ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค.เห็นชอบตั้งแต่ 1 มี.ค.ลดค่าตรวจ ATK  สปสช.จ่ายให้หน่วยบริการจาก 300 บาท เหลือ 250 บาท RT-PCR เหลือ 900 บาท   พร้อมสนับสนุนชุดตรวจ ATK คนไทยทำ ขณะเดียวกันยังย้ำ!  10 จังหวัดพบเด็กวัยรุ่นติดโควิดสูง

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า  มีการพิจารณาเรื่องการตรวจ ATK ที่ให้ประชาชนเข้าถึงสะดวกและค่าบริการที่เหมาะสม ซึ่งทางเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอว่า  ขณะนี้มีการใช้ ATK พอสมควร ส่วนใหญ่ประชาชนจะซื้อเองในการนำมาตรวจ มีราคาแตกต่างกันไป ขณะเดียวกัน ATK ที่ใช้ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่ง สปสช. ซื้อให้และนำให้กลุ่มเสี่ยงไปตรวจผ่านร้านขายยา และโรงพยาบาล ขณะที่กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อในพื้นที่ และโรงพยาบาลชุมชน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต้องไปสอบสวนโรค ทางสปสช.ก็จะจ่ายค่าตรวจให้ ทั้งหมดเป็นหลักการที่มีอยู่

"โดยที่ประชุมรับทราบจากเลขาฯ สปสช.ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป มีการประมาณการว่าจะมีการใช้จ่าย ATK และราคาต่อหน่วยควรเป็นเท่าไร  ซึ่งคาดการณ์ว่า ชุด ATK  โดยประชาชนมาตรวจเองมีประมาณ 5.6 หมื่นชิ้นต่อวัน ราคาน่าจะปรับเปลี่ยน จาก 80 บาท เป็น 55 บาทได้ ส่วน ATK โดยหน่วยบริการที่ต้องออกพื้นที่ประมาณ 5 หมื่นรายต่อวัน สปสช.จะจ่ายให้จาก 300 บาทเป็นไม่เกิน 250 บาท และค่าตรวจ RT-PCR จาก 1,200 บาท เหลือไม่เกิน 900 บาท นี่คือสิ่งที่จะพยายามลดค่าใช้จ่าย ซึ่งผอ.ศบค. บอกว่าตอนนี้ต้องดูเงินในกระเป๋า เงินของประเทศใช้ไปมากในเรื่องการดูแลรักษา ซึ่งบางประเทศเรื่องค่าตรวจไม่จ่ายแล้ว แต่เรายังจ่าย เพียงขอปรับราคาลงมา" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า  ขณะนี้ทราบว่ามีสินค้านวัตกรรม ATK ที่มหาวิทยาลัยบางแห่งจับมือเอกชนทำสำเร็จแล้ว ซึ่งต้องการความมั่นใจว่าสินค้าจะได้รับการซื้อและไปใช้อย่างถูกต้อง ผอ.ศบค.ยืนยันว่า ถ้าเป็นฝีมือของคนไทย มีความแม่นยำ ใช้ได้ในเชิงตรวจจริงก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ ก็ผ่านทาง สปสช.ให้ไปเห็นชอบและนำไปสู่การสนับสุนนสินค้าคนไทย 

โฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังพิจารณาการเปิดการเรียนการสอน ภายใต้สถานการณ์โควิด ซึ่งต้องการให้เรียนภายใต้ออนไซต์มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา 35,554 โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอน มีการจัดการเรียนออนไซต์ประมาณ 52.26% หรือ 18,582 โรง ซึ่งเป็นเรื่องที่พึงประสงค์ แต่ยังมีออนแฮนด์ ออนดีมานด์ ออนไลน์ ออนแอร์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นประเด็นที่จะต้องพยายามสนับสนุน ทั้งนี้ ให้เน้นเรื่องวัคซีน ซึ่งบุคลากรทางการศึกษาฉีดเข็ม 1 แล้ว 99.99% หรือ 1,027,266 ราย แต่เข็ม 2 ฉีดจำนวน  79.45%  แต่เข็มที่ 1 และ 2 ยังไม่พอ จำเป็นต้องกระตุ้นเข็ม 3  ที่ประชุมรับทราบว่าต้องสนับสนุนให้มีการฉีดถึง 2 เข็ม และ 3 เข็มให้ได้ ส่วนนักเรียน 95.11% ฉีดเข็มแรก ส่วนเข็ม2 ฉีด 71.41%  

"สำหรับการติดเชื้อโควิดในเด็ก พบว่ามี  10 จังหวัดพบการติดเชื้อของเด็กอายุ 0-19 ปีสูง คือ กทม. สมุทรปราการ ภูเก็ต นนทบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และสุพรรณบุรี  ขอให้รายจังหวัดไปดำเนินการด้วย" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org