ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตสุขภาพที่ 5 สานต่อใช้โปรแกรม “ฮุกกะ” ทั้งเขต 5 เพื่อระบบส่งต่อ ตอบโจทย์ทั้งลดคิวยาว-แออัด ปฐมภูมิหรือโรงพยาบาลในเขต ไปไหนก็ได้ทุกที่ โดยเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก และต่อยอดการให้บริการทางสุขภาพ 

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร สปสช. นำโดย นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผอ.สปสช.เขต 5 จ.ราชบุรี ลงเยี่ยมชมโปรแกรม ”ฮุกกะ”แพลทฟอร์มที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้และเจ้าหน้าที่สำหรับโรงพยาบาลรัฐ โดยเปิดให้โรงพยาบาลต่างๆนำระบบดังกล่าวไปใช้งานได้ฟรีโดยมี พญ.รุจิรา เข็มเพชร ประธาน CITO เขตสุขภาพที่ 5 ,นพ.ณรงค์ เห็นประเสริฐแท้  รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี พร้อมผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับและรับลฟังสรุปภาพรวม

นพ.พีระมน กล่าวว่า โปรแกรม “ฮุกกะ”ได้ทำการบูรณาการการเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับ สปสช. ผ่านระบบ API เพื่อแสดงผลข้อมูลสิทธิการรักษาที่เป็นปัจจุบัน และระบบการยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ ทำให้คนไข้ และเจ้าหน้าที่ได้รับความสะดวกมากขึ้น  นอกจากนั้นทาง ฮุกกะ ยังได้เดินหน้าพัฒนาระบบแลกเปลี่ยน ข้อมูลสุขภาพเพื่อสนับสนุนระบบส่งต่อ และปฐมภูมิไปได้ทุกที่ ตามที่ สปสช. ได้เริ่มดำเนินการแล้วอีกด้วย

“ เขตสุขภาพที่ 5 นับว่าเป็นต้นแบบของการนำ เทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก และต่อยอดการให้บริการทางสุขภาพได้ดี โดยใช้งานง่ายๆ แค่เพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียว มายืนยันพิสูจน์ตัวตนเพื่อการเข้ารับบริการ (Authen Code) ประชาชนทำด้วยตัวเองได้จริง ป้องกันการสวมสิทธิ เบิกจ่ายให้โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการได้รวดเร็ว ลดภาระการตรวจสอบหลังการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ เพราะเมื่อยืนยันผ่านการเสียบบัตรประชาชนด้วยตนเองที่คอมพิวเตอร์ที่ตั้งไว้ ณ.จุดที่โรงพยาบาลให้บริการ ข้อมูลจะถูกส่งต่อเข้ามาในฐานข้อมูลของ สปสช.

ทำให้สามารถเข้าสู่ระบบการจ่ายเงิน ลดภาระการตรวจสอบก่อนหรือหลังการจ่ายได้ถูกต้อง “ นพ.พีระมนกล่าวว่าและว่า ทั้งนี้ ที่สปสช.ต้องจัดระบบยืนยันตัวตน ก็เพื่อป้องกันการสวมสิทธิเอาชื่อคนอื่นมารับบริการแทนท่าน ปกป้องสิทธิของตัวเอง ไม่ให้ผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ แล้วพอถึงเวลาที่ต้องใช้สิทธิเข้ารับบริการจริง อาจจะไม่ได้รับบริการ อีกทั้งผู้ป่วยได้ทำหน้าที่ ช่วยให้รพ.เองทำงานได้รวดเร็วขึ้น ช่วยคุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในการทำงาน และสะดวกง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องยืนรอหน้าห้องบัตรนาน หรือหากยังไม่ถึงคิว อาจไปหาที่นั่งพักในจุดอื่นได้

ด้านนพ.ณรงค์ เห็นประเสริฐแท้  รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี มีผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 3,000 – 5,000 รายต่อวัน เริ่มต้นทีม IT ได้พัฒนาระบบที่ชื่อว่า ฮุกกะ โดยจุดเริ่มต้นคือการหาวิธีที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของระบบการให้บริการ โรงพยาบาลรัฐ เช่น ระบบบริหารจัดการคิว เพื่อลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย , ระบบแสดงข้อมูลการรักษาพยาบาล

ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น Mobile Application และมีจำนวนผู้ใช้งาน และ Download มากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นทางท่านผู้ตรวจราชการเขต 5 มองเห็นถึงศักยภาพของทีมและความสำคัญของการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 5 ว่าเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนระบบสุขภาพในระดับเครือข่าย เพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดีมากขึ้น จึงได้ร่วมพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ

ขณะที่ พญ.รุจิรา เข็มเพชร ประธาน CITO เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า ระบบโปรแกรมฮุกกะ“Hygge Medical Service” หรือฮุกกะ แอปพลิเคชั่น ปัจจุบันเป็นแพลทฟอร์มกลางของเขตสุขภาพ 5 ฮุกกะ ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นเวชระเบียนให้กับผู้ป่วยพกติดตัวไปได้ทุกที่ (Personal Health Record) และยังเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) ในเขตสุขภาพที่ 5 ข้อมูลที่สำคัญ เช่น การใช้ยา ข้อมูลการแพ้ยา  ข้อมูลนัด ผลทางห้องปฏิบัติการ และผลอ่านทางรังสีวิทยา ผู้ป่วย ผลการวินิจฉัย และเจ้าหน้าที่ที่ทำการรักษาสามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบดังกล่าวได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

ในส่วนของการสนับสนุนดำเนินการ Refer OP ส่งต่อผู้ป่วยตามนโยบายปฐมภูมิ ไปได้ทุกที่ หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ได้ทั้งในเขตสุขภาพที่ 5 ช่วยส่งต่อข้อมูลการรับ การจ่ายชดเชยกันได้ ขณะนี้ระบบรองรับการข้อมูลการรักษาพยาบาลได้แล้ว ตัวอย่างเช่น หากผู้รับบริการที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชบุรี และถูกส่งตัว หรือมีเหตุจำเป็นต้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลโพธาราม ผู้รับบริการสามารถแสดงข้อมูลการรักษาพยาบาลผ่านฮุกกะ แอปพลิเคชั่น หรือทางทีม แพทย์ พยาบาล สามารถเข้าถึงข้อมูลการรักษาพยาบาลผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลเขตสุขภาพที่ 5 ได้เลย ปัจจุบันในเขตสุขภาพที่ 5 มีการเชื่อมระบบเครือข่ายสุขภาพได้ถึง 68 สถานพยาบาลและกำลังขยายให้ครอบคลุมทุกหน่วยบริการ ภายในปีนี้

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org