ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นไปตามที่การคาดการณ์กันเอาไว้ว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจะก่อให้เกิดอาการความรุนแรงของโรคน้อยลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆที่ผ่านมา ผลการศึกษาล่าสุดของอังกฤษได้ออกมาชี้ชัดในแนวทางเดียวกันว่า สายพันธุ์โอไมครอนทำให้อัตราการเสียชีวิตในอังกฤษน้อยกว่าไข้หวัดตามฤดูกาล
 
ข้อมูลจากรัฐบาลอังกฤษ แสดงให้เห็นว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ที่ 0.2% ก่อนการระบาดอย่างหนักจากสายพันธุ์โอไมครอน และลดลงถึง 7 เท่า ทำให้อัตราการตายเหลืออยู่ที่ 0.03% หรือ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1:3,300 คน ในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่จะอยู่ที่ 0.01-0.05% เท่านั้น ดังนั้นความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน

แต่อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก ยังคงมีความกังวลถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เนื่องจากหลายประเทศเริ่มที่จะลดจำนวนการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือนให้ทุกประเทศทั่วโลกยังคงเฝ้าระวังและติดตามโรคระบาดอย่างใกล้ชิด

โดยกล่าวว่า หลังจากที่การระบาดทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงในช่วงหนึ่งเดือนก่อน จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มพุ่งขึ้นสูงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนเฉพาะในประเทศจีนที่ประกาศล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่เพื่อที่จะควบคุมการระบาดของโรค ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดหนัก คือการแพร่กระจายโรคที่รวดเร็วขึ้นจากสายพันธุ์โอไมครอน และสายพันธุ์ย่อยของ BA.2 และรวมถึงมาตราการผ่อนคลายต่างๆที่ประกาศโดยรัฐบาลในหลายๆประเทศ

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก นายเทดรอส แอดฮานัม กีเบรเยซุส กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การตรวจหาเชื้อลดลงในหลายประเทศทั้งๆที่กำลังอยู่ในช่วงการระบาดอย่างหนัก ซึ่งนั่นหมายความว่าตัวเลขที่รายงานการติดเชื้อนั้น เป็นเพียงยอดของภูเขานำ้แข็งเท่านั้น

นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำในหลายประเทศ ทำให้เกิดปัญหาข้อมูลที่ผิดพลาดซึ่งนำไปสู่การระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 8% ทั่วโลกเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา หรือ 11 ล้านคนที่ติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิตมีเพียง  43,000  รายในระหว่างวันที่ 7-13 มีนาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการระบาดตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุดจะอยู่ในแถบแปซิฟิกตะวันตก เช่น จีนและเกาหลีใต้ ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น 25% และอัตราการตายอยู่ที่ 27% 

ในส่วนของแอฟริกานั้น การระบาดมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น 12% และอัตราการตายอยู่ที่ 14% ส่วนในยุโรปอัตราการแพร่ระบาดอยู่ที่ 2% แต่ไม่มีอัตราการตายที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในภูมิภาคอื่นๆ พบการลดลงของการแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงประเทศแถบเมดิเตอเรเนียนตะวันออก ถึงแม้ว่าอัตราการตายจะสูงมากถึง 38% ในช่วงการระบาดที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากยังคงมีความกังวลว่า ยุโรปอาจจะเจอการระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีกครั้ง จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เช่น ออสเตรีย เยอรมันนี สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอแลนด์ และสหราชอาณาจักร เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก มาเรีย แนว เคิร์กฮอฟ กล่าวว่า BA.2 ดูเหมือนว่าจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามยังไม่มีสัญญาณใดบ่งชี้ว่าจะทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น และยังไม่มีข้อมูลว่า สายพันธุ์ใหม่ๆจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดหนักในปัจจุบัน ส่วนในยุโรปนั้นภาพการระบาดมีลักษณะเฉพาะตัว เช่นที่เดนมาร์ก จะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากสายพันธุ์ BA.2 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์  และจำนวนการติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว

ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนอีกว่า อาจจะเห็นระลอกการระบาดใหม่ในอเมริกา  เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในยุโรป ซึ่งเกิดจากการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโรค และการระบาดของสายพันธุ์ BA.2 ที่สามารถหลบหลีกภุมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดี และนอกจากนี้พลเมืองส่วนใหญ่ในอเมริกาได้รับวัคซีนมานานแล้ว

แอนโตเนลลา ไวโอลา อาจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ของมหาวิทยาลัยปาดัว ในอิตาลี กล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพราะโรคโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินแล้วเพราะมีการระบาดมามากกว่า 2 ปี เราควรเลิกคิดว่าจะไม่มีโรคนี้อีกต่อไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคงมาตรการที่จำเป็น ในการเฝ้าระวัง และสอบสวนโรค รวมถึงข้อบังคับในการสวมหน้ากากในสถานที่ปิด หรือในที่แออัด และมีคนอยู่เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ออกมายืนยันสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์โอไมครอน กับสายพันธุ์เดลต้า โดยใช้ชื่อว่า สายพันธุ์เดลตาครอน ซึ่งพบการแพร่กระจายของสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างช้าๆใน ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และเนเธอแลนด์ และจากการแชร์ข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์โควิดทั่วโลกของ GISAID  พบว่ามีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า มีการรวมตัวกันของสายพันธุ์เดลต้า และโอไมครอน ซึ่งมีการพบตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

องค์การอนามัยโรคยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับสายพันธุ์ลูกผสมดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์เพราะทั้งสองสายพันธุ์มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่าสายพันธุ์ลูกผสมดังกล่าว จะแพร่กระจายได้รวดเร็ว และก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคมากกว่าสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ ข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า ยังไม่เห็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่จะทำให้ความรุนแรงแรงของโรคมีมากขึ้น จึงต้องมีการศึกษาต่อไป

 

Source: Deltacron COVID Variant Confirmed by WHO: Here’s what we know, www.nbcboston.com

 COVID may be less deadly than influenza: annual vaccine is key to keep serverity at nay, say expert, www.news9live.com
           
 WHO says global rise in COVID cases is “tip of the iceberg”, Reuters

Photo:  AP

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org