ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อเร็วๆนี้ เลขาธิการแพทยสภา ได้วิเคราะห์ถึงภาระงานหรือหน้าที่งานต่างๆ รวมถึงการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของคนไทย... โดยกล่าวข้างต้นว่า "ถึงเวลาต้องช่วยหมอ ให้ทำงานอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ของความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่จะทำงานได้แบบมีประสิทธิภาพหรือยัง?"

เรื่องนี้ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสเฟซบุ๊กโดยระบุว่า หลายปีมานี้ รัฐบาลเพิ่มสิทธิ ให้กับผู้ป่วย ให้เข้าถึงการบริการ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้คนไทย ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ไม่ล้มละลายเพราะการรักษา เข้าถึงบริการได้มากขึ้น มาโดยตลอด และเพิ่ม สิทธิขึ้นทุกปี ทั้งสิทธิผู้ป่วยและสิทธิการรักษา ทำให้ประชาชน เข้าโรงพยาบาลพบหมอและพยาบาล เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากปีละ 180 ล้าน opd เพิ่มขึ้นแตะ 300 ล้านครั้ง ต่อปี ในทุกสถานพยาบาลรวมกัน .

ชีวิตคนไทยด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพดีขึ้นชัดเจน แม้ยามฉุกเฉิน ยังมีโครงการ ฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าฟรีได้ทุกโรงพยาบาล แม้จะมีปัญหาว่า ระดับไหนวิกฤต ในกลุ่มประชาชน แต่คนไข้วิกฤตจริง ได้รับการช่วยเหลือ 100% ปัญหาเกิดกับคนที่ไม่วิกฤต เท่านั้น ซึ่งต้องแก้ด้วยการสร้างความเข้าใจครับ .

ภาระงานที่ก้าวกระโดด สวนกับทิศทางของการบรรจุข้าราชการ ที่ชะลอการบรรจุ และเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ตามงบประมาณ ทั้ง แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ ที่ต้องไปรับภาระงานที่ นโยบายรัฐบาลเพิ่มให้ โดยเฉพาะด่านหน้า และ การรักษาและเข้าถึงของคนจำนวนมาก เป็นการเติบโตที่ค่าใช้จ่าย สูงกว่า งบประมาณของภาครัฐ ในระบบ ทำให้โรงพยาบาลจำนวนมาก ต้องขอการสนับสนุนจาก ประชาชนและบุคคลภายนอก ในการบริจาค ซึ่งคนไทยมีน้ำใจ ทำให้ระบบยังคงเติบโตได้ ทางกายภาพ ทั้งอาคารสถานที่และเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์การแพทย์ ยังมีเพียงพอตลอด .

มุมเล็กๆมุมหนึ่ง ที่เป็นเรื่องน่าห่วง ของวงการแพทย์ไทย คือการเพิ่มภาระงานให้กับแพทย์ มากขึ้นและมากขึ้น เรื่อยๆ . การตรวจที่ไม่มีการจำกัด เพื่อดูแลประชาชน ให้สอดคล้อง ตามนโยบายของรัฐบาล ที่เพิ่มสิทธิต่างๆ เกิดขึ้นใน หลายภาคส่วน หลายหน่วยงาน แต่ที่สำคัญแม้ นัดหมายทำงานจน เต็มที่แล้ว ก็ยังพบว่า ยังมีคิวที่รอคอย ทั้งการรักษา และเตียงคนไข้ อีกจำนวนมาก จนประชาชนต้องไป พึ่งพาการรักษาในภาคเอกชน โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง เพื่อตอบโจทย์ของครอบครัว และด้วยความกลัวโรคลุกลาม เกินกว่าจะรักษาทัน จน รพ.เอกชนต้องขยายตัว เพื่อช่วยดูแลคนไข้กลุ่มนี้ .

จะเห็นได้ว่า ในช่วง 5 ปีมานี้มีการขยายโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างตึกใหม่อาคารใหม่ แต่ปัญหา ปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งซึ่งมองข้ามกันเสมอคือ . "บุคลากร" . แพทยสภามีส่วนช่วยขับเคลื่อน ในการ สนับสนุนการผลิตแพทย์ ในประเทศและ แพทย์ที่จบจากต่างประเทศเข้ามาสอบ มาตรฐานเป็นแพทย์ไทย จากปีละ 2,000 คนขึ้นเป็น กว่า 3,000คน เพื่อเตรียมสนับสนุนภาครัฐ แต่พบว่าข้อจำกัดคือ ภาครัฐต้องมีตำแหน่งรองรับ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขแต่ละปี จะได้รับจัดสรรจาก กพ. และหมุนเวียนตำแหน่งได้เพียง 1800 ถึง 2,000 คน ในการกระจายคุณหมอ ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ 900 โรงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลัก ในการดูแลผู้ป่วยภาครัฐ

