ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข มอบโล่รางวัล “ผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” ประจำปี 2564 ซึ่งที่ผ่านมาช่วยเด็กจากการจมน้ำเสียชีวิตได้ถึง ร้อยละ 56 พร้อมตั้งเป้าลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เหลือ 2.5 คนต่อประชากรเด็กแสนคนภายในปี 2570 โดยเน้น 3 เรื่อง คือ “พื้นที่เล่น ลอยเป็น ช่วยเหลือได้” เพื่อสร้างทักษะจำเป็นและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น

วันนี้ 3 มีนาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบรางวัลการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำภายใต้ยุทธศาสตร์ผู้ก่อการดี ประจำปี 2564 ประกอบด้วย โล่รางวัลนายกรัฐมนตรี ทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) ป้องกันการจมน้ำ ประเภทรางวัลชนะเลิศระดับทอง (ดีเด่น) และระดับทอง (ดี) ระดับประเทศ จำนวน 7 รางวัล และโล่รางวัลหนึ่งทศวรรษของการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ (A Decade of Action for Drowning Prevention Award: DADPA) สำหรับบุคลากรที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวน 4 รางวัล

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ความสำคัญกับเด็กโดยเฉพาะ 3 เรื่องหลัก คือ เด็กไทยต้องว่ายน้ำเป็น สามารถลอยตัวในน้ำหรือรอให้คนมาช่วยได้, การออกกำลังกาย และการเรียนสองภาษา โดยเรื่องการป้องกันการจมน้ำ กระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานตามมติสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ ดำเนินงานการป้องกันการจมน้ำ และสร้างทีม “ผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” (MERIT MAKER) ขึ้น ซึ่งที่ผ่านสามารถลดการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กได้ถึง ร้อยละ 56 จากเดิมมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตปีละ 1,500 คน ในปี 2564 พบเพียง 658 คน

อย่างไรก็ตาม การทำให้จำนวนเด็กจมน้ำเสียชีวิตลดลงหรือไม่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะช่วยกันสร้างเกราะป้องกัน สร้างทักษะให้สามารถเอาตัวรอดได้ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งขับเคลื่อน 3 ประเด็นสำคัญ คือ “พื้นที่เล่น ลอยเป็น ช่วยเหลือได้” โดยเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จัดให้มีพื้นที่เล่นปลอดภัย 1 คน ต่อ 1 คอกกั้นเด็ก

เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากสาเหตุต่างๆ เช่น การจมน้ำ รถทับ น้ำร้อนลวก เป็นต้น, เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป สอนให้มีทักษะว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด โดยทีมเครือข่ายผู้ก่อการดีในพื้นที่ และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป สอนให้สามารถทำ CPR ได้ เป็นทักษะจำเป็นที่นอกจากจะช่วยคนที่จมน้ำแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของคนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ด้วย

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 737 คน หรือวันละเกือบ 2 คน จึงตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้เหลือ 2.5 คนต่อประชากรเด็กแสนคนภายในปี 2570 ซึ่งปี 2564 มีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำ 6.0 คนต่อประชากรเด็กแสนคน หรือ 658 ราย ทั้งนี้ 6 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 - 2564) เกิดทีมผู้ก่อการดี 4,931 ทีม ครอบคลุม 746 อำเภอใน 76 จังหวัด

ส่งผลให้แหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน 25,885 แห่ง ได้รับการจัดการให้เกิดความปลอดภัย เกิดแหล่งเรียนรู้การเรียนการสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 746 อำเภอ และเกิดครูสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 38,816 คน นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์โดยตรง ได้แก่ เด็ก 998,587 คน ได้เรียนว่ายน้ำซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการเอาชีวิตรอด เมื่อตกลงไปในน้ำ ประชาชนและเด็ก 74,886 คน ได้รับการฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการช่วยคนที่หัวใจหยุดเต้นทั้งจากการจมน้ำและจากสาเหตุอื่นๆ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org