ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 26 เม.ย. มีมติยกเลิกมาตรการตรวจคัดกรองโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 เป็นต้นไปผู้เดินทางเข้าสู่จังหวัดภูเก็ตทางบก ทางน้ำ ทางอากาศสามารถเดินทางเข้าโดยไม่ต้องแสดงหลักฐานใดๆ จากเดิมที่ต้องแสดงผลการฉีดวัคซีนครบโดสหรือผลตรวจ ATK  อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น เป็นการกระตุ้น การท่องเที่ยว ฟื้นฟูการ เศรษฐกิจ ของจังหวัดภูเก็ตได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้เดินทางเข้าจากต่างประเทศยังคงต้องมีเอกสารการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ หรือผลตรวจ RT-PCR เป็นลบไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางถึงไทยและขั้นตอนอื่นๆ ตามที่ศบค.กำหนด

ทั้งนี้ภูเก็ตมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อยืนยันลดลง โดยในช่วง 7 วันที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 162 ราย โดยร้อยละ 87.7 เป็นผู้ติดเชื้อในพื้นที่ มีอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ร้อยละ 24.51ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด - 19 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี (ร้อยละ 79.28 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด) และร้อยละ 94 ของผู้สูงอายุที่เสียชีวิต ยังไม่ได้รับวัคซีน ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์หรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น มีปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ คนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน การมีกิจกรรมร่วมกัน และการฉีดวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์

ขณะที่การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เตรียมเข้าสู่ระยะ Post-pandemic Covid-19 (Endemic approach) ระดับจังหวัดจัดระบบบริการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) สำหรับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อย (มาตรการ เจอ-แจก-จบ) ทั้งในสถานพยาบาลและร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ จัดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน รพ.สต.เร่งรัดมาตรการ SAVE 608 by Booster Dose และการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นแก่กลุ่มเป้าหมายเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กนักเรียนก่อนเปิดภาคเรียน

นอกจากนี้ยังเน้นการสื่อสารมาตรการการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กนักเรียนก่อนเปิดภาคเรียน 2 U : Universal Prevention และ Universat Vaccination 3  พ คือ 1. เตียง "พอ" มีเตียงรอรับผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยวิกฤติ เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพ และได้มาตรฐาน 2. เวชภัณฑ์ และวัคซีน "พอ" มียา เวชภัณฑ์ และวัคชื่นโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานการรักษา และป้องกันโรคเพียงพอ และ 3. หมอ "พอ" มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทุกระดับ เพียงพอต่อการดูแลระบบการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