ซึ่งยังไม่เพียงพอ ท่ามกลาง แพทย์จบใหม่ จำนวนหนึ่งต้องบรรจุ นอกสังกัด และบางส่วน โดยเฉพาะที่จบจากเอกชน ไม่สามารถบรรจุได้เลย การบรรจุใหม่เป็นไป ตามนโยบายของ กพ. แต่ก็ยังโชคดีที่ มีโครงการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีเป็นช่วงช่วง ให้มีการบรรจุได้ ตามมติครม.มิฉะนั้นอาจจะไม่มีตำแหน่งเลยด้วยซ้ำ ซึ่งแม้อนุมัติแล้วก็ยังได้เท่านั้น ไม่เพียงพออยู่ดี .

ภาพประกอบ : สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน

ปัญหานี้กระทบไปถึงการทำงานในระดับล่าง ด่านหน้าของแพทย์ พยาบาลทุกคน กลายเป็นว่าต้อง ทำงาน หนักเกินเวลา ในหลายพื้นที่ ดูผู้ป่วยจำนวนมาก เพราะเวลาจำกัด จึงต้องใช้เวลาต่อคนรวดเร็ว เสี่ยงต่อความผิดพลาด และการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน นำไปสู่การฟ้องร้องร้องเรียน เนื่องจากไม่มีการจำกัดผู้ป่วยเหมือนในต่างประเทศ หลักการคือแพทย์จะต้อง ดูแลพี่ป้าน้าอาทุกคน ที่ป่วยและมาถึงโรงพยาบาล จนครบถ้วน ต้องเกลี่ยเวลากันไป ทำให้ การให้การบริการสุขภาพ ในหลายที่เกิดปัญหา ตามมาด้วยการอยู่เวร ในที่ที่มีหมอน้อย ในแผนกที่ ขาดแคลน หมอสองคนอาจจะต้องสลับกันอยู่ 30 วันต่อเดือน โดยอยู่เวรวันเว้นวัน และกลางวันต้องขึ้นทำงานทั้งคู่ จึงจะรับมือผู้ป่วยได้ แต่คุณภาพชีวิตไม่ได้ .

ในหลายที่การอยู่เวร ช่วงกลางคืน แล้วเช้าต้องทำงานต่อเป็นเรื่องปกติ ที่ไม่ปกติ ซึ่งหากคืนนั้น โรงพยาบาลนั้นผู้ป่วยไม่มาก แพทย์ก็ขึ้นทำงานไหว แต่ถ้าห้องฉุกเฉินงานหนัก แทบไม่ได้นอน เช้าย่อมทำงานไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลกับคุณภาพการดูแลคนไข้ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลไม่เหมือนกัน และเวรกลางคืนเช่นกัน แต่คนละแผนก ก็หนักไม่เท่ากัน ซึ่งจะมีปัญหาในภาครัฐ เป็นหลัก เพราะถูกบังคับให้ทำงานตามระเบียบราชการ ส่วนภาคเอกชนนั้น หากทำงานไม่ไหว แพทย์ย่อมขอแลกหรือเลื่อนเวรได้โดยง่าย .

หลายเหตุผลที่ทำให้หมอใหม่ ที่ผ่านแพทยสภา ไปบรรจุในหน่วยราชการต่างๆ ต้องลาออก ที่สำคัญคือภาระงานที่หนัก เกินกำลัง การอยู่ เวรที่ยาวนาน ต่อเนื่องบางครั้ง 2-3 วัน การทำงานทั้งคืนแล้วเช้าต้องขึ้นตรวจคนไข้ ซึ่งผมก็โดนมาก่อน เข้าใจดี เพราะไม่มีคนมากพอ ในอดีตอาจจะทำได้ เพราะการเข้าถึงของคนไข้ยังน้อย ปัจจุบันเป็นไปได้ยาก เพราะทุกสิทธิ เดินเข้าหาสถานพยาบาล ตามโปรแกรมที่ระบบสุขภาพของชาติ แคมเปญตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ดีของประชาชน แต่หมอพยาบาลเท่าเดิม จำนวนเท่าเดิม เงินเดือนค่าเวรเท่าเดิม ตามเรทราชการ เพิ่มเติมแต่ภาระงาน ซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกถามว่า "ไหวไหม" .

