังดูข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะสามารถให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้ นอกจากนี้มีคนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่ลดลง 25% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา”

จากข้อมูลของคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่วัยรุ่น ซึ่งนายสก๊อต ก๊อตลิป คณะกรรมาธิการอาหารและยาในขณะนั้น ได้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “โรคระบาด” งานศึกษาก่อนหน้านี้ของนายเพียซและทีมงานพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้กลุ่มวัยรุ่นเข้าถึงยาเสพย์ติดได้ง่ายขึ้น เด็กอายุ 12-24 ปีที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีโอกาสเป็นผู้ที่ต้องสูบบุหรี่เป็นประจำทุกวันมากกว่ากลุ่มอื่นถึงสามเท่า

นอกจากนี้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น มีผลต่อด้านจิตใจ ปวดหัว ปวดท้อง และนำไปสู่การเสพย์ติดนิโคติน และยังพบว่าในพ.ศ 2562 เด็กวัยรุ่นเสียชีวิตจากอาการปอดอักเสบ ที่เชื่อมโยงกับสารเคมีที่ใช้ในของเหลวที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะวิตะมินอีเสถียร จากรายงานของสมาคมปอดของสหรัฐอเมริกา

ในขณะที่คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ว่า กำลังทบทวนรายงานชิ้นดังกล่าวอยู่ แต่อย่างไรก็ตามรายงานดังกล่าวไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรแต่อย่างใด แต่จะใช้รายงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูล และหลักฐานทางด้านงานวิจัยเพื่อเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น และสนับสนุนการทำงานขององค์กรในด้านการปกป้องสุขภาพของสาธารณชน

การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกการสูบบุหรี่กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศอังกฤษหลังจากมีงานวิจัยออกมาสนับสนุนว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่า 50,000-70,000 คน แต่สำหรับในสหรัฐอเมริกาเองกำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน โดยเฉพาะข้อกังวลในด้านสุขภาพระยะยาว โดยเฉพาะส่วนประกอบของสารเคมีชนิดอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากสารนิโคติน โดยเฉพาะอานุภาคของสารที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้มีการสูดดมเข้าไปในขั้วปอดในระดับที่ลึกมาก ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ และยังรวมถึงสารโลหะหนักต่างๆ เช่น นิเกิ้ล และตะกั่วเป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น

 

Source: CNN. E-Cigarettes were less effective than gum and other nicotine replacement aids, study says

Photo:https://www.reuters.com

.

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org