ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กมธ.สธ. แถลงข่าวที่รัฐสภาฯ ขอ “ นายกรัฐมนตรี ” แสดงจุดยืนและความจริงใจต่อนโยบายถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. หลังจากมี มติครม.ปรับลดงบประมาณ ไม่เป็นไปตามประกาศ ก.ก.ถ.

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ปชป. เลขานุการคณะกรรมาธิการด้านการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวที่รัฐสภาฯ เพื่อสื่อสารถึงนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ให้ออกมาแสดงความชัดเจนในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข
ถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. และทบทวนกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 สนับสนุน รพ.สต. ถ่ายโอนจำนวน 3384 แห่ง ให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ตามที่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564

นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ปชป. เลขานุการคณะกรรมาธิการด้านการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 3,384 แห่งทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่จำนวน 21,899 คน สมัครใจถ่ายโอนไป อบจ. จำนวน 49 จังหวัด โดยตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด  ซึ่งประกาศวันที่ 19 ตุลาคม 2564

ปรากฏว่า มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณปี 2566 ไม่เป็นไปตามประกาศของ ก.ก.ถ. ซึ่งเดิมกำหนดให้ รพ.สต. ขนาด เล็ก/กลาง/ใหญ่  วงเงิน 1 ล้าน/ 1.5 ล้าน/ 2 ล้าน ตามขนาด จากนั้นมีการปรับลดลงเหลือ 4 แสนบาท สำหรับขนาดเล็ก 5 แสนบาท สำหรับขนาดกลาง และ 1 ล้านบาท สำหรับขนาดใหญ่ ซึ่งเงินจำนวนนี้ควรเป็นเงินสนับสนุนให้ อบจ. ซึ่งถือว่าสำนักงบประมาณได้ดำเนินการผิดเงื่อนไข  ตามที่คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้ประกาศหลักเกณฑ์ในการถ่ายโอนรพ.สต. ไป สู่ อบจ.

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การถ่ายโอนที่ผิดแปลกไปจากประกาศของคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ โดยกำหนดว่า รพ.สต. ขนาดเล็กต้องมีข้าราชการอย่างน้อย 3 คน ขนาดกลางต้องมีข้าราชการอย่างน้อย 6 คน และขนาดใหญ่ต้องมีข้าราชการอย่างน้อย 9 คน จึงจะถ่ายโอนได้ ซึ่งในเงื่อนไขที่เป็นขั้นตอนการถ่ายโอนนั้น จากที่เจ้าหน้าที่ได้ยึดถือและสมัครใจในการถ่ายโอนไม่ได้มีเงื่อนไขในเรื่องของขนาดหรือจำนวนข้าราชการ จึงทำให้สร้างความผิดหวังให้แก่เจ้าหน้าที่รพ.สต. เป็นอย่างยิ่ง

และได้มีการนัดแต่งชุดดำไปประท้วงในจังหวัดต่าง ๆ ตามภาพข่าวที่ปรากฏเห็นโดยทั่วไป ซึ่งกระทบต่อขวัญและกำลังใจรวมถึงการรับบริการของพี่น้องประชาชน เป็นอย่างยิ่ง

" ผมในนามตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องสื่อสารไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อท่านนายกรัฐมนตรีจะได้ออกมาแสดงจุดยืน แสดงความจริงใจต่อนโยบายกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีการถ่ายโอนภารกิจรพ.สต. ไปสู่ อบจ.  โปรดสั่งการให้สำนักงบประมาณและกระทรวงสาธารณะสุขได้ยึดถือตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการถ่ายโอนภารกิจที่มีการประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย "

นพ.บัญญัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องข้อจำกัดงบประมาณและข้อจำกัดเรื่องของจำนวนข้าราชการที่จะถ่ายโอน แต่มีข้อเดียวคือ ถ่ายโอนไปแล้วทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขได้ราบรื่นหรือไม่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น รับปากว่าสามารถดำเนินการถ่ายโอนภารกิจ ทั้งเจ้าหน้าที่ การบริการ ทั้งเรื่องการควบคุมโรค ให้เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย

" สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้ออกมาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนก 2 หมื่นกว่าคน ให้มีขวัญกำลังใจและได้ถ่ายโอนภารกิจไปตามที่มุ่งหวังและตั้งใจด้วย"  นพ.บัญญัติ กล่าว