วันนี้การที่น้องออกมาเรียกร้อง เรื่องเวลาการทำงานนั้น ว่าหมอขอไม่อยู่ ทำงานยาวเกินไป 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คือ 2 เท่าของมนุษย์ปกติ ทำงานทั้งคืนไม่ควรต่อเช้า เหมือนคนขับรถทัวร์มาทั้งคืน ขับเช้าต่อย่อมไม่ปลอดภัย ภาพเหล่านี้สะท้อนถึง ความห่วงใยของแพทย์ ต่อคุณภาพการดูแลชีวิตประชาชน ว่าขอทำงานให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เอาแต่ปริมาณ ไม่ต้องการเอาเปรียบใคร เป็นข้อเสนอเพื่อ ผู้ป่วย รัฐควรต้องรีบ ให้ความสำคัญ พิจารณา .

ภายใต้ข้อเสนอนี้ กลับต้องย้อนไปดูว่า ฝ่ายบริหารของภาครัฐ จะแก้ที่ต้นทางได้อย่างไร มากกว่า การออกกฎเกณฑ์ ยับยั้งไม่ให้ทำงานหนักเกินไป ตามที่เสนอ แต่ต้องไปดูว่าทำไมถึงต้องทำงานหนัก และรีบแก้ไข ต้นเหตุโดยด่วน ว่าขณะนี้ระบบของเรา ที่เพิ่มภาระงานมาโดยตลอด ใกล้ถึงจุดวิกฤติ ที่คนทำงานเริ่มรับไม่ได้ .

เปรียบเสมือนแรงงาน ถูกใช้งานแบบทารุณ เกินกำลัง กำลังเรียกร้องความยุติธรรม . การสำรวจควรเร่งมี ในพื้นที่ ซึ่งมีปัญหา ควรรีบแก้ไข หาสมดุลของงาน และบุคคล ให้เพียงพอโดยมีคุณภาพการทำงาน ที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิต ของบุคลากร ซึ่งในที่นี้ ผมคิดว่า ต้องไปทั้งแพทย์ พยาบาล และ บุคลากรทุกระดับ ที่เคียงบ่าเคียงไหล่กันดูแลผู้ป่วย .

แพทยสภาตั้งอนุกรรมการขึ้นมาติดตามเรื่องนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูล นำเสนอ ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยกันหาแนวทาง แก้ไขปัญหา ช่วยแพทย์ที่ทำงาน เสียสละมาโดยตลอด ให้ทำงานต่อได้ แบบมีคุณภาพชีวิต และเป็นการช่วยให้ประชาชน ผู้ป่วย ได้รับคุณภาพที่ดี ต่อเนื่อง ก่อนที่ แพทย์ในภาครัฐ จะถอดใจ ลาออกจากราชการไปกันหมด .

ยิ่งในวิกฤตการณ์ covid-19 ครั้งนี้ จะเห็นว่า คนที่ออกมาทำงานหนัก เพื่อช่วยชีวิตคนตลอดเวลา คือบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งที่งานในหน้าที่ก็หนักอยู่แล้ว ความเสี่ยงดูแลคนไข้ก็มาก ติดเชื้อไปตามๆกัน ทุกคนก็ยังสู้ พอพลังไม่เพียงพอ แพทย์ภาคเอกชน แพทย์เกษียณ ก็อาสาระดมมาช่วย จนผ่านวิกฤตได้ทุกครั้ง แสดงถึงพลังน้ำใจวงการแพทย์ยัง เสียสละ เปี่ยมล้นเสมอ .

ครั้งนี้อยากให้ ภาครัฐ กลับมามองปัญหานี้แบบจริงจัง เติมอัตรา แพทย์และพยาบาลให้เพียงพอ กับความเป็นจริง ในการทำงาน ที่เห็นพวกเราเป็นมนุษย์ มีชีวิต การทำงาน ชีวิตครอบครัว และต้องการคุณภาพชีวิตเช่นเดียวกับทุกอาชีพ ที่ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 5 วัน รวม 40 ชั่วโมง ไม่ควรทำงานเกิน 2 เท่า ของชาวบ้าน แบบโดนบังคับ และควรจะเลือกเวลาทำงานนอกเวลาเองได้ ไม่ใช่ถูกบังคับเพราะความขาดแคลนเช่นในปัจจุบัน ควรจะหมดไป เมื่อบรรจุคนให้เพียงพอ .

การออกมาขอครั้งนี้ เป็นการสะท้อนปัญหา ของคนไม่มีทางออก ที่ต้องทำงานหนักเพราะเป็นห่วงผู้ป่วย และประชาชน ที่มารับบริการ . "ใครไม่ไหว ถอดใจ ก็ลาออกไป" เป็นเช่นนี้มายาวนาน ทั้งหมอและ พยาบาล..ขอให้รัฐกลับมาดูแล แก้ไขปัญหาให้ พวกเขา อย่าให้ต้องมีใครลาออกอีกเลย ขอบคุณครับ . หมออิทธพร กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org